สหรัฐฯ จีน : ทำไมจีนต้องใช้ “บอลลูนสอดแนม” ในเมื่อมีดาวเทียม

ข้อกล่าวหาว่าจีนใช้ “บอลลูนสอดแนม” เหนือน่านฟ้าสหรัฐอเมริกาทำให้หลายคนสงสัยว่า หากเป็นความจริง ทำไมพวกเขาถึงเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้ก้าวล้ำทางเทคโนโลยีอะไรขนาดนั้น

ล่าสุด กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมายืนยันแล้วว่าเครื่องบินรบ F-22 ได้ยิงบอลลูนนี้ทิ้งด้วยขีปนาวุธหนึ่งลูก โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมบอกกับสื่อว่าซากบอลลูนได้ตกลงใกล้ชายหาดเมอร์เทิลในรัฐเซาท์แคโรไลนา

ก่อนหน้านี้ ทางการจีนยอมรับว่า บอลลูนที่ตรวจพบบินอยู่เหนือพื้นที่สำคัญทางการทหารของสหรัฐฯ เป็นของตนเอง แต่ยืนยันว่าเป็นเพียง “เรือเหาะตรวจสภาพอากาศ” ที่มีจุดประสงค์เพื่อการวิจัย แต่บอลลูนถูกกระแสลมพัดออกนอกทิศทางอย่างไม่คาดคิด อย่างไรก็ดี นี่ทำให้สหรัฐฯ กังวลจน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยกเลิกการเดินทางไปปักกิ่งอย่างกะทันหัน จากแผนเดิมที่ต้องการให้เป็นการประชุมระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ-จีนครั้งแรกในรอบหลายปี โดยเขาบอกว่าเหตุดังกล่าว เป็นเรื่องที่ “ยอมรับไม่ได้และไร้ความรับผิดชอบ”

เทคโนโลยีสอดแนมเก่าแก่

บอลลูนเป็นเทคโนโลยีสอดแนมที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง อาทิ กองทัพญี่ปุ่นใช้บอลลูนเพื่อปล่อยระเบิดเพลิงในสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตก็ใช้บอลลูนอย่างแพร่หลายในช่วงสงครามเย็น

ในช่วงไม่นานมานี้ มีรายงานว่าสหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่าใช้บอลลูนเพิ่มในระบบการสอดแนมของกระทรวงกลาโหม บอลลูนสมัยใหม่จะลอยตัวอยู่ราว 24-37 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก

A balloon flies in the sky over Billings, Montana, U.S. February 1, 2023 in this picture obtained from social media.

Reuters
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมบอกกับสื่อว่าซากบอลลูนได้ตกลงใกล้ชายหาดเมอร์เทิลในรัฐเซาท์แคโรไลนา

ทำไมไม่ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำกว่า

นักวิเคราะห์ด้านอาวุธทางอากาศ ฮี หยวน หมิง บอกกับบีบีซีว่า จีนอาจจะพยายามบอกกับสหรัฐฯ ว่า แม้ว่าเราอยากจะพัฒนาความสัมพันธ์ แต่เราก็พร้อมที่จะแข่งขันอยู่ตลอดเวลา และจะใช้ทุกวิถีทางในการทำเช่นนั้น แต่ทำโดย “ไม่ทำลายความสัมพันธ์ถึงขั้นร้ายแรง”

“และเครื่องมืออะไรจะดีไปว่าบอลลูนลูกนี้ที่ดูไม่มีพิษมีภัย”

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน เบนจามิน โฮ บอกว่าจีนมีเทคโนโลยีสอดแนมที่ก้าวล้ำกว่านี้มากให้เลือกใช้

“บอลลูนนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังชาวอเมริกัน และเพื่อดูด้วยว่าสหรัฐฯ จะมีปฏิกริยาอย่างไร”

มีความเป็นไปได้ว่าจีนตั้งใจอยากให้สหรัฐฯ ไปเจอบอลลูนลูกนี้

อาร์เธอร์ ฮอลแลนด์ มิเชล จาก Carnegie Council for Ethics in International Affairs บอกว่า มีความเป็นไปได้ว่าการให้สหรัฐฯ ไปเจอคือเป้าหมายหลัก “จีนอาจจะใช้บอลลูนในการสาธิตให้เห็นว่ามีความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นสูงในการรุกล้ำน่านฟ้าสหรัฐฯ โดยไม่เสี่ยงทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ถ้ามองในแง่นี้ บอลลูนเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมาก”

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าสามารถติดตั้งเครื่องมือล้ำเทคโนโลยี เช่น กล้องสอดแนมและเรดาร์เซ็นเซอร์ บนบอลลูนได้ และบอลลูนก็ใช้ต้นทุนน้อยกว่าการใช้โดรนหรือดาวเทียม

นอกจากนี้ การเคลื่อนที่อย่างเชื่องช้าของบอลลูนทำให้สามารถไปหยุดและสังเกตการณ์เป้าหมายอยู่นานกว่า ตรงกันข้ามกับดาวเทียมที่ต้องเคลื่อนที่ไปตามวิถีโคจร

Anthony Blinken

Getty Images
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยกเลิกการเดินทางไปปักกิ่งอย่างกะทันหัน จากแผนเดิมที่ต้องการให้เป็นการประชุมระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ-จีนครั้งแรกในรอบหลายปี

ถูกลมพัดออกนอกทิศทาง ?

จีนระบุว่า กระแสลมตะวันตกกำลังแรงได้พัดให้บอลลูน ซึ่งมี “ความสามารถในการบังคับทิศทางด้วยตนเองอย่างจำกัด” บินออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้

ไซมอน คิง นักอุตุนิยมวิทยาของบีบีซีระบุว่า ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกที่คั่นระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้น มักมีกระแสลมตะวันตก ที่พัดจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก

เขากล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ความเร็วลมเหนือระดับความสูง 30,000 – 40,000 ฟุต (9,000 – 12,000 เมตร) อยู่ที่ 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือมากกว่า ในบริเวณนี้ของมหาสมุทรแปซิฟิก”

รูปแบบของกระแสลมทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาน่าจะพัดพาบอลลูนจากทิศเหนือไปยังทิศตะวันตก สู่รัฐอะแลสกา จากนั้นก็พัดจากทิศใต้ไปยังทิศตะวันตก ผ่านแคนาดาสู่รัฐมอนแทนา

เขาอธิบายต่อว่า “บอลลูนตรวจสภาพอากาศส่วนใหญ่จะลอยอยู่เหนือระดับความสูง 100,000 ฟุต จากนั้นจะถูกลมพัดจนแยกตัวออกจากกันในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา โดยที่อุปกรณ์จะตกลงสู่พื้นโลกด้วยร่มชูชีพ มันเป็นเรื่องผิดปกติที่บอลลูนตรวจสภาพอากาศลอยอยู่ได้นานหลายวันขนาดนี้”

ดร. มารินา มิรอน นักวิจัยด้านกลาโหมจากคิงส์คอลเลจลอนดอน ชี้ว่า บอลลูนดังกล่าวอาจมีความซับซ้อนมากกว่าที่จีนอ้าง

เธอสันนิษฐานว่า “บอลลูนอาจถูกควบคุมจากระยะไกลด้วยคนควบคุมที่อยู่ทางภาคพื้น…พวกเขาอาจสามารถเพิ่มหรือลดระดับความสูงในการบินของบอลลูน เพื่อให้สามารถเกาะกระแสลมชนิดต่าง ๆ ซึ่งพัดพาไปในทิศทางที่แตกต่างกัน”

“ผู้บังคับน่าจะต้องการให้บอลลูนวนเวียนอยู่เหนือจุดที่ต้องการเก็บข้อมูล นี่คือสิ่งที่สามารถทำได้ด้วยบอลลูน แต่ทำไม่ได้ด้วยดาวเทียม” ดร.มิรอนอธิบาย

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว