ผู้ว่าฯ ชัชชาติในลอนดอน ดูงานอะไรไปใช้ที่ กทม. บ้าง

 

ชัชชาติ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ ผู้ว่า กทม. ในกรุงลอนดอน ของสหราชอาณาจักร

8 เดือนหลังรับตำแหน่งพ่อเมืองกรุงเทพฯ เมื่อ 1 มิ.ย. 2565 ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางมาเยือนมหานครลอนดอนตามคำเชิญของรัฐบาลสหราชอาณาจักร

เขามีกำหนดเดินทางกลับ กทม. กลางดึกวันที่ 8 ก.พ. เวลาอังกฤษ พร้อมกับนำแนวคิด ความรู้ ที่ได้จากการพบปะหารือผู้เชี่ยวชาญ ดูงาน ด้านผังเมือง การจัดการจราจร สิ่งแวดล้อม และสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง กลับมาใช้ในนครหลวงของไทยที่เขาบอกว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นระดับประเทศ

เช้าวันที่ 5 ก.พ. เวลาลอนดอน หลังเช็คอินเข้า ปาร์คอินเตอร์เนชันแนลโฮเทล โรงแรมสี่ดาวในเครือเฟรเซอร์ ที่มีเจ้าของชื่อ เจริญ สิริวัฒนภักดี “ผู้ว่าที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ออกสำรวจสวนสาธารณะไฮด์ปาร์ค ที่อยู่ห่างจากโรงแรมเพียง 15 นาทีเดิน พร้อมกับการเฟซบุ๊กไลฟ์ทางเพจ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เล่าถึงความเป็นมาของการเดินทางครั้งนี้ กำหนดการเยือน ตารางนัดหมายที่สำคัญ ที่สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเป็นผู้เชิญและอำนวยการ และมี เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ผู้แทนจากสื่อยอดนิยมในหมู่คนหนุ่มสาว ร่วมคณะมาด้วย

จากวันที่ 5 ถึง 8 ก.พ. ผู้ว่าฯ วัย 56 ปี ที่หลงใหลในการวิ่ง ตื่นขึ้นมาก่อนตะวันขึ้นเพื่อวิ่งรอบ สวนสาธารณะขนาดราว 888 ไร่ อายุเกือบ 400 ปี ทุกเช้า ในช่วงที่อุณหภูมิของหน้าหนาวอยู่ที่ศูนย์องศาหรือติดลบ

ไฮด์ปาร์ค กับ กทม.

แล้วคน กทม. ได้อะไรจากจากการที่เขาวิ่งรอบ ไฮด์ปาร์ค

ผู้ว่าฯ นักวิ่ง บอกว่า หัวใจของสวนสาธารณะในลอนดอน คือ มีสวนสาธารณะย่อยเยอะมาก แต่มหานครลอนดอนไม่ได้ดูแล ให้องค์การการกุศลเป็นคนดูแล

“สิ่งสำคัญคือ เขามี park ย่อย ๆ เยอะ concept (แนวคิด) ของเรา คืออยากให้มี park กระจายไปทั่ว” ดร. ชัชชาติกล่าวกับบีบีซีไทย หลังวิ่งเสร็จ 1 รอบที่สวนสาธารณะไฮด์ปาร์คกับนักศึกษาไทย 6 คน ที่ได้ทุนชีฟนิ่งจากรัฐบาลอังกฤษ ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบสององศาเซลเซียส

“อาจใช้แนวคิดของสวนจากพื้นที่ที่คนไม่ได้ใช้งาน อยากลดเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เอาที่ดินเหล่านี้มาทำเป็นสวนสาธารณะ 7 ปี จะ convert (แปลงสภาพ) ให้มากขึ้น เป็นสิ่งที่มีค่า หัวใจคือ กระจายสู่ชุมชน คนต้องมาได้ง่าย ๆ…ของเราก็อยากมีสวนแบบนี้ กระจายทั่วไป ตอนนี้มีพาร์คที่เรากำลังทำอยู่ใน pipeline (แผนงาน) ร้อยกว่าแห่ง ค่อย ๆ ทำไป”

Road Diet หดถนนให้คนเดินและจักรยาน

จากสวนสาธารณะ ขยับมาสู่ถนนหนทาง และทางเท้าในลอนดอนที่กว้างขวางกว่าเดิม ลดพื้นที่ถนนให้รถยนต์วิ่ง แล้วปรับมาเป็นพื้นที่สำหรับจักรยานและทางเท้า หรือ ที่เรียกกันว่า Road Diet

Road Diet คือการนำพื้นที่ถนนที่มากเกินไปให้แก่ยานยนต์ มาคืนให้แก่ผู้ใช้ทางเท้า หรือจักรยาน ซึ่งช่วงการระบาดโควิด นายซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน จากพรรคเลเบอร์ สั่งเพิ่มเลนจักรยานจำนวนมาก ลดพื้นที่ถนนสำหรับยานยนต์ลง ให้คนมาขี่จักรยาน ลดการแออัดของระบบขนส่งมวลชน แต่การเพิ่มจำนวนเลนจักรยานที่มาก จนบางจุดไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนัก ก็ถูกวิจารณ์จาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

“กทม. ทำได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือหลายอย่าง สามารถหดถนนได้ แต่ต้องมี public transport (ขนส่งสาธารณะ) ที่มีคุณภาพ เราไม่สามารถเก็บ congestion charge (ค่าธรรมเนียมสำหรับยานยนต์เพื่อลดความแออัดบนท้องถนนในลอนดอน) ได้ การให้ใช้ถนนน้อยลง ต้องมี public transport ที่มีคุณภาพ ต้องคุยกับหลายหน่วยงาน เช่น รถเมล์ รถไฟใต้ดิน เราต้องคุยกับ กระทรวงคมนาคม”

“จะ diet ถนน ลดการใช้รถ เราต้องมีทางเลือก กทม. ก็ต้องมีทางเลือก ทำฟุตปาธให้ดีขึ้น ทางเดินดีขึ้น จักรยาน เป็นไปได้ไหม ซึ่งก็ไม่ได้ง่าย อยู่ดีดีเราจะไป diet ถนน ลดถนน แต่ไม่มีทางเลือก ต้องคิดให้ดีเหมือนกัน”

ดอกเตอร์ด้านวิศวกรรมโครงสร้างจากสหรัฐอเมริกา เสริมว่า นอกจากเรื่องลดพื้นที่ถนนแล้ว การมีที่จอดรถใน กทม. ที่ราคาค่อนข้างถูก ก็ส่งเสริมให้คนยังขับรถเข้ามาในเมืองมากขึ้น ต่างจากลอนดอนที่ค่าจอดรถแพง ทำให้คนที่ไม่จำเป็นต้องใช้รถ เลือกไม่ขับเข้าเมือง

“กรุงเทพฯ ปาร์คกิ้ง ราคาถูกมาก ขับรถไปในเมืองมี ปาร์คกิ้งมหาศาล ทำให้ทุกคนอยากขับรถไปหาที่จอด แต่ที่นี่ ค่าจอดรถแพงมาก เหมือนกับให้คนไปใช้ถนนมากขึ้น คงต้องดูหลายองค์ประกอบร่วมกัน”

Cycle lane

BBC

Low Emission Zone

ดร. ชัชชาติ ยังให้ความสนใจในเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมรถเก่าที่สร้างมลพิษในลอนดอน ภายใต้ชื่อ เขตมลพิษต่ำ หรือ Low Emission Zone คือการเก็บค่าธรรมเนียมรถดีเซลเก่าที่สร้างมลพิษในท้องถนนในกรุงลอนดอน มีผลตลอด 24 ชั่วโมง

“น่าสนใจมาก แต่ของไทยกลับกัน กลายเป็นรถเก่า ภาษีถูก ภาษีป้ายวงกลมลดตามอายุรถ รถยิ่งเก่า ภาษีป้ายยิ่งถูก แต่ Low Emission Zone กลายเป็นว่ารถเก่าจ่ายแพง เพราะเกิดมลพิษ แต่ต้องคุยกับกรมขนส่งทางบก คุยกับหน่วยงานต่าง ๆ กทม. เอง ไม่ได้ดูแลป้ายทะเบียนรถ แม้เราจะกำหนดโซน เราก็ไม่สามารถบังคับใช้”

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การปล่อยมลพิษในกรุงเทพมาจากรถเกิน 40% ทำได้โดยจำกัดโซน เปลี่ยนคุณภาพรถ ซึ่งอันนี้อยู่ในวาระแห่งชาติของแผนลดมลพิษ PM 2.5 อยู่แล้ว เช่น เปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เป็นมาตรฐาน ยูโร 5 ยูโร 6

“มหานครลอนดอนทำเองได้ เพราะ เขามี TfL (Transport for London หน่วยงานด้านจราจรและขนส่งใต้กำกับของมหานครลอนดอน) เขาคุมทุกอย่าง แต่ของเรา ถนน เป็นของ ตำรวจ จราจร จดทะเบียนรถ ก็เป็นของกรมการขนส่งทางบก รถเมล์เป็นของ ขสมก.”

อย่างไรก็ตาม ดร.ชัชชาติ เชื่อว่า จะมีความร่วมมือระดับชาติมากขึ้นในเรื่องนี้

“หน่วยสะกิด”

หลังการวิ่งออกกำลังตอนเช้า ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กลับเข้าที่พัก เปลี่ยนชุดแล้วไปนัดหมายแรกของวัน พบกับผู้บริหารของ Behavioural Insights Team หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “Nudge Unit” อาจแปลเป็นไทยว่า “หน่วยสะกิด” เป็นองค์กรระดับโลกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมที่มีฐานอยู่ในสหราชอาณาจักร ซึ่งสร้างและใช้ข้อมูลเชิงลึกเชิงพฤติกรรมเพื่อแจ้งนโยบายและปรับปรุงบริการสาธารณะ ตามทฤษฎีการสะกิด การใช้วิศวกรรมสังคม ตลอดจนเทคนิคทางจิตวิทยา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และการตลาด เพื่อชักชวนให้สาธารณชนทำตามนโยบายของรัฐ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านสังคมอันเกิดจากการที่สาธารณะไม่ปฏิบัติตามนโยบายและระเบียบ

“เราอยากปรับวิธี พฤติกรรม โดยเฉพาะ เรื่องคาร์บอนเครดิต เน็ตซีโร” ดร.ชัชชาติ กล่าว

เน็ตซีโร (Net Zero) หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยการสร้างสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศของโลก ด้วยวิธีการ “จำกัด” และ “กำจัด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ

มณฑ์ชนก มณีโชติ สถาบันวิทยาการจัดการ ทริส คอร์ปอเรชั่น อธิบายว่า คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้

อธิบายง่าย ๆ ก็คือ จำนวนคาร์บอน จากก๊าซต่าง ๆ ที่ทำให้ปฏิกิริยาเรือนกระจก ที่แต่ละองค์กรสามารถลดได้ต่อปี และหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้

Open Contract เพื่อความโปร่งใส

ระหว่างการประชุม-ดูงานในลอนดอนเพียง 2 ½ วัน ดร.ชัชชาติได้พบกับผู้แทนของ Open Data Institute และ London’s Chief Digital Officer เพื่อช่วยทำเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเรื่องการประมูลงานของ กทม. นวัตกรรม โดยได้มอบหมายให้ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.วัยสามสิบเศษ เป็นผู้ดูแลโครงการนี้

“เขาอยากให้เกิดทุกสัญญา แต่เริ่มที่เป็นหลักร้อยล้าน แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป สัญญาไม่ใช่เฉพาะของ กทม. แต่คงต้องเป็นของกรุงเทพธนาคมด้วย ไม่น่ายาก”

“ยินดีน้อมรับต่อเสียงวิจารณ์”

8 เดือนหลังกลายเป็นผู้สร้างสถิติใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กวาดไป 1,386,215 คะแนน ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดนับแต่ที่มีการเลือกตั้งมา ดร.ชัชชาติ เผชิญเสียงค่อนขอด เสียดสี ของฝั่งที่ไม่ชอบเขา อย่างต่อเนื่อง คนที่เคยเลือกเขา บางส่วน ทวงถามคำสัญญาที่ให้ไว้ ทั้งการแก้น้ำท่วม รถถติด ค่ารถไฟฟ้าแพง และฝุ่น PM 2.5

การมาเยือนลอนดอนไม่ได้ถูกประกาศล่วงหน้าผ่านทางสื่อของ กทม. แม้แต่สถานทูตอังกฤษเอง ก็ไม่เปิดเผยเรื่องนี้ ในขณะที่ กทม. และหลายเมืองในไทยเผชิญภาวะมลพิษฝุ่น PM 2.5 สูงติดอันดับโลก

“บอกท่าน เร่งสปีดหน่อยนะ ขอเนื้อ ๆ หน่อย” ผู้ใช้เฟซบุ๊กใน กทม. รายหนึ่งเขียนไว้

“ฝุ่นตามมาไหมครับที่ลอนดอน” ชายไทยที่อาศัยในลอนดอนโพสต์

ต่อเสียงวิจารณ์ทั้งหลาย ดร. ชัชชาติ ที่หลีกเลี่ยงการตอบโต้ต่อเสียงวิจารณ์ตั้งแต่การหาเสียงว่า “ยินดีน้อมรับ ต่อเสียงวิจารณ์ ตอนที่เรามาก็คิดหนักแล้ว เดิมคิดจะไม่มา แต่มาแล้วได้เจอคนระดับโลก ยากที่จะได้เจอ แต่ได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน พยายามใช้เวลาให้เป็นประโยชน์แล้วเอาแนวคิดกลับไปประยุกต์ใช้ให้ดีที่สุด น้อมรับทั้งคำชม คำติ”


ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว