กษัตริย์ชาร์ลส์ : อังกฤษจะไม่นำเพชรโค-อิ-นัวร์ มาประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

Queen Mary's Crown

Royal Collection Trust สมเด็จพระราชินีคามิลลาจะทรงมงกุฏของควีนแมรีแทน

พระราชวังบัคกิงแฮมแถลงว่าจะไม่นำโค-อิ-นัวร์ เพชรโบราณที่เป็นข้อถกเถียงมาใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษก

สมเด็จพระราชินีคามิลลาจะทรงมงกุฏของควีนแมรีแทน ซึ่งมงกุฏนี้จะถูกนำออกจากหอคอยแห่งลอนดอนเพื่อปรับขนาดสำหรับพิธีราชาภิเษกในวันที่ 6 พฤษภาคม

เชื่อกันว่าเป็นครั้งแรกใน “ประวัติศาสตร์ในช่วงสั้น ๆ” ที่มงกุฎเก่าที่มีอยู่จะถูก “นำกลับมาใช้” สำหรับพิธีราชาภิเษก

เพชรหลายเม็ดจากบรรดาเครื่องประดับอัญมณีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะถูกเพิ่มเข้าไปด้วย

สมเด็จพระราชินีคามิลลาผู้ซึ่งจะได้รับการทรงมงกุฎเคียงข้างกษัตริย์ชาร์ลส์ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ต้องทรงยกเลิกพระราชกรณียกิจในสัปดาห์นี้ หลังจากทรงตรวจพบเชื้อโควิด

โค-อิ-นัวร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเพชรเจียระไนที่ใหญ่ที่สุดในโลก กรรมสิทธิ์การครอบครองเพชรเม็ดนี้กลายเป็นเรื่องถกเถียงกันมากมายมาโดยตลอด และมีความกังวลว่าจะเกิดข้อพิพาททางการทูตกับอินเดียหากนำเพชรเม็ดนี้ออกมาใช้อีก

อินเดียได้อ้างสิทธิ์หลายครั้งว่าเป็นเจ้าของโดยชอบธรรมของเพชรซึ่งใช้ในพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

พระราชวังบักกิงแฮมแถลงว่า คามิลลาจะทรงสวมมงกุฎควีนแมรี และอ้างว่าการนำมงกุฎกลับมาใช้ใหม่นั้นอยู่ใน “ด้วยเหตุผลด้านความยั่งยืนและความคุ้มค่า”

Queen Consort Camilla visits the S.T.O.R.M Family Centre, in London, 9 February 2023.

Reuters

เพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ มงกุฎจะถูกปรับใหม่โดยใช้เพชรจากคอลเลกชันเครื่องประดับส่วนพระองค์ โดยใช้เพชรที่เรียกว่าคัลลินแนนที่ 3 ที่ 4 และที่ 5

เพชรเหล่านี้ถูกนำมาจากเพชรคัลลิแนนที่ค้นพบในแอฟริกาใต้ เป็นเพชรที่สมเด็จพระราชินีนาถผู้ล่วงลับเคยนำมาประดับเป็นเข็มกลัด

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ที่ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์อังกฤษมานานกว่า 350 ปี ซึ่งมงกุฎนี้ถูกนำกลับมาจัดแสดงที่หอคอยแห่งลอนดอนหลังจากได้รับการปรับแต่งให้เหมาะกับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

มงกุฎนี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเพื่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ในปี 1661 เพื่อทดแทนมงกุฎก่อนหน้านี้ซึ่งถูกทำลายไปหลังจากสงครามกลางเมืองในอังกฤษ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดในระหว่างพิธีราชาภิเษก แต่พระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ได้เลือกใช้มงกุฎขนาดเล็กกว่าหรือสั่งทำขึ้นใหม่


หมายกำหนดการพระราชพิธีราชาภิเษก

วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม : พิธีราชาภิเษกในเวสมินสเตอร์แอบบีส์ ขบวนรถบรมราชาภิเษก ปรากฎพระองค์ที่ระเบียงพระราชวังบัคกิงแฮม

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม : คอนเสิร์ตและการแสดงแสงสีเสียงที่พระราชวังวินด์เซอร์ ปาร์ตี้มื้อกลางวันตามท้องถนน

วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม : วันหยุดพิเศษ กิจกรรม Big Help Out กระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการเป็นอาสาสมัครช่วยงานในชุมชน


โค-อิ-นัวร์เป็นเพชรที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอื้อฉาวมากมาย ตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมามีผู้ครอบครองผลัดเปลี่ยนหลายมือ ตั้งแต่ หลากเจ้าชายแห่งจักรวรรดิโมกุล หลายขุนศึกของอิหร่าน ผู้ปกครองมากหน้าแห่งอัฟกานิสถาน และมหาราชาหลายพระองค์ในปัญจาบ

เพชรขนาด 105 กะรัตเม็ดนี้ตกเป็นของจักรวรรดิอังกฤษเมื่อราวกลางศตวรรษที่ 19 และทุกวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร ประดับที่ยอดมงกุฏ ซึ่งจัดแสดงที่ทาวเวอร์ออฟลอนดอน คนอินเดียจำนวนมากเชื่อว่าอังกฤษโจรกรรมเพชรเม็ดนี้มาจากพวกเขา

แม้ว่าจะห่างไกลจากการเป็นเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดหรือไร้ตำหนิที่สุดในโลก แต่ประวัติศาสตร์ของ โค-อิ-นัวร์ ก็ทำให้เพชรเม็ดนี้กลายเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด

มีหลายทฤษฎีและตำนานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของหินก้อนนี้ที่ยืดเยื้อมานานหลายปี แต่นักประวัติศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่า นาดีร์ชาห์ ผู้ปกครองอิหร่าน ที่กรีฑาทัพบุกอินเดีย แล้วนำมาจากอินเดียในปี 1739

อัญมณีเม็ดนี้เปลี่ยนมือหลายครั้ง ก่อนที่จะได้รับการส่งต่อให้ผู้สำเร็จราชการอังกฤษในปี 1849 หลังจากการผนวกแคว้นปัญจาบ

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว