มลพิษจาก PM 2.5 ทำนักหมากรุกเดินเกมผิดพลาดได้ง่ายขึ้น

 

คนเล่นหมากรุก

Getty Images

นักเล่นหมากรุกมืออาชีพมีแนวโน้มจะเดินเกมผิดพลาดได้มากกว่าปกติ หากสถานที่จัดการแข่งขันอยู่ในบริเวณที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่มีอนุภาคฝุ่นละเอียด PM 2.5 สูงเป็นพิเศษ

ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์หรือเอ็มไอที (MIT) ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นในวารสาร Management Science หลังทดลองเก็บข้อมูลสมรรถภาพในการแข่งขันของนักหมากรุก 121 คน ขณะลงสนามประลองฝีมือในรายการประจำปีระดับชาติของเยอรมนี ซึ่งจัดขึ้น 3 ครั้ง ระหว่างปี 2017-2019

ในการแข่งขันแต่ละรายการซึ่งกินเวลาราว 8 สัปดาห์ ทีมผู้วิจัยได้ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศเอาไว้ด้วย โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิ, ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, และความหนาแน่นของฝุ่นละเอียด PM 2.5 ไปพร้อมกัน

ข้อมูลการเดินหมากกว่า 30,000 ครั้งจากการแข่งขันดังกล่าว ถูกนำไปวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม Stockfish ซึ่งเป็นโปรแกรมเล่นหมากรุกที่สามารถบอกได้ว่า การตัดสินใจเดินหมากในแต่ละครั้งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเกมนั้นหรือไม่

เมื่อนำผลวิเคราะห์การเล่นข้างต้นไปเปรียบเทียบกับคุณภาพของอากาศที่สนามแข่งขัน ปรากฏว่าหากมีฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นในปริมาณเพียงเล็กน้อย ความเสี่ยงที่นักหมากรุกจะตัดสินใจเดินหมากผิดพลาดจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 2.1 จุดเปอร์เซ็นต์ (percentage points) ในทันที ส่วนขนาด (magnitude) ของความผิดพลาดนั้น จะร้ายแรงเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง 10.8%

ฝุ่นพีเอ็ม

Thai News Pix

ดร. ฮวน ปาลาซิโอส หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยบอกว่า “ผู้เล่นหมากรุกนั้นต้องเค้นสมองใช้ความคิดอย่างหนัก ยิ่งพวกเขาได้รับมลพิษทางอากาศในปริมาณสูงขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเดินหมากผิดพลาดบ่อยครั้งขึ้นเท่านั้น ทั้งยังสร้างความผิดพลาดในระดับที่ใหญ่หลวงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย”

ทีมผู้วิจัยยังศึกษาข้อมูลการแข่งขันและคุณภาพอากาศที่สนามแข่งขันรายการเดียวกัน โดยตรวจสอบย้อนหลังไป 20 ปี ซึ่งก็พบว่ามลพิษทางอากาศส่งผลให้ความสามารถในการเดินหมากของผู้เล่นในอดีตลดลงเช่นเดียวกัน

“ไม่เพียงแค่นักหมากรุกเท่านั้น คนทำงานที่เน้นการใช้ความคิดวิเคราะห์จะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงเช่นกัน หากต้องไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศสูง ปัญหานี้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อสังคมปัจจุบันได้ไม่น้อยทีเดียว” ดร. ปาลาซิโอสกล่าว

อย่างไรก็ตาม นักเล่นหมากรุกมืออาชีพในปัจจุบันได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพอากาศกันบ้างแล้ว โดยนายลีออน วัตสัน ผู้เชี่ยวชาญในวงการหมากรุกสากลบอกกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนว่า นักหมากรุกมือวางอันดับต้นของโลกเช่น แม็กนัส คาร์ลเซน และ อนิช คีรี ได้เริ่มตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในสถานที่แข่งขันด้วยตนเองกันแล้ว เพราะอาจสร้างความได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อต้องเจอกับคู่แข่งที่ระดับฝีมือสูสีกัน

“เมื่อต้องลงแข่งขันรายการใหญ่ทางออนไลน์จากที่บ้าน นักหมากรุกมืออาชีพยุคใหม่ยิ่งใส่ใจการตรวจสอบคุณภาพอากาศในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพราะความแตกต่างเพียงเล็กน้อยอาจทำให้คว้าชัยชนะหรือกลับต้องพ่ายแพ้ได้” นายวัตสันกล่าว

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า มลพิษทางอากาศจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ไนโตรเจนไดออกไซด์, และฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน อาจสร้างความเสียหายต่อสติปัญญาและความสามารถในการคิดของมนุษย์ได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคที่ก่อความเสื่อมถอยต่ออวัยวะต่าง ๆ (degenerative disease) อย่างเช่นโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมด้วย

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว