The Last of Us: “เชื้อราซอมบี้” มีจริงไหม และจะเปลี่ยนมนุษย์เป็นผีดิบได้หรือไม่

เดอะลาสต์ออฟอัส (The Last of Us) ซีรีส์จากค่าย HBO ที่สร้างจากวิดีโอเกมส์ชื่อดังกำลังเขย่าขวัญผู้ชมด้วยเรื่องราวสุดสยองของเชื้อราที่เปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นซอมบี้

ตามเนื้อเรื่องระบุว่า เมื่อมนุษย์ได้รับสปอร์เชื้อราชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย เห็ดราก็จะเติบโตขึ้นแล้วเข้าควบคุมความคิดจิตใจ จนเจ้าของร่างสูญเสียการควบคุมตัว และถูกสั่งการให้ปีนป่ายขึ้นสู่ที่สูง

เชื้อราปรสิตจะกัดกินเหยื่อจากข้างใน เพื่อสกัดสารอาหารทั้งหมดจากร่างเหยื่อสำหรับเตรียมนำไปสู่ขั้นสุดท้าย

เจมส์ กาลาเฮอร์ ผู้ดำเนินรายการอินไซด์เฮลธ์ (Inside Health) ทางสถานีวิทยุบีบีซีเรดิโอโฟว์บรรยายว่า ฉากหนึ่งในเรื่องที่น่าหวาดกลัวยิ่งกว่าหนังสยองขวัญทั้งปวงก็คือ ภาพของกิ่งก้านแห่งความตายที่งอกออกจากศีรษะเหยื่อผู้ถูกเชื้อราซอมบี้เข้าครอบงำ ซึ่งในเวลาต่อมา ร่างเหยื่อเหล่านี้จะแพร่สปอร์เชื้อรามรณะออกไปรอบตัว เพื่อให้มนุษย์คนอื่นติดเชื้อแล้วกลายสภาพเป็นซอมบี้เหมือนกัน

กาลาเฮอร์บอกว่าแม้เนื้อเรื่องนี้จะเป็นเพียงนิยายสยองขวัญ แต่ก็มีเค้าโครงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ

เชื้อราปรสิตที่ชื่อ คอร์ดิเซปส์ (Cordyceps) และโอฟิโอคอร์ดิเซปส์ (Ophiocordyceps) ได้รับฉายาว่า “เชื้อราซอมบี้” เนื่องจากสามารถควบคุมร่างกายของแมลงให้มีพฤติกรรมไม่ต่างจากซอมบี้ได้ และเซอร์ เดวิด แอตเทนบะระ นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษก็เคยนำเสนอเรื่องราวนี้ไว้ในสารคดีชุดแพลนเน็ตเอิร์ธ (Planet Earth) ของบีบีซีที่แสดงให้เห็นเชื้อราชนิดนี้เข้าบงการและกัดกินมดตัวหนึ่ง

https://www.youtube.com/watch?v=XuKjBIBBAL8&t=5s

ภาพน่าตกตะลึงของ “มดซอมบี้” ในสารคดีชุดนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างวิดีโอเกมยอดฮิต The Last of Us และซีรีส์ที่มีเค้าโครงเรื่องเดียวกัน

ทั้งในเกมและซีรีส์บอกเล่าเรื่องราวของเชื้อราคอร์ดิเซปส์ที่ข้ามขั้นจากการหาเหยื่อที่เป็นแมลงมาเป็นการเข้าครอบครองร่างของมนุษย์ จนนำไปสู่การระบาดใหญ่ที่ทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์

แต่ในโลกของความเป็นจริงมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของเชื้อคอร์ดิเซปส์ หรือเชื้อเห็ดราชนิดอื่น ๆ

ดร.นีล สโตน ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อราจากโรงพยาบาลโรคเขตร้อนในกรุงลอนดอนให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า “ผมคิดว่าพวกเราประเมินความเสี่ยงจากการติดเชื้อราต่ำเกินไป”

“พวกเรามีความคิดเช่นนี้มายาวนาน และไม่มีการเตรียมรับมือกับการระบาดใหญ่ของเชื้อราอย่างสิ้นเชิง” เขากล่าว

ช่วงปลายเดือน ต.ค. 2022 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ออกรายชื่อเชื้อราที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

บัญชีดังกล่าวประกอบไปด้วยเชื้อราร้ายแรงหลายชนิด แต่ไม่มีชื่อของเชื้อราคอร์ดิเซปส์ปรากฏอยู่ด้วย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

Caterpillar consumed by a parasitic fungus

Getty Images
ตัวบุ้งที่ติดเชื้อราปรสิต และมีกิ่งปล่อยสปอร์งอกออกจากตัว

ดร.ชาริสซา เดอ เบกเกอร์ นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยอูเทรคต์ ในเนเธอร์แลนด์ซึ่งศึกษาเรื่องที่เชื้อราคอร์ดิเซปส์เปลี่ยนมดให้มีพฤติกรรมเหมือนซอมบี้ บอกว่าเธอไม่เห็นว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้

เธออธิบายว่า “อุณหภูมิร่างกายของเราสูงเกินกว่าที่เชื้อราส่วนใหญ่จะสามารถเข้ามาอาศัยและเจริญเติบโตได้ ซึ่งนี่ก็เป็นกรณีเดียวกันสำหรับเชื้อราคอร์ดิเซปส์”

“ระบบประสาทของพวกมันไม่ซับซ้อนเท่าของคนเรา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะเข้าควบคุมสมองของแมลงเมื่อเทียบกับของมนุษย์ นอกจากนี้ระบบภูมิคุ้มกันของมันยังแตกต่างจากของพวกเรามาก” ดร. เดอ เบกเกอร์ กล่าว

นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยอูเทรคต์ระบุว่า เชื้อราคอร์ดิเซปส์ส่วนใหญ่มีวิวัฒนาการในช่วงหลายล้านปีที่ผ่านมาให้แพร่เชื้อสู่แมลงได้อย่างเฉพาะเจาะจงเพียงชนิดพันธุ์เดียว เชื้อส่วนใหญ่จะไม่กระโดดข้ามจากแมลงชนิดหนึ่งไปสู่ชนิดอื่น

ดังนั้น ดร. เดอ เบกเกอร์ ชี้ว่า “การที่เชื้อราชนิดนี้จะแพร่จากแมลงชนิดหนึ่งมาทำให้มนุษย์ติดเชื้อได้นั้นจะเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่มาก”

ภัยจากเชื้อราที่อันตรายกว่าคอร์ดิเซปส์

ดร.สโตน ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อราจากโรงพยาบาลโรคเขตร้อนในกรุงลอนดอนเตือนว่า ภัยคุกคามจากเชื้อราเป็นสิ่งที่ผู้คนเพิกเฉยมาเป็นเวลานาน

แม้ในบรรดาเชื้อราที่พบบนโลกหลายล้านชนิดพันธุ์ จะมีเพียงไม่กี่ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคร้ายได้ แต่เชื้อรากลุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้ก็อาจเป็นภัยคุกคามชีวิตผู้คน มีข้อมูลว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อราก่อโรคราว 1.7 ล้านคน หรือประมาณ 3 เท่าของผู้เสียชีวิตจากเชื้อมาลาเรีย

การติดเชื้อแคนดิดา ออริส ทั่วโลก

BBC

เชื้อราที่ WHO จัดให้เป็นเชื้อที่น่ากังวลอย่างยิ่งมีอยู่ด้วยกัน 19 ชนิด ซึ่งรวมถึงเชื้อราดื้อยา “แคนดิดา ออริส” (Candida auris) ที่เพิ่งอุบัติขึ้นเมื่อไม่นานมานี้และมีอันตรายถึงชีวิต รวมทั้งเชื้อราดำมรณะ “มิวคอร์ไมโคซิส” (mucormycosis) ที่กัดกินเนื้อเยื้อของเหยื่ออย่างรวดเร็วจนสร้างความเสียหายบนใบหน้า

ดร.สโตน ระบุว่า เชื้อแคนดิดา ออริส เป็นชนิดที่ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่ง เพราะหากเราได้รับเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด ระบบประสาท และอวัยวะภายใน

WHO ประเมินว่า ราวครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อแคนดิดา ออริสจะได้รับอันตรายรุนแรงจนเสียชีวิต

“มันเหมือนอสุรกายที่อุบัติขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน แต่ปัจจุบันพบได้ทั่วโลก” ดร.สโตนกล่าว

Neil Stone

James Gallagher
ดร.นีล สโตน ชี้ว่า เชื้อราดื้อยา “แคนดิดา ออริส” เป็นภัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่ง

มีรายงานการตรวจพบเชื้อแคนดิดา ออริสครั้งแรกในหูของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุมหานครโตเกียวในปี 2009

แคนดิดา ออริส สามารถทนทานต่อยาต้านเชื้อรา และบางชนิดพันธุ์ยังทนทานต่อยาทุกชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน นี่จึงทำให้มันถูกจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อดื้อยา

การติดเชื้อแคนดิดา ออริสมักเกิดขึ้นผ่านพื้นผิวในโรงพยาบาลที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ เชื้อสามารถเกาะติดที่สายสวนหลอดเลือดดำ และปลอกแขนวัดความดันโลหิต ซึ่งการกำจัดเชื้อทำได้ยากมาก หลายครั้งโรงพยาบาลมักต้องปิดหอผู้ป่วยทั้งแผนก

เชื้อราอันตรายอีกชนิดคือ คริปโตค็อกคัส นิโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus neoformans) ซึ่งสามารถเข้าสู่ระบบประสาทของมนุษย์และทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

เอลลีรู้ซึ้งถึงอันตรายของเชื้อราชนิดนี้เป็นอย่างดีในตอนที่เธอกับ ซิด สามีไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่คอสตาริกา แล้วเอลลีก็ล้มป่วยจากการติดเชื้อคริปโตค็อกคัส

ในตอนนั้นเอลลีเริ่มจากมีอาการปวดหัวและคลื่นไส้ จากนั้นก็เริ่มชักอย่างรุนแรงจนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

ผลการสแกนพบว่าเอลลีมีอาการสมองบวม และผลการตรวจยืนยันว่าเธอติดเชื้อคริปโตค็อกคัส แต่เคราะห์ดีที่เอลลีตอบสนองการรักษาได้เป็นอย่างดี

“ฉันจำได้ว่าตัวเองกรีดร้อง” เอลลีเล่าถึงตอนที่ตัวเองเกิดอาการประสาทหลอน ปัจจุบันเธอหายป่วยแล้ว แต่ยอมรับว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าเชื้อราจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงเพียงนี้

ส่วนเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส ซึ่งได้รับฉายาว่า “เชื้อราดำมรณะ” ถือเป็นเชื้อฉวยโอกาสที่จะเข้าโจมตีผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ

Lid lifter fungus

James Gallagher
“เชื้อราดำ” สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ดร.รีเบกกา กอร์ตัน จาก Health Services Laboratory หน่วยบริการด้านพยาธิวิทยาและการวินิจฉัยโรคในกรุงลอนดอน ระบุว่า เชื้อมิวคอร์ไมโคซิสพบได้ยากในมนุษย์ ทว่าหากได้รับเชื้อก็จะเป็นอันตราย การติดเชื้อรุนแรงมักส่งผลต่อจมูก ดวงตา และสมอง

ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อินเดียมีรายงานพบผู้ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิสเป็นจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับเชื้อราชนิดนี้กว่า 4,000 คน

การติดเชื้อรามีความแตกต่างจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส มนุษย์มักติดเชื้อราจากสภาพแวดล้อม มากกว่าการรับเชื้อจากการไอหรือจาม

คนเรามักสัมผัสกับเชื้อราอยู่เป็นประจำ แต่เชื้อราจะทำให้เราล้มป่วยได้ก็ต่อเมื่อร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ดร.สโตนบอกว่า การระบาดใหญ่ของเชื้อราอาจเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างจากการระบาดของโควิด ในแง่ของลักษณะการระบาดและผู้ติดเชื้อ

เขาคิดว่ามีความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญการระบาดใหญ่ของเชื้อรา เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การที่มีเชื้อราอยู่อย่างดาษดื่นในสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเดินทางระหว่างประเทศ ตลอดจนจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และความละเลยในการรักษาผู้ติดเชื้อ

แม้เชื้อราจะไม่ทำให้มนุษย์กลายเป็นซอมบี้ แต่ก็อาจเป็นภัยคุกคามสาธารณสุขมากกว่าแค่ปัญหาเชื้อราตามเท้านักกีฬา

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว