รูหนอนสามารถเป็นเลนส์ความโน้มถ่วง ขยายภาพดวงดาวได้ถึงแสนเท่า

 

รูหนอน

Getty Images

ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนเสนอแนวคิดใหม่ ซึ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการใช้ “รูหนอน” (wormhole) มาช่วยงานทางดาราศาสตร์ โดยสามารถทำหน้าที่เป็นเลนส์ขยายภาพดวงดาวขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลและมีแสงสว่างน้อย ให้คมชัดขึ้นและขยายใหญ่กว่าเดิมได้ถึง 100,000 เท่า

แม้ที่ผ่านมาเรายังไม่พบรูหนอนที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ แต่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ได้ทำนายเอาไว้ว่า หากเกิดการบิดเบี้ยวโค้งงอของปริภูมิ-เวลา (space-time) อันเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วงมหาศาล รูหนอนหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สะพานไอน์สไตน์-โรเซน” (Einstein-Rosen bridge) จะสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเราอาจใช้รูหนอนเคลื่อนย้ายสสาร พลังงาน หรือข้อมูล ระหว่างตำแหน่งที่อยู่ห่างไกลกันมากในห้วงจักรวาลภายในชั่วพริบตา

ทีมนักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยจี๋โฉ่ว (Jishou University) ของจีน ตีพิมพ์เผยแพร่แนวคิดใช้รูหนอนเป็นเลนส์ความโน้มถ่วง (gravitational lens) เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพของกล้องโทรทรรศน์ ลงในวารสาร Physical Review D ฉบับล่าสุด หลังทำการคำนวณและใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ทดสอบความเป็นไปได้ดังกล่าว

ดร. เหลย ฮัว หลิว ผู้นำทีมวิจัยกล่าวอธิบายว่า รูหนอนนั้นจัดเป็นวัตถุมวลมากที่ทำให้เกิดเลนส์ความโน้มถ่วงขึ้นได้ แต่เนื่องจากมวลของรูหนอนนั้นมีอยู่น้อยเมื่อเทียบกับหลุมดำมวลยิ่งยวดหรือกาแล็กซี จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์อีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ไมโครเลนส์” (microlensing)

รูหนอน

Science Photo Library

ปรากฏการณ์ไมโครเลนส์จะเกิดขึ้น เมื่อวัตถุมวลมากขนาดย่อมเช่นดาวบางชนิดหรือรูหนอน เคลื่อนผ่านตัดหน้าดวงดาวขนาดเล็กและมืดสลัวที่อยู่ห่างไกลออกไป ทำให้กล้องโทรทรรศน์ที่พยายามสังเกตการณ์ดวงดาวในห้วงอวกาศลึก สามารถจะมองเห็นดวงดาวที่เล็กและมืดสลัวในตำแหน่งฉากหลังนั้นได้

การบิดโค้งของแสงเนื่องจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดาวหรือรูหนอนที่เคลื่อนผ่าน ทำให้ลำแสงจากดาวที่ถูกสังเกตการณ์หักเหเข้าหากันจนรวมหรือโฟกัสเป็นภาพขยาย 2-3 ภาพหรือมากกว่า โดยภาพนั้นจะมีความคมชัดเพิ่มขึ้นและมีความสว่างเจิดจ้ามากขึ้นตั้งแต่หลายสิบเท่าไปจนถึงหนึ่งแสนเท่า

ที่ผ่านมานักดาราศาสตร์ใช้ปรากฏการณ์ไมโครเลนส์ในการศึกษาดาวแคระประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นดาวแคระแดง ดาวแคระขาว หรือดาวแคระสีน้ำตาล ไปจนถึงการศึกษาดาวนิวตรอนที่อยู่ห่างไกลออกไป

อย่างไรก็ตาม ดร. เหลย ระบุด้วยว่า หากรูหนอนในธรรมชาติมีอยู่จริง มวลของมันจะเป็นมวลลบ (negative mass) ซึ่งทำให้ภาพขยายไมโครเลนส์จากรูหนอนปรากฏในทิศทางตรงข้ามกับภาพจากเลนส์ความโน้มถ่วงตามปกติ

“แม้เราจะยังไม่พบรูหนอนที่นำมาใช้งานทางดาราศาสตร์ได้ แต่เราก็อาจพลิกแพลงโดยใช้เทคนิคนี้มาเป็นเครื่องมือค้นหารูหนอนที่ซ่อนอยู่ในห้วงอวกาศได้ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ค้นหาปรากฏการณ์ไมโครเลนส์ในธรรมชาติแทน” ดร. เหลยกล่าวสรุป

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว