ประท้วงอิหร่าน: ทางการใช้หลักฐานในโทรศัพท์มือถือเล่นงานผู้ประท้วง

Getty Images ทางการอิหร่านพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันประชาชนเผยแพร่ภาพและวิดีโอการประท้วงต่อต้านรัฐบาล

“ใส่รหัสเข้าโทรศัพท์มือถือแกเดี๋ยวนี้!” เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอิหร่านตะคอกผู้ประท้วงคนหนึ่ง

การตะคอกแต่ละครั้งตามมาด้วยหมัดที่ต่อยเข้าใบหน้าเขา

ชายหนุ่มในวัย 20 ปีตอนต้น ถูกจับกุมระหว่างการประท้วงในกรุงเตหะราน เมื่อเดือน ต.ค.ปีก่อน

เขาเล่าให้บีบีซีฟังว่า “เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังเข้าจับกุมผู้หญิงคนหนึ่ง…หลังจากผมช่วยให้เธอหลบหนีไปได้ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็เข้ามาเล่นงานและกดผมลงกับพื้น”

“จากนั้นเจ้าหน้าที่อีก 2 คนใช้เท้าเหยียบลงมาที่หลังและหน้าของผม ส่วนคนที่ 3 ก็ทุบตีผมนานหลายนาที” ชายหนุ่มผู้ขอสงวนนามเล่า

เจ้าหน้าที่หยุดครู่หนึ่ง แล้วสั่งให้เขาส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้

Getty Images
ทางการอิหร่านพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันประชาชนเผยแพร่ภาพและวิดีโอการประท้วงต่อต้านรัฐบาล

“พวกนั้นทุบตีผมต่อไป ในขณะที่เจ้าหน้าที่อีกคนปลดล็อกโทรศัพท์ของผม เพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการ” ชายหนุ่มเล่า

หลังจากผ่านไปไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่ประกาศว่า “มันไม่มีอะไร” และปล่อยตัวเขาไปในที่สุด

ชายหนุ่มผู้นี้เล่าว่าเจ้าหน้าที่ตรวจดูคลังภาพถ่ายของเขาเพื่อหาว่าเขาได้ถ่ายคลิปการประท้วงเอาไว้หรือไม่

หากเขามีคลิปวิดีโอการประท้วงอยู่ในโทรศัพท์ก็อาจถูกตั้งข้อหา “โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ” เช่นเดียวกับผู้ประท้วงคนอื่น

ทางการอิหร่านกำลังเดินหน้าปราบปรามการประท้วงในประเทศ

รัฐบาลกำลังพิจารณาร่างกฎหมายที่จะกำหนดให้การถ่ายวิดีโอและเผยแพร่คลิปการก่อ “อาชญากรรม” เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

คาดว่าอาญชากรรมที่ว่านี้จะหมายรวมถึง การบันทึกภาพ “การประท้วงที่ผิดกฎหมาย” ด้วย ซึ่งจะมีบทลงโทษสูงสุดถึงจำคุก 5 ปี

นอกจากนี้ รัฐสภาอิหร่านยังมีแผนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อปิดปากเหล่าคนดังที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล

หากคนดัง “กล่าวความเท็จ” ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นสาเหตุนำไปสู่ความไม่สงบในประเทศ พวกเขาก็อาจถูกจำคุกสูงสุด 15 ปี

ตัดสินโทษประหารด้วยอินสตาแกรม

อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านระบุว่า “โลกไซเบอร์” คือสมรภูมิรบ และกล่าวย้ำซ้ำ ๆ ให้หน่วยงานรัฐ “ตอบโต้การทำสงครามลูกผสมของศัตรูของชาติ”

เขากล่าวหาว่า การต่อต้านรัฐบาลอิหร่านที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบเป็นฝีมือของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร

Iranian Supreme Leader Ayatollah Ali Khamenei speaks about the protests in Tehran, Iran on 9 January 9 2023.

Getty Images
ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวโทษว่าสหรัฐฯ และอิสราเอลคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุประชาชนลุกฮือประท้วงทั่วประเทศ

ขณะที่ศาลอิหร่านใช้ภาพถ่ายหน้าจอของสตอรีในอินสตาแกรมและบทสนทนาทางออนไลน์เป็นหลักฐานในการตัดสินประหารชีวิตวัยรุ่นชายคนหนึ่ง

โมฮัมหมัด โบโรกานี วัย 19 ปี ถูกตัดสินให้มีความผิดฐาน “เป็นศัตรูกับพระเจ้า” และถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธแทงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคนหนึ่ง รวมทั้ง “ยุยง” ให้ผู้คนเข้าร่วมการประท้วง

หลังจากประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการตัดสินดังกล่าวทางโซเชียลมีเดีย และที่ด้านนอกเรือนจำของเขาในเดือน ม.ค.2023 คดีของเขาก็ถูกส่งกลับไปให้ศาลสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง

อัฟชาเนห์ ริกอต นักวิจัยด้านเทคโนโลยี กฎหมาย และสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ว่า โทรศัพท์มือถือกำลังกลายเป็น “พื้นที่เกิดเหตุอาชญากรรม”

เธอศึกษาเรื่องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการลงโทษกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมานานร่วม 10 ปี

ริกอต อธิบายว่า บ่อยครั้งทางการมักเก็บหลักฐานทางดิจิทัลเพื่อเอาผิดบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น รูปถ่าย วิดีโอ หรือแอปพลิเคชัน แล้วใช้ข้อมูลที่ได้เหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญยืนยันการกระทำผิดใน “การพิจารณาคดีจอมปลอม”

“ในประเทศอย่างอิหร่าน ที่กำหนดให้ชาว LGBTQ เป็นผู้ทำผิดกฎหมายนั้น การสันนิษฐานว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีอยู่จริง” เธอกล่าว

“คุณถูกสันนิษฐานว่ามีความผิดตั้งแต่ต้น และรัฐจะต้องหาหลักฐาน หรือสร้างหลักฐานขึ้นมายืนยันความผิด” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบอก

มุ่งเป้าตรวจค้น

ทางการอิหร่านมักเข้ายึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีหมายยึดทรัพย์สิน หรือกระบวนการที่ถูกต้อง

เมื่อเดือน ต.ค.ปีก่อน เจ้าหน้าที่กระทรวงข่าวกรองหลายสิบคนได้บุกค้นบ้านพักของผู้สื่อข่าวคนหนึ่งในกรุงเตหะราน

ผู้สื่อข่าวชายคนดังกล่าวถูกจับกุมและคุมขังนานหลายสัปดาห์

แต่เขาไม่ใช่บุคคลเดียวที่ตกเป็นเป้าการเข้าตรวจค้นเช่นนี้

Iran protest held in Istanbul, Turkey on 31 December 2022

Getty Images
ทางการอิหร่านปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียแทบทั้งหมด

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมักยึดโทรศัพท์ของประชาชนอายุต่ำกว่า 40 ปี เพื่อค้นหา “หลักฐาน” บ่งชี้การกระทำผิด

ชายหนุ่มคนหนึ่งเล่าให้บีบีซีฟังว่า เจ้าหน้าที่ตรวจค้นข้อมูลการสนทนาทางแอปพลิเคชันวอตส์แอปป์ เทเลแกรม และอินสตาแกรม นอกจากนี้ยังตรวจโพสต์ทางโซเชียลมีเดีย แต่ส่วนใหญ่มักเน้นไปที่คลังภาพถ่าย

เขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้มุ่งเป้าที่เขาจากอายุ และประวัติส่วนตัว เพราะเขาเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะออกไปประท้วงตามท้องถนน

“พวกเขาอยากทำให้แน่ใจว่าโลกจะไม่ได้เห็นคลิปการประท้วง” ชายหนุ่มกล่าว

นับตั้งแต่ทางการอิหร่านเริ่มประหารชีวิตผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล การประท้วงตามท้องถนนเริ่มบางตา และศูนย์รวมของผู้ประท้วงก็เปลี่ยนจากท้องถนนไปที่งานศพ

นอกจากนี้ ทางการอิหร่านยังควบคุมสื่อมวลชนในประเทศอย่างเข้มงวด อีกทั้งใช้มาตรการปิดปาก ข่มขู่ และจับกุมสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้คนอิหร่านต้องพึ่งพาสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ตเพื่อรับข่าวสารที่เป็นอิสระ อีกทั้งใช้วิธีเชื่อมต่อเครือข่ายเสมือนเพื่อหลบเลี่ยงการปิดกั้นการใช้โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันส่งข้อความต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางการอิหร่านกำลังมุ่งปราบปราม

ริกอต นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่า “ในเงื้อมมือของรัฐเผด็จการ หลักฐานดิจิทัลคืออาวุธที่อันตรายมาก”

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว