เอไอตรวจพบ 8 สัญญาณจากต่างดาว ชี้อาจเป็นเทคโนโลยีของเอเลียน

 

รูปจานรับสัญญาณ

Getty Images

การค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวนั้นเป็นเรื่องยาก ไม่ต่างจากงมเข็มในมหาสมุทร แม้แต่โครงการเซติ (SETI) ที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่และทันสมัยมองหาสัญญาณจากเอเลียนมานานหลายสิบปี ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้

แต่ล่าสุดรายงานว่าด้วยโครงการวิจัยทางดาราศาสตร์ ซึ่งจัดทำโดยทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยโทรอนโตของแคนาดาและลงตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ฉบับวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดความหวังครั้งใหม่ในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) เข้าช่วยให้การค้นหาสัญญาณจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

อัลกอริทึมที่เขียนขึ้นใหม่โดยทีมผู้วิจัย สามารถตรวจพบสัญญาณที่ต้องสงสัยว่ามาจากเอเลียนได้ถึง 8 สัญญาณด้วยกัน หลังทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ 150 เทราไบต์ ซึ่งได้จากการสแกนท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุกรีนแบงก์ (Green Bank Telescope) ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียของสหรัฐฯ โดยการสแกนนี้ครอบคลุมพื้นที่ของดาวฤกษ์ 820 ดวง

สัญญาณที่ตรวจพบมาจากดาวฤกษ์ 5 ดวง ซึ่งอยู่ในระยะห่างจากโลกราว 30-90 ปีแสง มีลักษณะที่เข้าข่ายจะเป็นสัญญาณจากเอเลียนได้ เนื่องจากสัญญาณปรากฏอย่างชัดเจนขณะที่เล็งกล้องโทรทรรศน์วิทยุไปยังดาวที่เป็นต้นกำเนิด แต่สัญญาณกลับหายไปเมื่อหันกล้องโทรทรรศน์วิทยุไปทางอื่น

ดร. สตีฟ ครอฟต์ นักวิทยาศาสตร์ของเซติซึ่งปฏิบัติงานที่กล้องโทรทรรศน์วิทยุกรีนแบงก์บอกว่า “นี่คือข้อพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่สัญญาณรบกวนจากบนโลกที่ปกติจะปรากฏอยู่ตลอดเวลา สัญญาณที่เอไอค้นพบนี้ยังเปลี่ยนความถี่ได้อีกด้วยเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งทำให้ดูเหมือนมันมาจากต้นกำเนิดที่ขยับตัวห่างออกไปเรื่อย ๆ ”

ภาพจำลอง Dyson Sphere โครงสร้างยักษ์ผลิตพลังงานของเอเลียนที่เราอาจตรวจพบได้

Getty Images
ภาพจำลอง Dyson Sphere โครงสร้างยักษ์ผลิตพลังงานของเอเลียนที่เราอาจตรวจพบได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสัญญาณที่เอไอค้นพบมาจากเอเลียนจริงหรือไม่ เพราะเมื่อทีมวิจัยเฝ้าติดตามสังเกตสัญญาณดังกล่าวต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก็ยังไม่พบว่ามีสัญญาณเดิมปรากฏขึ้นซ้ำแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ทีมผู้วิจัยใช้อัลกอริทึมที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มาฝึกฝนทักษะการตรวจวิเคราะห์สัญญาณคลื่นวิทยุจากนอกโลก โดยมุ่งให้เอไอสามารถแยกแยะระหว่างสัญญาณรบกวนต่าง ๆ จากอุปกรณ์ของมนุษย์ กับสัญญาณที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจมาจากการใช้เทคโนโลยีระดับสูงของเอเลียน

ปีเตอร์ หม่า นักศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งเป็นผู้นำโครงการวิจัยนี้บอกว่า แม้ 8 สัญญาณที่ค้นพบในครั้งนี้อาจเป็นเพียงความบังเอิญ และยังจะต้องติดตามต่อไปในระยะยาวเพื่อตรวจสอบว่ามาจากเอเลียนจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยผลการศึกษาของพวกเขาก็ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันล้นเหลือของเอไอ ในการเข้ามาช่วยงานด้านชีวดาราศาสตร์

“เทคนิคใหม่ของเราที่ใช้เอไอร่วมกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุรุ่นที่ทรงพลังเป็นพิเศษอย่าง MeerKAT หรือ ngVLA จะช่วยยกระดับการค้นหาเอเลียน จากการสแกนกลุ่มดาวครั้งละหลายร้อยดวง ไปสู่การค้นหาที่ทำได้พร้อมกันครั้งละหลายล้านดวง” ปีเตอร์ หม่า กล่าว

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว