สารปริศนาก้นหม้อโบราณ 2,700 ปี เผยความลับวิธีทำมัมมี่อียิปต์

 

ภาพจำลองการทำมัมมี่โดยใช้สารอินทรีย์ในธรรมชาติ

NIKOLA NEVENOV
ภาพจำลองการทำมัมมี่โดยใช้สารอินทรีย์ในธรรมชาติ

คราบสารอินทรีย์ที่ติดอยู่ในภาชนะโบราณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหม้อและไหที่นำขึ้นมาจากห้องทำศพใต้ดินของสุสานเมืองซักคารา (Saqqara) ใกล้กรุงไคโรของอียิปต์ ช่วยไขปริศนาที่นักโบราณคดีข้องใจกันมานานว่า สูตรของสารเคลือบและน้ำยาอาบศพที่ใช้ทำมัมมี่ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

ภาชนะดังกล่าวมีอายุเก่าแก่ราว 2,700 ปี มาจากห้องทำมัมมี่ใต้ดินที่มีการค้นพบเมื่อปี 2016 โดยนักโบราณคดีเชื่อว่าห้องทำมัมมี่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสุสานหลวงประจำราชวงศ์ที่ 26 หรือราชวงศ์เซไอต์ (Saite dynasty) ซึ่งปกครองอียิปต์ในช่วง 700-500 ปี ก่อนคริสตกาล

ทีมนักวิจัยจากเยอรมนีและอียิปต์ รายงานผลการวิเคราะห์โมเลกุลของสารอินทรีย์ในหม้อโบราณ 31 ใบ ซึ่งมีการเขียนชื่อสิ่งของที่บรรจุไว้อย่างชัดเจนด้วยอักษรอียิปต์โบราณ

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ทราบถึงชื่อสิ่งของที่บรรจุอยู่ข้างใน ตามแบบที่ชาวอียิปต์ยุคหลายพันปีก่อนเรียกขานกัน โดยผลการศึกษาข้างต้นตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

แม้ก่อนหน้านี้นักโบราณคดีจะได้ทราบจากบันทึกเก่าแก่มาบ้างว่า ส่วนประกอบที่ใช้ทาเคลือบผิวหรืออาบศพระหว่างการทำมัมมี่ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ชื่อของสารที่ระบุไว้มักเป็นชื่อโบราณที่ไม่คุ้นหูและไม่มีใครรู้จักกันแล้วในยุคปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์สารเคมีทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย

ผลวิเคราะห์พบว่าสารอินทรีย์ที่ใช้ในการทำมัมมี่ เพื่อลดกลิ่นเหม็นเน่าและการย่อยสลายศพโดยเชื้อราและแบคทีเรียนั้น ประกอบไปด้วยส่วนผสมหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันจากพืชเช่นสนจูนิเปอร์, สนไซเปรส, สนซีดาร์ ไปจนถึงยางไม้หรือเรซินจากต้นพิสทาชิโอ, ไขมันสัตว์ และขี้ผึ้ง

ซากหม้อโบราณที่พบในห้องทำมัมมี่ใต้ดิน

SAITE TOMBS PROJECT
ซากหม้อโบราณที่พบในห้องทำมัมมี่ใต้ดิน

นอกจากนี้ทีมผู้วิจัยยังพบด้วยว่า มีการเจาะจงใช้สารอินทรีย์บางอย่างกับอวัยวะแต่ละส่วนโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่นยางไม้จากต้นพิสทาชิโอและน้ำมันละหุ่ง จะสงวนไว้ใช้กับส่วนศีรษะของศพเท่านั้น

ศ. ฟิลิปป์ สต็อกแฮมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยลุดวิก-แม็กซิมิเลียน ของเยอรมนี หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยบอกว่า “น่าทึ่งมากที่ชาวอียิปต์โบราณมีความรู้ทางเคมีเป็นอย่างดี องค์ความรู้นี้สั่งสมต่อกันมาเป็นเวลานานนับพันปี จนสามารถระบุได้ว่าสิ่งใดจะช่วยรักษาสภาพศพเอาไว้ให้คงทน โดยไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับจุลินทรีย์เลย”

ผลการศึกษายังพบว่า สิ่งที่ชาวอียิปต์โบราณเรียกว่า antiu หรือที่นิยมแปลเป็นภาษาอังกฤษว่าธูปหอมหรือยางไม้หอม “เมอร์” (myrrh) แท้จริงแล้วเป็นส่วนผสมของไขมันสัตว์กับน้ำมันสนหลากชนิด

ภาพจากจินตนาการของศิลปิน แสดงให้เห็นนักบวชประกอบพิธีบางอย่างขณะมีการทำมัมมี่

NIKOLA NEVENOV
ภาพจากจินตนาการของศิลปิน แสดงให้เห็นนักบวชประกอบพิธีบางอย่างขณะมีการทำมัมมี่

อย่างไรก็ตาม ยังยากที่จะบอกได้ว่าสารเคลือบและน้ำยาอาบศพที่ค้นพบดังกล่าว เป็นสูตรที่มีการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคโบราณหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันยังมีการค้นพบห้องทำมัมมี่โบราณในสุสานเมืองซักคาราเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

สิ่งที่น่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ทีมผู้วิจัยพบว่าวัตถุดิบที่ใช้ทำสารถนอมรักษาศพเหล่านี้ หลายชนิดมาจากดินแดนที่ห่างไกลออกไปอย่างเหลือเชื่อ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มาจากภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนก็ตาม

มีการค้นพบว่าชันยาง (Dammar gum) เป็นส่วนประกอบหนึ่งของสารอินทรีย์ที่ใช้ทำมัมมี่ข้างต้น โดยวัตถุดิบนี้มาจากยางไม้ของต้นเต็งหรือต้นจิกซึ่งพบในประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงถึงการที่อาณาจักรอียิปต์โบราณมีเครือข่ายการค้าที่กว้างไกลไปจนถึงอีกซีกโลกหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ด้วยว่าชันยางนี้อาจมาจากเขตร้อนของทวีปแอฟริกาเอง


ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว