

- โรงเรียนเอกชนวิกฤต ส่อปิดกิจการอีกหลายแห่ง กรุงเทพฯ หนักสุด
- อย.สั่งอายัดอาหารนำเข้าจากจีน 124 รายการ 7 ร้านจำหน่ายใน กทม.
- เปิดที่มาประเพณีเข็นรถพระที่นั่งวชิราวุธวิทยาลัย จากรัชกาลที่ 6 ถึงปัจจุบัน
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) สามารถตรวจจับและบันทึกภาพรังสีอินฟราเรดของกาแล็กซีอายุเก่าแก่กว่า 13,500 ล้านปีได้ทั้งสิ้น 6 แห่ง โดยกาแล็กซีเหล่านี้มีมวลมหาศาลและมีขนาดใหญ่มหึมายิ่งกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่ถือกำเนิดหลังเหตุการณ์บิ๊กแบงผ่านไปได้ไม่นาน
นักดาราศาสตร์เรียกกาแล็กซีเหล่านี้ว่า “ตัวทำลายเอกภพ” (universe breaker) เพราะลักษณะที่แปลกประหลาดของมันผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นตามขั้นตอนวิวัฒนาการของเอกภพ ซึ่งทฤษฎีแบบจำลองจักรวาลวิทยาในปัจจุบันได้ทำนายเอาไว้
กาแล็กซีทั้งหกที่กล้อง JWST ค้นพบ ถือกำเนิดขึ้นหลังเหตุการณ์บิ๊กแบงหรือการขยายตัวครั้งใหญ่ของจักรวาลเพียง 500-700 ล้านปี แต่กลับเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จนมีมวลมหาศาลหลายหมื่นหรือหลายแสนล้านเท่าของดวงอาทิตย์ ทำให้พวกมันกลายเป็นดาราจักรขนาดใหญ่มหึมาเท่ากับดาราจักรรุ่นหลังอย่างกาแล็กซีทางช้างเผือกเลยทีเดียว
- กล้องเจมส์เว็บบ์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะคล้ายโลก
- ใจกลางหลุมดำอาจเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานมืด
- รูหนอนสามารถเป็นเลนส์ความโน้มถ่วง ขยายภาพดวงดาวได้แสนเท่า
ผศ.ดร. โจเอล เลฮา นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตตของสหรัฐฯ หนึ่งในผู้นำทีมวิจัยซึ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 22 ก.พ. ระบุว่า หากเราพิจารณาจากมุมมองของแบบจำลองจักรวาลวิทยาในปัจจุบันแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่กาแล็กซีซึ่งก่อตัวขึ้นขณะที่เอกภพยังมีอายุเพียง 3% ของทุกวันนี้ จะมีมวลมากและมีขนาดใหญ่เช่นนั้น
“พวกมันมีมวลมหาศาลเกินคาด ทั้งที่ช่วงไม่กี่ร้อยล้านปีหลังเหตุการณ์บิ๊กแบงควรจะมีแต่กาแล็กซีเกิดใหม่ขนาดเล็กเท่านั้น” ผศ.ดร. เลฮากล่าว “และหากการค้นพบในครั้งนี้ไม่ผิดพลาด เราอาจต้องทบทวนหลักทฤษฎีของแบบจำลองจักรวาลวิทยาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเสียใหม่ เพื่อให้ทราบว่าแท้จริงแล้วกาแล็กซีแห่งแรกก่อตัวขึ้นจากกลุ่มเมฆฝุ่นและก๊าซหลังเหตุการณ์บิ๊กแบงได้อย่างไร”

หลังจากนี้ทีมผู้วิจัยจะตรวจสอบยืนยันผลการศึกษาอีกครั้ง โดยใช้กล้อง JWST บันทึกแสงจากกาแล็กซีโบราณทั้งหกในช่วงความยาวคลื่นต่าง ๆ หรือสเปกตรัม ซึ่งข้อมูลที่ได้จะบอกถึงมวลและระยะห่างจากโลกของกาแล็กซีประหลาดได้ละเอียดแม่นยำขึ้น
ดร. เอ็มมา แชปแมน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมของสหราชอาณาจักร กล่าวแสดงความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้ว่า
“การค้นพบกาแล็กซีขนาดยักษ์ที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังเหตุการณ์บิ๊กแบง แสดงว่ายุคมืดที่จักรวาลยังไร้ดวงดาวนั้น อาจไม่ได้มืดสนิทเสียทีเดียว เอกภพในยุคแรกเริ่มอาจเต็มไปด้วยการก่อตัวของดาวฤกษ์และดาราจักร ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักดาราศาสตร์เคยประเมินเอาไว้”
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว