สาวรับใช้ชาวอินโดนีเซียที่ถูกทรมาน ต่อสู้เพื่อเอาผิดนายจ้างชาวมาเลเซีย

 

เมเรียนเจ คาบู ร้องไห้ ขณะเล่าถึงเรื่องราวที่เธอพบเจอในกรุงกัวลาลัมเปอร์

BBC / Dwiki Marta
เมเรียนเจ คาบู ร้องไห้ ขณะเล่าถึงเรื่องราวที่เธอพบเจอในกรุงกัวลาลัมเปอร์

“ช่วยฉันด้วย ฉันกำลังถูกนายจ้างทรมาน” เมเรียนเจ คาบู เขียนข้อความในกระดาษ “ฉันถูกทำร้ายจนโชกเลือดทุกวัน ช่วยฉันที!”

จากนั้นเธอก็รีบพับกระดาษนี้และโยนออกไปนอกประตูเหล็กที่ล็อกอยู่ของอะพาร์ตเมนต์ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย ซึ่งเธอทำงานเป็นสาวใช้ในบ้านอยู่ที่นั่น

ผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินผ่านมาเก็บกระดาษนี้ไป เมื่อเธอได้อ่านข้อความนี้ เธอก็นำมันไปให้กับตำรวจที่เกษียณอายุแล้วคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแฟลตแห่งเดียวกันทันที “ถ้าเธอยังอยู่ที่นั่น เธอจะต้องตายแน่ ๆ” เขากล่าวในเวลาต่อมา

ในวันเดียวกันนั้นคือ 20 ธ.ค. 2014 ตำรวจมาเลเซียได้มาเคาะประตูอะพาร์ตเมนต์ที่มาเรียนเจ อาศัยอยู่ ซึ่งเธอไม่ได้ออกไปไหนเลยมานาน 8 เดือนแล้ว

“ฉันรู้สึกเหมือนกับกำลังจะตาย” เธอเล่าเหตุการณ์ขณะที่เธอเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ “พวกเขาบอกว่า ‘ไม่ต้องกลัว เราอยู่ที่นี่แล้ว’ ตอนนั้น ฉันรู้สึกเข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้ง ฉันรู้สึกเหมือนกับว่า ฉันหายใจได้อีกครั้ง เจ้าหน้าที่เรียกฉันเข้าไปใกล้ ๆ และฉันได้เล่าความจริงให้กับพวกเขาฟัง”

เรื่องนี้มีเนื้อหาที่อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่สบายใจ

9 ปีต่อมา เมเรียนเจ ยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรม คดีของเธอซึ่งไม่ได้มีความพิเศษอะไร เผยให้เห็นว่า แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารมีความเปราะบางมากแค่ไหน และมักจะไม่ได้รับความยุติธรรม ต่อให้คนเหล่านั้นรอดชีวิตมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองก็ตาม

ในปี 2015 ตำรวจตั้งข้อหา อง ซู ผิง เซรีน นายจ้างของเมเรียนเจ ว่า ทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส, พยายามฆ่า, ค้ามนุษย์ และละเมิดกฎหมายเข้าเมือง แต่เธอไม่ยอมรับสารภาพผิด

เมเรียนเจได้ให้การต่อศาลก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัวของเธอ จากนั้น 2 ปีต่อมา เธอได้รับข่าวจากสถานทูตอินโดนีเซียว่า อัยการไม่สั่งฟ้องคดีของเธอโดยอ้างว่า หลักฐานไม่เพียงพอ

สามีของเมเรียนเจบอกว่า เขาจำเธอไม่ได้ ตอนที่เธอได้รับการช่วยชีวิต

BBC / Dwiki Marta
สามีของเมเรียนเจบอกว่า เขาจำเธอไม่ได้ ตอนที่เธอได้รับการช่วยชีวิต

“นายจ้างยังคงลอยนวล ความยุติธรรมจะอยู่ที่ไหน” เฮอร์มาโน ทูตอินโดนีเซียประจำมาเลเซียตั้งคำถาม เขาได้พบกับเมเรียนเจในเดือน ต.ค.

สถานทูตได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับเธอ และโน้มน้าวให้มีการดำเนินคดีนายจ้างของเมเรียนเจต่อไป

“อะไรคือเหตุผลของความล่าช้า เวลา 5 ปีไม่พอหรือ ถ้าพวกเราไม่ถามต่อ มันก็จะถูกลืม โดยเฉพาะเมื่อเมเรียนเจกลับไปบ้านแล้ว”

ไม่แน่ชัดว่า เหตุใดมีการดำเนินคดีคดีล่วงละเมิดในมาเลเซียเพียงไม่กี่คดีเท่านั้น แต่บรรดานักเคลื่อนไหวชี้ไปที่วัฒนธรรมการเห็นแรงงานต่างด้าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซียว่า เป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่คู่ควรที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในระดับเดียวกับชาวมาเลเซีย

กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียกล่าวกับบีบีซีว่า “พวกเขาจะทำให้มั่นใจว่า จะเกิดความยุติธรรมตามกฎหมายขึ้น”

ในปี 2018 ศาลอินโดนีเซียจำคุกชาย 2 คนที่ลักลอบพาเมเรียนเจเข้าเมือง ผู้พิพากษาตัดสินว่า เธอถูกส่งไปทำงานในมาเลเซีย “ในฐานะคนรับใช้ของ อง ซู ผิง เซรีน ที่ทรมานเธอ ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บสาหัส” ซึ่งต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

มีการบรรยายถึงความทุกข์ทรมานของเมเรียนเจอย่างละเอียดในคำพิพากษา ซึ่งระบุว่า นายจ้างได้ทุบตีเธออย่างรุนแรง ทำให้จมูกของเธอหักในการทุบตีครั้งหนึ่ง และมักจะทารุณเธอด้วยเตารีดร้อน, แหนบ, ค้อน, กระบอง และคีม

8 ปีผ่านไป ร่างกายของเธอยังคงมีร่องรอยของการทรมานนี้ มีแผลเป็นลึกที่ริมฝีปากบนของเธอ ฟันของเธอหัก 4 ซี่ และหูข้างหนึ่งผิดรูป

คาร์เวียส สามีของเธอ บอกว่า เขาจำเธอไม่ได้หลังจากที่เธอได้รับการช่วยชีวิต “ผมตกใจมากตอนที่พวกเขาให้ผมดูรูปของเมรีที่โรงพยาบาล”

ปีที่แล้ว มาเลเซียและอินโดนีเซียได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลงว่า จะปรับปรุงเงื่อนไขของคนทำงานในบ้านชาวอินโดนีเซียในประเทศมาเลเซีย ขณะนี้อินโดนีเซียกำลังโน้มน้าวให้มีการกลับมาดำเนินคดีนายจ้างของเมเรียนเจต่อ

แรงงานที่ไม่มีเอกสารอย่างเธอมักจะตกเป็นเหยื่อ เพราะหนังสือเดินทางถูกยึดไป และพวกเธอต้องอาศัยอยู่กับนายจ้างในต่างประเทศ ทำให้พวกเธอมีทางเหลือไม่กี่ทางในการขอความช่วยเหลือ

“ทุกคนจำเป็นต้องรับผิดชอบมากขึ้น” ฮันนาห์ โยห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของมาเลเซีย กล่าว เธอต้องการเห็นการยุติสิ่งที่เธอเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมของการนิ่งเฉยต่อการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นกับคนรับใช้ภายในบ้านในมาเลเซีย

กระทรวงแรงงานของมาเลเซีย ระบุว่า มีคนทำงานรับใช้ภายในบ้านชาวอินโดนีเซียในมาเลเซียมากกว่า 63,000 คน แต่ไม่ได้รวมถึงแรงงานที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งไม่มีการประเมินที่ชัดเจนว่า มีจำนวนเท่าไหร่ สถานทูตอินโดนีเซียระบุว่า ได้รับการแจ้งเหตุการล่วงละเมิดแล้วเกือบ 500 กรณีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ตัวเลขนี้เป็นเพียง “ยอดของภูเขาน้ำแข็ง” เฮอร์มาโน ทูตอินโดนีเซียประจำมาเลเซียกล่าว เพราะมีหลายกรณีที่ไม่มีการแจ้งโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรอง

“ผมไม่รู้ว่า เรื่องนี้จะยุติเมื่อไหร่ สิ่งที่เรารู้คือ มีเหยื่อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากการทรมาน การไม่ได้รับเงินเดือน และอาชญากรรมอื่น ๆ”

สถานทูตไม่ได้ติดตามว่า มีกี่รายที่ลงเอยด้วยการถูกดำเนินคดี แต่เคยมีคำพิพากษาคดีที่เป็นที่รู้จักหลายคดี ในปี 2008 หญิงชาวมาเลเซียคนหนึ่งถูกจำคุก 18 ปี จากการทรมานคนรับใช้ชาวอินโดนีเซียของเธอ 6 ปีต่อมา คู่สามีภรรยาคู่หนึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตจากการฆาตกรรมคนรับใช้ภายในบ้านชาวอินโดนีเซียของพวกเขา

“ฉันจะสู้จนกว่าจะตาย”

“ฉันจะต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจนกว่าจะตาย” เมเรียนเจ กล่าว “ฉันแค่ต้องการถามอดีตนายจ้างของฉันว่า ‘คุณทรมานฉันทำไม'”

เมเรียนเจพร้อมกับสามีและลูก ๆ อีก 3 คน

BBC / Dwiki Marta
เมเรียนเจพร้อมกับสามีและลูก ๆ อีก 3 คน

เธออายุ 32 ปี ตอนที่ตัดสินใจไปหางานทำในต่างประเทศ เพื่อที่ “ลูก ๆ จะได้ไม่ต้องร้องหาข้าวกิน” ชีวิตในหมู่บ้านในติมอร์ตะวันตกของเธอลำบากมาก ที่นั่นไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปาที่สะอาด ค่าจ้างของสามีเธอที่ทำงานเป็นแรงงานรับจ้างรายวันไม่เพียงพอที่จะจุนเจือครอบครัวที่มีคน 6 คน

เธอต้องรับข้อเสนอให้ไปทำงานในมาเลเซีย และฝันว่า จะสร้างบ้านให้กับครอบครัวของเธอ

ตอนที่เธอเดินทางไปถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ในปี 2014 นายหน้าเอาหนังสือเดินทางของเธอไปให้กับนายจ้างเก็บไว้ คนจัดหางานในอินโดนีเซียยึดโทรศัพท์ของเธอไว้แล้ว

แต่เมเรียนเจยังมีความหวังว่า จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เธอมีหน้าที่ “ดูแลคุณยาย” แม่ของเซรีน นายจ้างของเธอ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 93 ปี

เธอเล่าว่า 3 สัปดาห์หลังจากเธอเริ่มทำงานนี้ ก็เริ่มมีการทุบตีเธอเกิดขึ้น

คืนวันหนึ่ง เซรีนต้องการนำปลามาทำกับข้าว แต่เธอหาปลาในตู้เย็นไม่เจอ เพราะเมเรียนเจนำไปใส่ไว้ในช่องแช่แข็ง เมเรียนเจบอกว่า ทันใดนั้นเธอก็ถูกตีด้วยปลาแช่แข็ง เลือดออกที่ศีรษะของเธอ

เธอบอกว่า หลังจากนั้น เธอก็ถูกทุบตีทุกวัน

เธอเล่าว่า เธอไม่เคยได้รับอนุญาตให้ออกไปนอกอะพาร์ตเมนต์เลย ประตูเหล็กหน้าแฟลตล็อกไว้อยู่ตลอดและเธอก็ไม่มีกุญแจไข เพื่อนบ้าน 4 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในตึกเดียวกัน ไม่รู้ว่า เธออยู่ที่นี่ จนกระทั่งวันที่ตำรวจมาช่วยเธอที่นี่

“ฉันเพิ่งเห็นเธอในคืนวันที่เธอได้รับการช่วยชีวิต” หนึ่งในเพื่อนบ้านกล่าว

เมเรียนเจบอกว่า นายจ้างจะทรมานและทุบตีเธอจนเหนื่อยถึงจะหยุด จากนั้นนายจ้างก็สั่งให้เธอทำความสะอาด เช็ดเลือดของตัวเองที่เปรอะพื้นและผนัง

เธอเล่าว่า มีหลายครั้งที่เธอคิดว่า จะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อคิดถึงลูก ๆ ทั้ง 4 คน ที่บ้าน เธอก็เลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

เมเรียนเจ เล่าว่า การนึกถึงลูก ๆ ช่วยทำให้เธอมีชีวิตอยู่ต่อไป

BBC / Dwiki Marta
เมเรียนเจ เล่าว่า การนึกถึงลูก ๆ ช่วยทำให้เธอมีชีวิตอยู่ต่อไป

“ฉันคิดที่จะสู้กลับเหมือนกัน” เธอกล่าว “แต่ถ้าฉันสู้ ฉันคงจะตายไปแล้ว”

จากนั้น วันหนึ่งในช่วงสิ้นปี 2014 เธอเห็นตัวเองในกระจกและรู้สึกว่า มีอะไรบางอย่างเปลี่ยนไป “ฉันรับไม่ได้อีกต่อไป ฉันโกรธมาก ไม่ใช่โกรธนายจ้าง ฉันโกรธตัวเอง ฉันต้องกล้าที่จะพยายามหนีออกไป”

นั่นคือตอนที่เธอเขียนจดหมายที่ทำให้เธอได้รับอิสรภาพ

บีบีซีได้พยายามติดต่ออง ซู ผิง เซรีน นายจ้างของเธอหลายครั้ง เพื่อให้เธอพูดถึงข้อกล่าวหาต่าง ๆ แต่เธอปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ

เมเรียนเจ กล่าวว่า การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของเธอเป็นการต่อสู้เพื่อคนอื่น ๆ ที่เผชิญชะตากรรมไม่ต่างจากเธอด้วย และผู้ที่ไม่สามารถมีชีวิตรอด

ทูตอินโดนีเซียกำลังจัดการกับคดีคนรับใช้ในบ้านอีกคดีหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่า มีการทรมาน “เกินกว่าเหตุผลของมนุษย์” และปล่อยให้หิวโหย หญิงรับใช้คนนั้นน้ำหนักตัวเหลือเพียง 30 กก. ตอนที่ได้รับการช่วยชีวิต นายจ้างของเธอกำลังเผชิญกับการไต่สวน

แต่มียังมีคนอีกจำนวนมากอย่าง อะเดลินา เซา อายุ 20 ปี ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที มีรายงานว่า นายจ้างปล่อยให้เธออดอยากและทรมานเธอ ทำให้เธอเสียชีวิต

นายจ้างของเธอถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม แต่ในปี 2019 อัยการได้ถอนข้อกล่าวหา มีการปฏิเสธการอุทธรณ์ให้เปิดคดีนี้ใหม่ในปีที่แล้ว

อะเดลินามาจากเขตเดียวกับเมเรียนเจในติมอร์ตะวันตก

เมเรียนเจเล่าว่า เธอได้พบกับแม่ของอะเดลินาในหมู่บ้านของพวกเธอ และบอกกับแม่อะเดลินาว่า “แม้ว่าลูกของคุณเสียชีวิตไปแล้ว แต่เสียงเรียกร้องของเธออยู่ในตัวฉัน”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว