สักยันต์ : ศิลปะ ศรัทธาและความเชื่อผ่านมุมมองเจ้าสำนักในวัดบางพระ

Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

กุฏิพระขนาด 2 ชั้น ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางวัดบางพระ จ.นครปฐม เสียงสวดมนต์ดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อย่างเท้าเข้าใกล้ เดินขึ้นไปชั้น 2 จนสิ้นบันไดขั้นสุดท้าย ภาพที่เห็นตรงหน้า คือ ีฆราวาสทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้าคิวรอสักอยู่

ผู้ลงเข็มสักและบริกรรมคาถา บางส่วนเป็นพระสงฆ์ในผ้าเหลือง ด้วยท่วงท่าการลงเข็มที่แม่นยำและพิถีพิถัน ลงจุดรูปไข่ปลา ร้อยเรียงเป็นอักขระไทยผสมขอม หรือไล่เส้นเป็นลวดลายต่าง ๆ ทั้ง เก้าแถว เสือเผ่น หนุมาน คล้ายคลึงกับลายยันต์บนเรือนร่างของพระและฆราวาสผู้ดำเนินการสัก

นี่คือสำนักสักยันต์พระอาจารย์ตั๊ก วัดบางพระ หรือ พระอาจารย์ชลอ ปญญาปชโชโต ศิษย์สายตรงหลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ (พระอุดม ประชานาถ) ผู้ล่วงลับที่มีชื่อเสียงเลื่องลือด้านไสยศาสตร์ คาถาอาคม และการสักยันต์

“พระที่จะเรียน (สักยันต์) ไม่ใช่ว่าบวชแล้วก็เรียนได้เลย ต้องศึกษาธรรมะก่อน ศึกษาปริยัติธรรมก่อน” พระอาจารย์ตั๊ก อธิบายกับบีบีซี แต่เสริมว่า ตัวพระอาจารย์เองใช้เวลาเรียนสักยันต์เพียงไม่นาน เพราะ “มันอยู่ในสายเลือดแล้ว”

แม้ภาพพระสงฆ์สักยันต์มีให้เห็นน้อยลง แต่ศรัทธาของคนในเรื่องนี้ ก็ไม่ลด และการตรวจสอบพระธรรมวินัยพบว่าไม่มีข้อใดระบุชัดเจนว่าการสักยันต์ผิดพระธรรมวินัยหรือเป็นอาบัติ

อย่างไรก็ดี หากพระสงฆ์สักยันต์ให้สีกา และมีการแตะเนื้อต้องตัว จะถือเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ที่ต้องอยู่ปริวาสกรรม (ต้องขอประพฤติวัตร 6 คืน ก่อนขอให้สงฆ์ 20 รูปทำสังฆกรรมสวดอัพภานให้) แต่ยังไม่ถึงกับเป็นอาบัติปาราชิก ที่ต้องสิ้นความเป็นสงฆ์ในทันที

ทุกปี ผู้ศรัทธาในยันต์วัดบางพระนับหมื่นคนจะรวมตัวกันในช่วงต้นปี เพื่อประกอบพิธีไหว้ครูหลวงพ่อเปิ่น เพื่อขอขมาครูที่ล่วงเกิน และครอบครู ทั้งนี้ การรวมตัวกันของคนหมู่มากเช่นนี้ต้องยกเลิกไปช่วงการระบาดโควิด ก่อนจะกลับมาจัดอีกครั้งในวันที่ 4 มี.ค. 2566

และนี่คือเรื่องเล่าแห่งศรัทธาในลายยันต์ของเกจิอาจารย์ผู้มากวิชาอาคม ผ่านลูกศิษย์สายตรง และปราชญ์อาวุโส ที่เคยบวชเรียนเกือบพร้อมกับหลวงพ่อเปิ่น

จากเด็กวัดสู่เจ้าสำนักสักยันต์

มุมหนึ่งในกุฎิของพระอาจารย์ตั๊ก หัวโขนหลากรูปหลากสีเรียงรายอยู่บนชั้นไม้ ห่างไปไม่ไกลเป็นกรอบรูปขนาดยักษ์รูปพระสงฆ์นั่งขัดสมาธิ เคียงข้างด้วยเสือตัวใหญ่น่าเกรงขาม

พระสงฆ์ วัย 56 พรรษา นั่งคุยกับทีมข่าวบีบีซี ในบรรยากาศที่ห้อมล้อมด้วยความขลัง และเสียงบริกรรมคาถาระหว่างสักยันต์

“อาตมาเป็นคนพื้นที่ สมัยเป็นเด็กวัดก็อยู่ที่นี่ จบประถมหก ก็บวชเณร” พระอาจารย์ตั๊ก เล่าที่มาการเป็นเณรอุปัฏฐาก ผู้คอยปรนนิบัติดูแลหลวงพ่อเปิ่นมาโดยตลอด

พระอาจารย์ตั๊ก เจ้าสำนักสักยันต์สายพระในวัดบางพระ

Danny Bul / BBC
พระอาจารย์ตั๊ก เจ้าสำนักสักยันต์สายพระในวัดบางพระ

การได้ปรนนิบัติรับใช้พลวงพ่อเปิ่นทำให้พระอาจารย์ตั๊กคลุกคลีกับการสักยันต์อย่างใกล้ชิด และได้รับการถ่ายทอดศาสตร์การสักและคาถาต่าง ๆ โดยตรง ก่อนเริ่มสักยันต์อย่างจริงจังในปี 2551 หรือไม่กี่ปีหลังหลวงพ่อเปิ่นมรณภาพ

พระอาจารย์ตั๊กมองว่าหากนับสำนักสักยันต์ “ที่เป็นพระ” สำนักภายในวัดบางพระถือเป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย โดยมีเอกลักษณ์ใช้อักขระแบบ “ขอมไทย” และลายเสือเผ่น สังเกตได้จากรูปปั้นเสือ และการตกแต่งลายเสือที่เห็นได้ทั่วไปภายในวัด

แม้เพจเฟซบุ๊กของสำนักนี้หมั่นโพสต์ผลงานการสักยันต์ แต่พระอาจารย์ตั๊กย้ำว่า ไม่ได้ทำเพื่อกำไร และทุกปัจจัยที่ญาติโยมมอบให้ นำไปทำนุบำรุงวัดและช่วยเหลือชุมชนโดยรอบมาตลอด

“เรามีนโยบายว่า ค่าอุปกรณ์ ค่าครูหนึ่ง แล้วก็ค่าภาพ… ค่าครูอะไรก็แค่ 39 บาท” ที่เหลือก็แล้วแต่กำลังศรัทธาของญาติโยม

ภายในวัดบางพระ ไม่ได้มีเพียงสำนักของพระอาจารย์ตั๊ก แต่มีอีกอย่างน้อย 4 สำนักด้วยกัน ชั้นล่างของกุฎิพระอาจารย์ตั๊ก ก็เป็นอีกสำนักที่ดำเนินการโดยฆราวาส และมีผู้คนเรียงรายเข้ามาสักไม่ขาดสาย

พระสักยันต์ให้ฆราวาสในสำนัก

Danny Bull / BBC
พระสักยันต์ให้ฆราวาสในสำนัก

กรณีพระสงฆ์สักยันต์ให้ฆราวาสนั้น เมื่อปี 2560 สำนักพระพุทธศาสนาเชียงใหม่เคยตักเตือนกรณีเจ้าอาวาสสักยันต์ให้หญิงข้ามเพศ แต่ไม่ถือว่าเป็นการกระทำร้ายแรงที่ต้องให้ลาสิกขาทันที

และเมื่อต้นปี 2566 มีกรณีวิพากษ์วิจารณ์ถึงพระสงฆ์ในจังหวัดเพชรบูรณ์สักยันต์ให้สีกา ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความกังวล แม้ว่าพระสงฆ์รูปดังกล่าวยืนกรานว่าใส่ถุงมือสองชั้น และมีไฟส่องสว่าง ไม่ได้ทำในที่ลับ

กรณีเหล่านี้ พระอาจารย์ตั๊กกล่าวกับบีบีซีว่า ทางสำนักไม่ได้เป็นพุทธพาณิชย์ ไม่ได้โปรโมตชักชวนคนสักยันต์ หากเป็นสีกาที่เข้ามาสักยันต์ จะให้ลูกศิษฐ์ฆราวาสเป็นผู้สัก โดยเงินปัจจัยและค่าครูทั้งหมด จะไปเข้าส่วนกลางของวัด

ตำนาน ความเชื่อ ศรัทธา

วัดบางพระ มีประวัติความเป็นมายาวนานนับแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างราว พ.ศ. 2220 แต่ยุครุ่งเรืองของวัด คือสมัยเจ้าอธิการหิ่ม อินทโชโต (2441-2495) ที่มีการสร้างพระพุทธบาทจำลอง และอุโบสถหลังใหม่ เจ้าอธิการหิ่ม เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเปิ่น ซึ่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี 2517 จนมรณภาพในปี 2545

“ผมกับหลวงพ่อเปิ่นบวชใกล้ ๆ กัน หลวงพ่อเปิ่น ปี 2491 ส่วนผมบวชปี 2492 และมีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน” อาจารย์ปทุม โพธิ์สวรรค์ ปราชญ์อาวุโส กล่าว

ปทุม เล่าว่า ชื่อเสียงด้านคาถาอาคมของวัดบางพระเริ่มในสมัยที่หลวงพ่อเปิ่นเดินธุดงค์ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ของไทย ภายหลังการมรณภาพของพระอธิการหิ่ม จนครั้งหนึ่งได้ไปปักกลดอยู่ที่ป่าใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นป่าดิบ เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย

“ท่านลืมตามองเห็นเสือเดินอยู่รอบกลด คิดว่า วันนี้ ‘เราคงตายแน่ ๆ’… เลยตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าชาติก่อนเคยจองล้างจองผลาญกัน เป็นคู่เวรคู่กรรมกัน ก็เออ กินไปเถอะ ใช้หนี้เวรกรรมกันไป” เขาเล่าเรื่องราวของหลวงพ่อเปิ่น ที่ได้รับการถ่ายทอดมาโดยตรง

หลวงพ่อเปิ่นเป็นที่ศรัทธาของคนจำนวนมาก

Danny Bull / BBC
หลวงพ่อเปิ่นเป็นที่ศรัทธาของคนจำนวนมาก
ทุกอักขระเลขยันต์ล้วนมีความหมาย

Danny Bull / BBC
ทุกอักขระเลขยันต์ล้วนมีความหมาย

แต่ท้ายสุด หลวงพ่อเปิ่นไม่ได้รับภัยอันตรายอะไร “เลยเอาอารมณ์ที่นั่งสมาธิแผ่เมตตาตรงนี้ มาเป็นเครื่องสักยันต์ ตั้งชื่อยันต์ว่าเสือเผ่น เพราะเสือมันหนีไป” เสือเผ่นจึงเป็นยันต์ของหลวงพ่อเปิ่นโดยแท้จริง ผ่านประสบการณ์จริงที่ “ชนะเสือมาด้วยเมตตา”

ความเชื่อและตำนาน แฝงอยู่ในทุกเรื่องราวของลายยันต์สายหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ บ้างเล่าว่าหลวงพ่อ สืบสานวิชาการสักยันต์ วิชาอาคม คาถาไสยเวทย์ และตำรับยาสมุนไพร จากหลวงพ่อหิ่ม

เรื่องเล่าที่เคยลงสื่อสิ่งพิมพ์ คือ ลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงพ่อเปิ่นสักยันต์ แล้วอวดในวงสังสรรค์กับเพื่อนว่า “ฟันได้ แทงได้ แมลงวันไม่ได้กินเลือด” จนเกิดการลองของ เพื่อนของเขาฟันแทงแล้ว “ปรากฏว่าไม่เข้า อีกสองคนเลยช่วยกันจับ แล้วสวนทวาร แทงเข้าทางปาก แล้วก็ตาย”

แต่สิ่งที่เป็นความจริง คือ จำนวนลูกศิษย์ที่ศรัทธาในลายยันต์ และปัจจัยบริจาคมหาศาลที่ทางวัดนำไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัด และสร้างสาธารณประโยชน์มากมาย

“หลวงพ่อท่านสร้างมาทั่วประเทศเลย” พระอาจารย์ตั๊ก ระบุ “ทำโรงพยาบาล สร้างสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี 4 แห่ง วิทยาลัยบริหารสาธารณสุข วิทยาลัยการอาชีพ โรงเรียนมัธยม แล้วก็วัดวาต่าง ๆ ทั่วประเทศ”

“ทั้งหมดก็มาจากการสักยันต์นี่แหละ”

ปทุม เป็นปราชญ์อาวุโส ที่บวชเรียนไล่เลี่ยกับหลวงพ่อเปิ่น

Danny Bull / BBC
ปทุม เป็นปราชญ์อาวุโส ที่บวชเรียนไล่เลี่ยกับหลวงพ่อเปิ่น

สักยันต์ได้ดี หรือสักยันต์แล้วประพฤติดีจึงได้ดี

สำหรับ ปทุม แล้ว การสักยันต์นั้น แตกต่างจากการสักแฟชั่น หรือสักทางการแพทย์ ไม่เพียงแค่ลวดลายและประวัติที่มาของลายยันต์ต่าง ๆ แต่การสักยันต์นั้น มีความเชื่อและศรัทธาเป็นตัวนำ

“หนึ่ง เพื่อให้เกิดเมตตามหานิยม คนนิยมชมชอบ สักเพื่อโชคลาภ ทำมาค้าขายดี สักไปแล้วเพื่อแคล้วคลายปลอดภัยจากอันตราย… และสักเพื่ออยู่ยงคงกระพัน” ปทุม อธิบาย

ศรัทธา เชื่อ จึงสักยันต์

Danny Bull / BBC
ศรัทธา เชื่อ จึงสักยันต์

อักขระเลขยันต์แต่ละตัวยังมีความหมายแฝง คือ

เลข ๑ หมายถึง คุณแห่ง พระนิพพาน อันยิ่งใหญ่

เลข ๒ หมายถึง คุณแห่ง พุทโธ

เลข ๓ หมายถึง คุณแห่งแก้ว ๓ ประการ ( พระรัตนตรัย ) และอีกความหมายคือพระไตรปิฎก

เลข ๔ หมายถึง คุณแห่งมรรค ๔ ผล ๔, หมายถึงคุณแห่งพระโลกบาลทั้ง ๔, หมายถึงพรหมวิหาร ๔ และหมายถึงพระฤาษีกัสสปะ

เลข ๕ หมายถึง คุณแห่งศีล ๕

เลข ๖ หมายถึง คุณแห่งไฟ หรือพระเพลิง, หมายถึงคุณแห่งพระอาทิตย์

เลข ๗ หมายถึง คุณแห่งลม หรือพระพาย

เลข ๘ หมายถึง คุณแห่งพระกรรมฐาน, หมายถึงคุณแห่งศีล ๘, หมายถึงคุณแห่งพระอังคาร

เลข ๙ หมายถึง คุณแห่งมรรค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑, หมายถึงคุณแห่งพระเกตุ

การบริกรรมคาถาขณะที่เดินเส้นสักเป็นรูปร่าง มีคำเรียกในภาษาสักว่า “เรียกสูตร เรียกนาม”

Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai
การบริกรรมคาถาขณะที่เดินเส้นสักเป็นรูปร่าง มีคำเรียกในภาษาสักว่า “เรียกสูตร เรียกนาม”

ส่วนการบริกรรมคาถาระหว่างการสักยันต์นั้น เป้าหมายไม่ใช่เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของลายยันต์ แต่เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ และ “เป็นการสอนปฏิบัติธรรมภาวนาไปด้วย โดยที่ไม่ได้บอกเขาตรง ๆ” โดยการบริกรรมคาถาขณะที่เดินเส้นสักเป็นรูปร่าง มีคำเรียกในภาษาสักว่า “เรียกสูตร เรียกนาม”

ปราชญ์อาวุโส ที่แวะเวียนมาวัดบางพระบ่อยครั้ง เล่าต่อว่า การจะสักยันต์ในสมัยก่อนนั้น ไม่ได้เดินเข้ามา จ่ายค่าครู แล้วก็ได้สัก แต่ต้องมาช่วยงานวัดหลายวัน เพื่อให้หลวงพ่อเปิ่น ดูนิสัยใจคอก่อนว่า “เป็นคนมีศีลธรรมไหม” หากพิจารณาว่าเป็นคนมีคุณธรรมถึงจะสักให้

แต่เมื่อชื่อเสียงยันต์หลวงพ่อเปิ่นมีมากขึ้น ชุมชนพัฒนาขึ้น ผู้คนจึงหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับเหตุผลในการสักยันต์ที่แตกต่างออกไป

เหตุผลหลัก ๆ คือ “ศรัทธา ความเชื่อมาก่อน พุทธคุณถึงจะสัมฤทธิ์ผลดี… สักเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ” พระอาจารย์ตั๊ก ระบุ “แต่บางคนก็สักตามเพื่อนบ้าน บางคนสักเป็นเทรนด์” ส่วนการกระทำที่เรียกว่า “ของขึ้น” หรืออาการที่คนที่รับการสักยันต์ ลุกขึ้นร้องเป็นเสือ หรือตามลวดลายของยันต์นั้น อาจไม่ใช่เพราะ “ของแรง” เสมอไป

“อุปทานหมู่” พระอาจารย์ ยอมรับ “สมัยนี้บางทีมันก็แอ็บบ้าง อะไรบ้าง”

 “สมัยนี้บางทีมันก็แอ็บบ้างอะไรบ้าง” พระอาจารย์ตั๊ก

Getty Images
“สมัยนี้บางทีมันก็แอ็บบ้าง อะไรบ้าง” พระอาจารย์ตั๊กกล่าว

แต่พระอาจารย์ที่เป็นเจ้าสำนักสักยันต์ ยืนยันว่า ความคิดว่าสักยันต์แล้วจะมีโชคลาภ เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะ “สิ่งยึดเหนี่ยวคือศีลห้า ห้ามด่าบุพการี ห้ามประพฤติผิดในกาม”

“คนที่คิดจะสักยันต์หลวงพ่อเปิ่น ต้องคิดก่อนเลยว่า ปฏิบัติได้ไหม มีศรัทธาความเชื่อไหม ถ้าคิดว่าไม่มี ก็อย่ามาสักเลย เจ็บตัวเปล่า ๆ ไปสักกราฟิกเอาก็ได้ สวยงามดี”

บีบีซีถามคำถามสุดท้ายว่า กังวลหรือไม่ที่การสักยันต์จะหายไปจากสังคมไทย พระอาจารย์ตั๊ก ตอบเพียงว่า หากวันใด “ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง” ห้ามพระสักยันต์ เพราะมองว่าไม่เหมาะสม แต่การสักยันต์จะไม่หายไปไหน เพราะได้ถ่ายทอดต่อไปถึงฆราวาสแล้ว

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว