ส่องสถิติคุณแม่วัยใสน่ากังวลแค่ไหน ก่อนประกาศกฎใหม่ “เด็กท้องต้องได้เรียน”

 

ภาพประกอบ

Getty Images

ความพยายามในการจัดการกับปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในเชิงนโยบายของรัฐเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา

ใจความสำคัญของกฎกระทรวงนี้คือ การกำหนดให้สถานศึกษาที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษาตามความประสงค์ของนักเรียนหรือนักศึกษานั้น

ส่วนเหตุผลของการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันพบว่ามีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ถูกสถานศึกษาให้ย้ายสถานศึกษาโดยมิได้สมัครใจ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานศึกษาเพื่อเป็นการคุ้มครองวัยรุ่นซึ่งตั้งครรภ์ขณะที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาให้มีสิทธิได้รับการศึกษาในสถานศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่องตามความประสงค์ของนักเรียนหรือนักศึกษานั้น

นั่นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระบบการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อทัศนคติของบุคลากรทางศึกษาและบุคคลในครอบครัวให้มีจิตสำนึกในการเคารพสิทธิทางการศึกษาของนักเรียน และยังจะนำไปสู่การสร้างระบบดูแลและเหมาะสมอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ADVERTISMENT

ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษา ก่อนหน้านี้มีนักเรียนหญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีทางเลือกจำต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน

ภาพประกอบ

ADVERTISMENT
Getty Images

อย่างไรก็ตาม ระยะหลัง ๆ อัตราการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นหรือท้องไม่พร้อมมีแนวโน้มลดลงจากอดีตที่ถือว่าเป็นปัญหาที่น่ากังวลมาก

เว็บไซต์กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยแพร่การบรรยายพิเศษของ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และกรรมการบริหาร กสศ. ถึงปัญหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2565 ว่า เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ปัญหาพ่อแม่วัยใสถือเป็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากจากสถิติมีตัวเลขสูงกว่า 120,000 คน

ในจำนวนนั้นเป็นเด็กที่มีอายุ 10-14 ปี กว่า 3,700 คน และเป็นเด็กอายุ 15-19 ปีจำนวนกว่า 128,000 คน

10 ปีผ่านมามีแนวโน้มลดลง

นักวิชาการรายนี้ได้ยกตัวอย่างผลการสำรวจเมื่อปี 2563 พบว่าตัวเลขได้ลดลงมาตามลำดับ จนถึงขณะนี้ตัวเลขคุณแม่วัยใสอยู่ที่ประมาณ 56,000 คน โดยเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 10 – 14 ปี จาก 3,700 กว่าคน ลดเหลือ 1,783 คน โดยตั้งเป้าว่า เด็กในช่วงอายุ 10 – 14 ปี ที่ไม่ควรมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ให้เหลือเพียง 0.5 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ส่วนในช่วงวัย 15 – 19 ปี ต้องลดลงมาให้เหลือ 28.7 และเป้าหมายคือ 25 ต่อประชากร 1,000 คน

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานเพื่อลดอัตราการท้องไม่พร้อมอย่างอย่างต่อเนื่องสามารถทำให้อัตราดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวแล้ว และยังได้กำหนดให้มีเป้าหมายใหม่คือ ให้อัตราการตั้งครรภ์ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี อยู่ที่ 15 คน ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ภายในปี 2570 และยังคงค่าเป้าหมาย อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี ไว้ที่ ไม่เกิน 0.5 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน

เปิดข้อมูลสถิติสาธารณสุขย้อนหลัง 3 ปี

  • ปี 2564 อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี อยู่ที่ 25 ต่อ 1,000 ประชากร
  • ปี 2563 อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี อยู่ที่ 28.7 ต่อ 1,000 ประชากร
  • ปี 2562 อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี อยู่ที่ 31 ต่อ 1,000 ประชากร
  • ปี 2564 อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี อยู่ที่ 0.9 ต่อ 1,000 ประชากร
  • ปี 2563 อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี อยู่ที่ 8.1% หรือ 0.81 ต่อ 1,000 ประชากร
  • ปี 2562 อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี อยู่ที่ 8.5 % หรือ 0.85 ต่อ 1,000 ประชากร

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ในกลุ่มที่ตั้งท้องไม่พร้อมยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาในโรงเรียนปี 2564 อยู่ที่ 47.5 % เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีอยู่ที่ 28% ดังนั้นจึงเป็นแนวโน้มที่ดีที่สถานศึกษาสามารถรักษาจำนวนนักเรียนในระบบได้แม้ว่าจะอยู่ในภาวะตั้งครรภ์

สถานการณ์พื้นที่ห่างไกลยังน่ากังวล

แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงมีบางพื้นที่ที่ยังคงเป็นที่น่ากังวล

นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อเดือน ก.ค. 2565 ว่า ยังมีบางพื้นที่ที่ยังมีปัญหา คือ พื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงสถานพยาบาล กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น พื้นที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุที่ยังพบว่ามีปัญหาท้องไม่พร้อม คือ การป้องกัน หรือการเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิด ซึ่งการฝังยาคุมถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ แต่มีจำนวนมากที่เลือกใช้การนับวันตกไข่, หลั่งนอก ซึ่งมีโอกาสพลาดสูง

ขณะที่การใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้น แต่กลับไม่ได้ใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดปัญหาท้องไม่พร้อมตามมา

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว