สมเด็จฮุน เซน ผู้นำเผด็จการกัมพูชาสั่งปิดสื่ออิสระแห่งสุดท้ายของประเทศ เพียงไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งทั่วไป
ผู้นำกัมพูชาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเกือบ 4 ทศวรรษ โพสต์ทางบัญชีเฟซบุ๊กเมื่อวันอาทิตย์ 12 ก.พ. ว่า VOD หรือ Voice of Democracy ได้เผยแพร่เรื่องราวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ “ทำร้าย” ชื่อเสียงของรัฐบาล
เขาปฏิเสธที่จะยอมรับคำขอโทษของสื่อนี้ แล้วสั่งยกเลิกใบอนุญาตในวันจันทร์ที่ 13 ก.พ.
ผู้สนับสนุนของ VOD กล่าวว่า การปิดตัวลงของสื่ออิสระนี้ เป็นผลกระทบครั้งใหญ่ต่อแวดวงสื่อมวลชนในประเทศที่มีเสรีภาพอย่างจำกัด
บรรดาหัวหน้าข่าวของ VOD ยืนยันกับบีบีซีว่าตำรวจมาถึงสำนักงานในกรุงพนมเปญในเช้าวันจันทร์ พร้อมกับคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการ ส่วนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบางรายก็ปิดกั้น การเข้าถึงเนื้อหาเก่าทางเว็บไซต์ทั้งภาษาเขมรและภาษาอังกฤษ
“ผู้คนต่างตกตะลึงกับเรื่องที่เกิดขึ้นและพยายามคิดกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป” อานันธ์ บาลิกา รองบรรณาธิการ กล่าวกับบีบีซี
“มันเป็นกรอบเวลาที่เร่งรัดมากตั้งแต่เมื่อเรื่องราวถูกเผยแพร่ไปจนถึงการระงับใบอนุญาต”
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ. ฮุน เซน กล่าวว่า เขากำลังปิด VOD หลังจากสื่อรายนี้เผยแพร่เรื่องราวเมื่อ 9 ก.พ. เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือของกัมพูชาต่อเหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกี โดยระบุว่า ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของนายกรัฐมนตรี และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพกัมพูชา ได้เซ็นอนุมัติความช่วยเหลือมูลค่า 100,000 ดอลลาร์ (3.38 ล้านบาท) ซึ่งโดยหลักการแล้ว ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะลงนามในแพคเกจความช่วยเหลือต่างประเทศได้
ฮุน เซน กล่าวว่า รายงานดังกล่าวทำลายชื่อเสียงของรัฐบาล และเรียกร้องให้มีการขอโทษ
- วัยรุ่นออทิสติกผู้ถูกจำคุกฐานหมิ่นรัฐบาลกัมพูชา
- ศาลรับฟ้องคดีชาวบ้านกัมพูชาฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก บ. มิตรผล
- การบินไทยไม่ให้สม รังสี นักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชา ขึ้นเครื่องจากปารีสไปกรุงเทพฯ
ศูนย์สื่ออิสระกัมพูชา (CCIM) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่บริหารงาน VOD ออกแถลงการณ์ว่า VOD อ้างคำพูดของโฆษกรัฐบาลในรายงานข่าวชิ้นนั้น และรู้สึกเสียใจกับความสับสนที่เกิดขึ้น
แต่ฮุนเซนกล่าวว่าคำตอบนั้น “รับไม่ได้” เขาสั่งให้ปิดสื่อในเวลา 10:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันจันทร์ (เวลาเดียวกับไทย) และยังบอกให้ผู้บริจาคจากต่างประเทศไปรับเงินคืนจากองค์กรนั้น
CCIM ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถานทูตตะวันตกหลายแห่ง ตลอดจนกลุ่มสิทธิและเสรีภาพสื่อ รวมทั้ง องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) และ Transparency International
VOD เผยแพร่และออกอากาศในภาษาเขมรและภาษาอังกฤษ หนึ่งในรายงานเด่นล่าสุด คือ กลอุบายเรื่องการค้าแรงงานทาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พันธกิจของ VOD ตามที่ระบุไว้ในเว็บไซต์คือ “ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การพัฒนาภาคเศรษฐกิจทั้งหมด และสภาพแวดล้อมที่เป็นอิสระและยั่งยืนสำหรับสื่อ”
ผู้สังเกตการณ์ในกัมพูชาหลายคนกล่าวว่า VOD เป็นองค์กรข่าวหลักที่เสนอเรื่องหนัก ๆ ที่สำคัญต่อประชาชน อยู่เพียงรายเดียว หลังจากการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกครั้งใหญ่ในปี 2560 และ 2561
การปิด VOD ขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นการลงคะแนนเสียงที่พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party) ของฮุน เซน ที่ครองเสียงข้างมากมานาน และน่าจะมีชัยอีกครั้ง
ฮุน เซน วัย 70 ปี เป็นหนึ่งในผู้นำเผด็จการที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก ปกครองกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2528 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 6 กลายเป็นประเทศที่มีรัฐบาลพรรคเดียว โดยบีบให้นักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนต้องติดคุกหรือถูกเนรเทศ ในหลายปีที่ผ่านมา
โจเซฟ เบเนดิกต์ นักวิจัยจากกลุ่มประชาสังคมระดับโลก CIVICUS กล่าวว่าการปิด VOD เป็นส่วนหนึ่งของ “การโจมตีพื้นที่สิทธิของพลเมืองและเสรีภาพสื่อ” อย่างต่อเนื่องในกัมพูชา
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 หนังสือพิมพ์แคมโบเดียเดลีก็ถูกบังคับให้ปิดเช่นกัน หลังจากที่รัฐบาลสั่งให้จ่ายภาษีมูลค่า 6.3 ล้านดอลลาร์ (213.4 ล้านบาท)
นายบาลิกา รองบรรณาธิการบอกกับบีบีซีว่าการปิด VOD เป็นเรื่องที่แทบจะ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน
“เราหวังว่าเรื่องนี้ จะมีทางออก เพื่อให้เราสามารถนำเสนอรายงานข่าวเรื่องการตรวจสอบผู้มีอำนาจได้ต่อไป ซึ่งเป็นวารสารศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อกัมพูชาในนิเวศสื่อที่ไม่ค่อยมีสิ่งนี้” เขากล่าว
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว