ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตโดยไม่แจ้งล่วงหน้า บางครอบครัวยังไม่ได้รับศพคืน

 

Images showing nine of the 81 prisoners who were executed on 12 March 2022

BBC
ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตนักโทษ 81 คน เมื่อ 12 มี.ค. 2022 ซึ่งรวมถึงชาย 9 คนนี้ที่ครอบครัวยินยอมให้สื่อเผยแพร่รูปของพวกเขา

ญาติพี่น้องของนักโทษหลายรายในซาอุดีอาระเบียเผยกับบีบีซีว่า ทางการได้ประหารชีวิตนักโทษเป็นการลับ โดยไม่มีการแจ้งให้ครอบครัวของพวกเขาทราบล่วงหน้า

รายงานด้านสิทธิมนุษยชนฉบับล่าสุดระบุว่า ตัวเลขผู้ถูกทางการซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตมีเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่านับแต่ปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน เสด็จขึ้นครองราชย์ และแต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระราชโอรส เป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของซาอุดีอาระเบีย

ครอบครัวของมุสตาฟา อัล-ไคยัต ไม่ได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าเรื่องที่เขาจะถูกนำตัวไปประหารชีวิต

จนถึงทุกวันนี้ ครอบครัวยังไม่ได้รับศพของมุสตาฟามาประกอบพิธีฝังตามหลักศาสนา และไม่มีหลุมศพให้ไปหาเมื่อคิดถึง สิ่งสุดท้ายที่ครอบครัวได้ยินจากเขาคือบทสนทนาทางโทรศัพท์จากเรือนจำที่มุสตาฟาพูดทิ้งท้ายกับแม่ของเขาว่า “เอาล่ะ ผมต้องไปแล้ว ผมดีใจที่แม่สบายดี”

ไม่มีใครเฉลียวใจเลยว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่แม่ลูกจะได้พูดกัน

1 เดือนต่อมา มุสตาฟาก็เสียชีวิต เขาคือ 1 ในนักโทษ 81 คน ที่ถูกประหารชีวิตเมื่อ 12 มี.ค. 2022 ซึ่งถือเป็นการประหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสต์สมัยใหม่ของซาอุดีอาระเบีย

ชื่อของมุสตาฟาอยู่ในกลุ่มรายชื่อที่ยาวเหยียดและกำลังเพิ่มขึ้นของผู้ถูกประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน Reprieve และ European Saudi Organisation for Human Rights ได้เก็บบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดในรายงานฉบับใหม่

ผลการศึกษาข้อมูลที่ทั้งสององค์กรเก็บบันทึกมาตั้งแต่ปี 2010 พบว่า :

  • อัตราการประหารชีวิตของซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่านับสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2015 และทรงแต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล
  • ซาอุดีอาระเบียมักใช้โทษประหารชีวิตในการปิดปากกลุ่มผู้เห็นต่างและผู้ประท้วง ซึ่งขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ระบุว่าควรใช้โทษประหารชีวิตต่อผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงเท่านั้น
  • นับตั้งแต่ปี 2015 มีนักโทษอย่างน้อย 11 คนที่ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ยังเป็นผู้เยาว์และถูกประหารชีวิต แม้ว่าทางการซาอุดีอาระเบียจะอ้างหลายครั้งว่าพยายามลดการใช้โทษประหารชีวิตต่อผู้เยาว์
  • การทรมาน “พบอย่างแพร่หลาย” ในเรือนจำซาอุดีอาระเบีย แม้แต่ในหมู่ผู้ต้องขังเด็ก

องค์กร Reprieve มีข้อมูลว่าเมื่อปีก่อนซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตนักโทษไป 147 ราย แต่ชี้ว่าตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ อีกทั้งระบุว่า ซาอุดีอาระเบียใช้โทษประหารชีวิต “เกินกว่าเหตุ” ต่อคนต่างชาติ เช่น สาวใช้หญิงหลายคนที่ถูกตัดสินให้มีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดชนิดไม่ร้ายแรง

เป็นเวลาเกือบ 1 ปีมาแล้ว แต่ทางการยังไม่ยอมให้ข้อมูลแก่ครอบครัวของมุสตาฟาว่าเขาและนักโทษคนอื่น ๆ ถูกประหารชีวิตอย่างไร

ยัสเซอร์ พี่ชายของมุสตาฟาบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโศกนาฏกรรมของครอบครัวผู้ถูกประหารชีวิตทั้งหลาย

“พวกเราไม่รู้ว่าพวกเขาได้รับการฝังอย่างเหมาะสม หรือถูกโยนทิ้งในทะเลทราย หรือในทะเล พวกเราไม่รู้เลย” ยัสเซอร์ กล่าว

ยัสเซอร์ พูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับสื่อเป็นครั้งแรก ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในเยอรมนี และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยการเมืองหลังหลบหนีออกจากซาอุดีอาระเบียในปี 2016 เพราะกลัวว่าจะต้องเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับน้องชาย

ยัสเซอร์เล่าว่าน้องชายของเขาเป็นคนสนุก เข้าสังคมเก่ง และเป็นที่รักของคนรอบตัว โดยนับตั้งแต่ปี 2011 มุสตาฟาได้เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันโดยชาวมุสลิมชีอะห์ ชนกลุ่มน้อยในประเทศ

มุสตาฟาถูกจับกุมในปี 2014 หลังจากเขาถูกประหารชีวิต เจ้าหน้าที่ประกาศว่าเขา และนักโทษอีก 30 คน ถูกประหารด้วยความผิดเดียวกัน เช่น พยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ข่มขืน ชิงทรัพย์ ทำระเบิด ยุยงให้เกิดการทะเลาะวิวาท และสร้างความวุ่นวาย รวมทั้งค้าอาวุธและยาเสพติด

“ทางการไม่เคยแสดงหลักฐานยืนยันความผิดที่กล่าวหาเหล่านี้เลย คำโกหกนี้ได้สร้างบาดแผลลึก” ยัสเซอร์เล่า พร้อมเผยว่า น้องชายของเขาอยู่ในกระบวนการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินตอนที่ถูกประหารชีวิตพร้อมกับชายอื่นอีก 80 คน

“ทางการไม่ได้แค่พรากชีวิตของพวกเขา แต่ยังจงใจใส่ร้ายป้ายสี และกล่าวหาพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้กระทำ”

หลังก้าวขึ้นสู่อำนาจ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้ให้คำมั่นจะนำซาอุดีอาระเบียสู่ความทันสมัย อีกทั้งตรัสในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2018 ว่า ประเทศของพระองค์ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของชาติตะวันตกกำลังพยายาม “ปรับลด” การใช้โทษประหารชีวิต

แต่เกือบ 5 ปีผ่านมา ซาอุดีอาระเบียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ประหารชีวิตนักโทษมากที่สุดในโลก

การใช้โทษประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบีย

BBC

มายา โฟอา ผู้อำนวยการองค์กร Reprieve กล่าวกับบีบีซีจากสำนักงานในกรุงลอนดอนว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือที่ทรงเป็นที่รู้จักในนาม MBS “ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่พระองค์เคยให้สัญญาไว้…พระองค์บงการการประหารชีวิตจำนวนมาก และปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างโหดร้าย”

นอกจากนี้ เธอชี้ว่าซาอุดีอาระเบียยังมีกระบวนการประหารชีวิตที่เป็นความลับ โดยหลายกรณีที่ Reprieve เข้าตรวจสอบพบว่า ไม่มีใครรู้มาก่อนว่านักโทษเหล่านี้ได้รับโทษประหารชีวิต

มายา อธิบายว่า “ครอบครัวของพวกเขาไม่รู้ หมายความว่าคุณมีผู้ถูกจับกุม ถูกพิจารณาคดี ถูกตัดสินประหารชีวิต จากนั้นก็นำตัวไปประหารอย่างลับ ๆ”

เธอเล่าต่อว่า บางครอบครัวได้ทราบข่าวว่าบุคคลอันเป็นที่รักถูกประหารชีวิตผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นการกระทำ “อันโหดร้ายและสร้างความเจ็บปวดใจ” ที่สุดอย่างหนึ่ง

ตามปกติ ซาอุดีอาระเบียมักประหารชีวิตด้วยการตัดคอ ซึ่งมักทำกันในที่สาธารณะ พร้อมกับเปิดเผยชื่อ และข้อหาของนักโทษผ่านทางเว็บไซต์รัฐบาล

แต่กลุ่มนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนชี้ว่า การใช้โทษประหารชีวิตในประเทศนี้เริ่มมีความไม่โปร่งใสมากขึ้นทุกขณะ

ทุกคนที่บีบีซีได้พูดคุยด้วย ไม่มีใครทราบว่าการประหารชีวิตในปัจจุบันทำด้วยวิธีใด แม้จะมีรายงานการยิงเป้าด้วยก็ตาม

อาลี อาดูบิซี ผู้อำนาวยการองค์กร European Saudi Organisation for Human Rights ที่มีสำนักงานในกรุงเบอร์ลิน ระบุว่า โทษประหารชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายซาอุดีอาระเบีย

“ไม่มีองค์กรอิสระภาคประชาสังคม หรือองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนใดสามารถดำเนินการได้ที่นั่น และหากเราไม่จุดกระแสความสนใจเรื่องการประหารชีวิต ก็จะมีผู้คนมากมายที่ถูกฆ่าอย่างเงียบ ๆ” เขากล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ชาย 41 คน จากทั้งหมด 81 คน ที่ถูกประหารชีวิตเมื่อเดือน มี.ค.ปีก่อน เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมชีอะห์ ซึ่ง “การล่วงละเมิดอย่างแพร่หลายและทำกันเป็นระบบในระบบยุติธรรมของซาอุดีอาระเบียก็บ่งชี้ว่าชายเหล่านี้ไม่น่าจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม”

องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนนี้เผยว่าได้รับรายงานการทรมานในเรือนจำด้วย

นี่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ยัสเซอร์ประสบตอนที่เขาได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมมุสตาฟาเป็นครั้งแรก หรือ 12 เดือนหลังจากเขาถูกจับกุมในปี 2014 และต้องตกตะลึงกับสิ่งที่ได้เห็น

“แม้จะเป็นเวลาหนึ่งปีแล้ว หลังเราได้พบมุสตาฟาครั้งสุดท้าย แต่เขาไม่สามารถลุกยืนขึ้นทักทายพวกเราได้” ยัสเซอร์เล่า

“เขาล้มลงทันทีที่พยายามลุกยืน และเมื่อเราถามเขา เขาบอกว่าเป็นเพราะการถูกทรมาน”

“เราสังเกตเห็นรอยฟกช้ำตามตัวมุสตาฟา เขาบอกว่าถูกช็อตไฟฟ้าด้วย”

พี่สาวของนักโทษอีกคน เล่าให้บีบีซีฟังว่า น้องชายของเธอก็ถูกทรมานอย่างรุนแรงเช่นกัน

ไซนับ อาบู อัล-คาอีร์ ซึ่ง ฮุสเซน น้องชายต้องโทษจำคุกในปี 2014 เผยว่า “น้องเล่าว่าเขาถูกจับมัดเท้าแล้วทุบตี เขาไม่เคยคิดว่าจะมีการบังคับรีดคำรับสารภาพในการพิจารณาคดี”

ฮุสเซน เป็นชาวจอร์แดน เขาทำงานเป็นคนขับรถให้ครอบครัวชาวซาอุฯ ที่ร่ำรวยครอบครัวหนึ่งตอนที่ถูกจับกุมฐานมียาเสพติดในรถยนต์ที่พรมแดนจอร์แดน-ซาอุดีอาระเบีย

ไซนับแน่ใจว่ายาเสพติดดังกล่าวไม่ใช่ของน้องชาย

ไซนับซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในแคนาดาเล่าว่า นับตั้งแต่ฮุสเซนติดคุก ครอบครัวของเขาต้องเผชิญความยากลำบาก เขามีลูกชายพิการคนหนึ่ง และหลังจากเขาถูกสั่งจำคุก ลูกสาววัย 14 ปีของเขาก็ถูก “ขาย” ให้แต่งงานในจอร์แดน

Jordanian national Hussein Abu Al-Khair has been in prison since 2014

Zainab Abu Al-Khair,
ฮุสเซน อัล-คาอีร์ ต้องโทษจำคุกในปี 2014

เมื่อเดือน พ.ย. 2022 ซาอุดีอาระเบียยกเลิกการพักโทษประหารชีวิตให้ผู้ต้องโทษในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า “น่าสลดใจอย่างยิ่ง” ส่งผลให้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ มีชาย 17 คนถูกประหารชีวิตในความผิดนี้

ไซนับเล่าว่า ชายที่ถูกพาตัวออกจากห้องขังเดียวกับฮุสเซน ไม่เคยได้กลับมาอีกเลย เธอและน้องชายรู้สึกกลัวมาก และมันสร้างความทุกข์ทรมานใจให้เธออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ในบางครั้งไซนับรู้สึกโกรธประเทศอื่น ๆ ที่ปล่อยให้ซาอุดีอาระเบียรอดพ้นความผิดจากการกระทำอันป่าเถื่อนโหดร้ายเช่นนี้

Zainab Abu Al-Khair

Zainab Abu Al-Khair
ไซนับและครอบครัวต้องคอยเช็กทุกวันว่าฮุสเซนยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

รายงานล่าสุดจากฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของซาอุดีอาระเบียอยู่ในขั้น “เลวร้าย” เป็นรอยด่างพร้อยของประเทศ ซึ่งพยายาม “ซักล้าง” ด้วยการลงทุนด้านกีฬาและบันเทิง

บีบีซีได้ส่งอีเมล 3 ฉบับถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ เพื่อสอบถามกรณีที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

ขณะที่สถานทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงลอนดอนออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อบีบีซีว่า หลายประเทศทั่วโลกมีโทษประหารชีวิต และประเทศต่าง ๆ มีมุมมองที่แตกต่างกันถึงความเหมาะสมในการใช้บทลงโทษต่าง ๆ

“ในขณะที่เราเคารพต่อสิทธิของแต่ละประเทศในการกำหนดตัวบทกฎหมายและแนวปฏิบัติของตนเอง เราก็หวังว่าประเทศอื่น ๆ จะเคารพสิทธิอธิปไตยในการดำเนินตามแนวทางตุลาการและกฎหมายของเรา” สถานทูตระบุ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้กับบีบีซีว่า “มีความกังวลอย่างยิ่งต่อแนวโน้มการใช้โทษประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบีย” โดยเฉพาะจำนวนการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงผู้ต้องขังที่เป็นผู้เยาว์ และการลงโทษประหารชีวิตผู้ถูกตัดสินให้มีความผิดที่ไม่อยู่ในฐานอุกฉกรรจ์ เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

สำหรับผู้ที่มีบุคคลอันเป็นที่รักถูกตัดสินประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบีย ต่างต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานใจ ไซนับพี่สาวของฮุสเซนได้แต่คอยเฝ้าดูข้อความในกลุ่มสนทนาของครอบครัว

“มันไม่ใช่ชีวิตที่จะต้องเจอกับความเครียดแบบนี้…ทุกเช้า ทุกค่ำ พวกเราต่างคอยเช็กว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่” ไซนับบอก

รายงานเพิ่มเติมโดย เอเลนอร์ มอนตาคิว

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว