กษัตริย์ชาร์ลส์ : อังกฤษบูรณะบัลลังก์จากยุคกลาง เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

Coronation chair

PA Media
คริสตา เบลสส์ลีย์ ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์วัตถุโบราณระบุว่า บัลลังก์จากยุคกลางอายุ 700 ปีนี้อยู่ในสภาพที่ “เปราะบางมาก”

“บัลลังก์ราชาภิเษก” ที่สร้างขึ้นสมัยศตวรรษที่ 13 กำลังได้รับการบูรณะเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม ในวันที่ 6 พ.ค.นี้

บัลลังก์นี้คือเครื่องประกอบสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์และราชินีแทบทุกพระองค์ตลอดประวัติศาสตร์อังกฤษ โดยมีการใช้ครั้งล่าสุดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง เมื่อปี 1953

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า บัลลังก์จากยุคกลางอายุ 700 ปีนี้ อยู่ในสภาพที่ “เปราะบางมาก” และจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมด้วยวิธีพิเศษเพื่อให้มีสภาพดีและปลอดภัยสำหรับใช้ในพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้

คริสตา เบลสส์ลีย์ นักอนุรักษ์ประจำเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีนี้ ระบุว่า บัลลังก์คือ “งานศิลปะที่มีเอกลักษณ์” และเป็น “เฟอร์นิเจอร์เก่าแก่ที่สุดที่ยังถูกใช้งานในจุดประสงค์ดั้งเดิม”

ประวัติศาสตร์ของบัลลังก์

Coronation chair

Duncan Stone
กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม จะประทับที่บัลลังก์นี้ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 6 พ.ค.

บัลลังก์ราชาภิเษกสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี 1272-1307 และถูกใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์อังกฤษสืบมานับแต่นั้น

เริ่มแรกบัลลังก์นี้ปิดด้วยแผ่นทองคำและกระจกสี โดยมีลวดลายต่าง ๆ ประดับโดยรอบ เช่น สัตว์ ๆ นก ดอกไม้ ใบไม้ และรูปนักบุญ

บริเวณใต้พระแท่นที่ประทับมีช่องว่างสำหรับใส่ “ศิลาแห่งสคูน” (The Stone of Scone ) ซึ่งเป็นพระแท่นศิลาราชาภิเษกของกษัตริย์สกอตแลนด์ที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงยึดมาหลังจากการพิชิตแผ่นดินสกอตแลนด์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ากษัตริย์อังกฤษทรงเป็นเจ้าเหนือหัวแห่งสกอตแลนด์นั่นเอง

ศิลาแห่งสคูนถูกส่งกลับคืนสู่สกอตแลนด์ในปี 1996 และจะถูกนำมายังอังกฤษเป็นการชั่วคราวเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้

การบูรณะ

Coronation chair

Duncan Stone
บัลลังก์เต็มไปด้วยร่องรอยการสลักและขีดเขียนของผู้คน

เบลสส์ลีย์ ระบุว่าการบูรณะที่เธอกำลังทำอยู่นี้มีเป้าหมายสำคัญในการทำความสะอาดและแปะแผ่นทองคำประดับตัวบัลลังก์ โดยดำเนินการมาได้ 4 เดือนแล้ว และยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ เนื่องจากบัลลังก์ผ่านร้อนผ่านหนาว และการถูกทำลายตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา

เธออธิบายว่า บัลลังก์นี้ไม่ใช่ “วัตถุในพิพิธภัณฑ์” จึงผ่านมือผู้คนและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย โดยในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 บัลลังก์ได้ถูกนำออกแสดงให้นักท่องเที่ยวชมที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์

ด้วยเหตุนี้ จึงมีร่องรอยสลักและขีดเขียนของบรรดาเด็กและนักท่องเที่ยวปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบัน โดยรอยขีดเขียนหนึ่งระบุว่า “พี. แอ็บบ็อต นอนอยู่บนบังลังก์นี้ วันที่ 5-6 กรกฎาคม 1800”

นอกจากนี้ บังลังก็ยังเคยได้รับความกระทบกระเทือนจากระเบิดในช่วงการประท้วงเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของสตรีในปี 1914

Coronation of Queen Elizabeth

Universal History Archive
มีการใช้บัลลังก์นี้ครั้งล่าสุดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง เมื่อปี 1953

เบลสส์ลีย์ระบุว่า การบูรณะมีความยากลำบากไม่น้อย เพราะบัลลังก์มีความเปราะบางต่อสภาพอากาศและน้ำ “หากความชื้นเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย เนื้อไม้ก็จะเคลื่อนตัว”

ดร.จอร์จ กรอสส์ จากคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ผู้ร่วมโครงการวิจัยประวัติศาสตร์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกระบุว่า ในพระราชพิธียุคหลัง ๆ ส่วนพนักพิงของบัลลังก์จะถูกบ่อยให้เปลือยเปล่า แต่ก่อนหน้านี้ในสมัยราชวงศ์ทิวดอร์และราชวงศ์สจวตเคยมีการประดับด้วยภูษาทองคำ

เขาชี้ว่า นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจกษัตริย์อังกฤษแล้ว บัลลังก์โบราณนี้ยังมีองค์ประกอบในเชิงศาสนา และมีสถานะอันศักดิ์สิทธิ์

ขณะนี้เริ่มมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามบ้างแล้ว เช่น จะมีเพลงสดุดีที่แต่งขึ้นใหม่ 12 เพลงโดยแอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์ นักประพันธ์เพลงชื่อดังชาวอังกฤษ

คาดว่าพระราชพิธีที่จะจัดขึ้นจะกินระยะเวลาสั้นกว่า และมีผู้ร่วมงานที่มีความหลากหลายมากกว่าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเมื่อปี 1953 โดยมีแขกประมาณ 2,000 คน น้อยกว่าครั้งก่อนหน้าที่มีถึง 8,000 คน

นอกจากนี้ สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมยังแถลงว่าจะไม่นำ “เพชรโคอินัวร์” ที่อื้อฉาวมาใช้ในพิธี โดยสมเด็จพระราชินีคามิลลาจะทรงมงกุฏของสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัครมเหสีในพระเจ้าจอร์จที่ 5 แทน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับเชิญให้ร่วมพิธี ซึ่งหลายฝ่ายกำลังจับตาว่า เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาจะได้รับเชิญหรือไม่

หมายกำหนดการพระราชพิธีราชาภิเษก

วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม : พิธีราชาภิเษกในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์, ขบวนแห่ราชรถบรมราชาภิเษก, การเสด็จออกสีหบัญชรที่พระราชวังบักกิงแฮม

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม : คอนเสิร์ตและการแสดงแสงสีเสียงที่พระราชวังวินด์เซอร์ งานเลี้ยงมื้อกลางวันตามท้องถนน

วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม : วันหยุดพิเศษ กิจกรรม Big Help Out กระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยงานในชุมชน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว