รัสเซีย ยูเครน : พิสูจน์ทฤษฎีสมคบคิดที่อ้างว่าสงครามยูเครนไม่ใช่เรื่องจริง

 

US President Joe Biden (r) walks with Ukrainian President Volodymyr Zelensky (C) at St. Michael's Golden-Domed Cathedral during an unannounced visit, in Kyiv on February 20, 2023

Getty Images
โพสต์ข่าวปลอมอ้างว่า นายมักซิม โดเนตส์ (ซ้าย) บอดี้การ์ดส่วนตัวของ ปธน.โวโลดีมีร์ เซเลนสกี คือ “สแตนด์อิน” ของผู้นำยูเครน

วาระครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียยกทัพเข้ารุกรานยูเครนทำให้ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับสงครามนี้พุ่งสูงขึ้นในโซเชียลมีเดีย โดยที่บางโพสต์มียอดการเข้าไปมีส่วนร่วมจำนวนหลายล้าน

บัญชีโซเชียลมีเดียของฝ่ายนิยมขวาในสหรัฐฯ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากได้โพสต์ข้อความไร้หลักฐานอ้างอิงต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาว่าสงครามในยูเครนอาจเป็นเรื่องหลอกลวงที่สื่อมวลชนและรัฐบาลชาติตะวันตกอยู่เบื้องหลัง

ผู้โพสต์ข้อความลักษณะนี้และได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง รวมถึงบรรดาเจ้าของบัญชีที่เคยถูกทวิตเตอร์ระงับการใช้งาน แต่ได้รับอนุญาตให้กลับมาใช้งานอีกครั้งหลังจากอีลอน มัสต์ เข้าซื้อกิจการ

สงครามยูเครนไม่ใช่เรื่องหลอกลวง

หนึ่งในข้อมูลเท็จที่กำลังได้รับความสนใจทางทวิตเตอร์และช่องทางอื่น ๆ คือการอ้างว่าสงครามในยูเครนเป็นเรื่องโกหก

บัญชีโซเชียลมีเดียของฝ่ายนิยมขวาชื่อดังในสหรัฐฯ บางรายอ้างว่า ภาพการสู้รบในแนวหน้าที่มีไม่เพียงพอนั้น คือหลักฐานที่พิสูจน์ว่าสงครามครั้งนี้เป็นเรื่องหลอกลวง

ผู้แสดงความเห็นทางการเมืองฝ่ายขวารายหนึ่งระบุในโพสต์ที่กำลังแพร่หลายทางโซเชียลมีเดียว่า “การไม่มีวิดีโอการสู้รบที่เพียงพอ” คือ “เครื่องบ่งชี้ว่านี่เป็นเรื่องหลอกลวง”

ส่วนอินฟลูเอนเซอร์ทางทวิตเตอร์อีกรายที่มีผู้ติดตาม 1.4 ล้านคนอ้างว่า “ไม่มีคลิปวิดีโอ” และ “ไม่มีข่าวที่ลงรายละเอียด” เกี่ยวกับสงครามครั้งนี้

ในเวลาต่อมา โพสต์ดังกล่าวได้ถูกแชร์โดยนายไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่า “ผมขอท้าใครก็ตามที่บอกว่าเขาพูดผิด”

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงมีการบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับสงครามในยูเครนเอาไว้มากมาย

นอกจากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ยังมีการบันทึกวิดีโอและภาพถ่ายการสู้รบในแนวหน้าเอาไว้จำนวนมากโดยบีบีซี และสื่อสำนักอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งมีกระบวนการพิสูจน์ความจริงของเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสงครามครั้งนี้

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และองค์กรระดับโลกที่ยืนยันว่าสงครามได้เกิดขึ้นจริง

ตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น โซเชียลมีเดียก็เต็มไปด้วยคลิปวิดีโอสงคราม ซึ่งหลายชิ้นได้รับการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นของจริงจากผู้สื่อข่าวมืออาชีพ

ภาพตึกสูงที่ได้รับความเสียหายในเคียฟไม่ใช่ของปลอม

สองวันหลังจากรัสเซียบุกโจมตี คลิปของอะพาร์ตเมนต์สูงที่ถูกขีปนาวุธรัสเซียยิงถล่มเป็นรูขนาดใหญ่ได้ถูกส่งต่อกันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ผู้สื่อข่าวได้รายงานเหตุการณ์หลังการโจมตีดังกล่าวโดยละเอียด

แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ภาพของอาคารหลังนี้ ซึ่งได้รับการซ่อมแซมแล้วได้ปรากฏขึ้นในโซเชียลมีเดียอีกครั้ง

ภาพดังกล่าวได้ถูกนำไปอ้างว่าอาคารหลังนี้ไม่เคยถูกโจมตีมาก่อน และสงครามเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะบูรณะอาคารให้กลับมาเป็นดังเดิมได้ในภาวะที่สงครามกำลังดำเนินอยู่

ผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ฝ่ายนิยมขวาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นพวกต่อต้านวัคซีนด้วย และเคยถูกระงับการใช้งานทวิตเตอร์มาแล้ว คือหนึ่งในผู้แชร์คำกล่าวอ้างนี้

อย่างไรก็ตาม นอกจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธที่เกิดขึ้นเป็นประจำแล้ว กรุงเคียฟไม่ใช่พื้นที่แนวหน้าการสู้รบที่ดุเดือดมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 หลังจากทหารรัสเซียถอนทัพออกจากพื้นที่โดยรอบเมืองหลวงแห่งนี้ แล้วมุ่งหน้าสู่สมรภูมิทางภาคตะวันออกแทน

กระบวนการซ่อมแซมตึกดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีก่อน ซึ่งสื่อสำนักต่าง ๆ ของยูเครนได้รายงานข่าวนี้ อีกทั้งมีการเผยแพร่ภาพของตึกที่อยู่ระหว่างการบูรณะตลอดช่วงฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา

คลิปศพขยับได้กลับมาอีกครั้ง

คลิปวิดีโอที่อ้างว่าเป็นภาพผู้สื่อข่าวยูเครนยืนอยู่ด้านหน้าถุงบรรจุศพของเหยื่อสงคราม โดยที่ศพหนึ่ง “ขยับตัวได้” นั้น มีผู้เข้าชมหลายล้านครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

คลิปดังกล่าวได้นำไปสู่คำกล่าวอ้างที่ว่า “นี่คือหลักฐาน” ที่แสดงให้เห็นว่ามีการจ้างนักแสดงมาสวมบทคนตายเพื่อสนับสนุนวาทกรรมของชาติตะวันตกเรื่องสงครามในยูเครน

โพสต์ของฝ่ายนิยมขวารายหนึ่งที่ถูกแชร์อย่างกว้างขวางบรรยายคลิปดังกล่าวว่า “หยุดขยับเขยื้อน คุณต้องเล่นเป็นคนตาย! ทหารไอโอ ?”

วิดีโอนี้ได้ถูกอินฟลูเอนเซอร์ฝ่ายขวาอีกหลายคนนำไปแชร์ทางเฟซบุ๊กและติ๊กตอก

ในความจริง วิดีโอดังกล่าวถูกนำมาจากข่าวของหนังสือพิมพ์ Österreich ในออสเตรียที่รายงานข่าวการประท้วงด้านสภาพภูมิอากาศในกรุงเวียนนาช่วงต้นเดือน ก.พ. 2022 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่รัสเซียจะเข้ารุกรานยูเครน โดยผู้อยู่ในถุงบรรจุศพนั้นคือกลุ่มนักกิจกรรมที่ต้องการสื่อถึงอันตรายของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีต่อชีวิตมนุษย์

นอกจากวิดีโอนี้จะถูกนำไปอ้างผิด ๆ เรื่องสงครามในยูเครน แต่ก่อนหน้านี้ยังเคยถูกนำไปอ้างว่าเป็นภาพผู้เสียชีวิตจากโควิดด้วย

“สแตนด์อิน” ของเซเลนสกี

ภาพและวิดีโอของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ที่ถูกแชร์ต่อกันอย่างแพร่หลายทางออนไลน์ถูกนำไปอ้างว่าเป็นภาพถ่ายได้ “โดยบังเอิญ” ที่เผยให้เห็นว่าผู้นำยูเครนมี “สแตนด์อิน” หรือนักแสดงตัวแทน

ข้อกล่าวหาหนึ่งซึ่งมีผู้ชมหลายล้านครั้งระบุว่า ประธานาธิบดีเซเลนสกีมีสแตนด์อิน “อย่างลับ ๆ” ซึ่งถูกสถานีโทรทัศน์โปแลนด์ถ่ายได้โดยบังเอิญ และเผยให้เห็นว่าเขาสวมเครื่องแต่งกายแบบเดียวกับนายเซเลนสกี

ส่วนโพสต์อื่น ๆ เป็นภาพของชายคนเดียวกันปรากฏในฉากหลัง ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางเยือนกรุงเคียฟเมื่อสัปดาห์ก่อน

อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วชายคนดังกล่าวคือนายมักซิม โดเนตส์ บอดี้การ์ดส่วนตัวของประธานาธิบดียูเครน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายโดเนตส์ ทำงานเป็นหัวหน้าหน่วยอารักขาประธานาธิบดีเซเลนสกีมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2019

ภาพที่เขาติดตามคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้นำยูเครนในที่สาธารณะต่าง ๆ ปรากฏอยู่ดาษดื่นในอินเทอร์เน็ต

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว