“สุนัขจรจัดแห่งเชอร์โนบิล” มีพันธุกรรมแตกต่างจากทั่วโลก

Getty Images

หลังเหตุหายนะที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อ 37 ปีก่อน ผู้คนนับแสนได้อพยพออกจากพื้นที่โดยรอบอย่างเร่งรีบ ทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นสุนัขและแมวจำนวนมากไว้ในเขตหวงห้ามที่มีกัมมันตภาพรังสีในปริมาณสูง

แต่จนถึงทุกวันนี้ ฝูงสุนัขจรจัดที่ถูกเจ้าของทิ้งในเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงมีชีวิตรอด ทั้งยังออกลูกออกหลานสืบต่อมาอีกหลายรุ่น โดยพวกมันมีโครงสร้างทางพันธุกรรมในดีเอ็นเอแตกต่างไปจากสุนัขทั่วโลกอีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่า ความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะสุนัขได้สัมผัสกับกัมมันตภาพรังสีเป็นเวลานานติดต่อกันหรือไม่ และยังไม่ทราบว่าความเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพรวมทั้งพฤติกรรมของพวกมันอย่างไรบ้าง

ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ระบุว่ามีการเก็บตัวอย่างเลือดของสุนัขจรจัด 302 ตัว ที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบซากปรักหักพังของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล รวมทั้งพวกที่อยู่ห่างออกไป 15-45 กิโลเมตร ซึ่งสุนัขจรจัดกลุ่มหลังนี้จะได้รับกัมมันตภาพรังสีในปริมาณที่ต่ำกว่า

ทีมผู้วิจัยพบว่าสุนัขจรจัดที่ได้รับรังสีก่อไอออน (ionizing radiation) มาเป็นเวลานานเหล่านี้ มีโครงสร้างของกลุ่มประชากรประกอบไปด้วย 15 สายตระกูลด้วยกัน โดยข้อมูลพันธุกรรมของพวกมันสามารถจะบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า เป็นสุนัขที่อาศัยอยู่ในเขตหวงห้ามของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ซึ่งส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากสุนัขเลี้ยงที่ถูกทิ้งไว้หลังเหตุหายนะทางนิวเคลียร์ปี 1986

ผลการตรวจนับจำนวนประชากรล่าสุดชี้ว่า มีสุนัข “กึ่งจรจัด” ราว 800 ตัว อาศัยอยู่โดยรอบเขตหวงห้ามของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล โดยนักวิจัยไม่ถือว่าพวกมันเป็นสุนัขจรจัดที่ต้องเอาชีวิตรอดด้วยตนเองอย่างเต็มที่แบบสุนัขป่า เพราะมีคนงานที่ดูแลโรงไฟฟ้ารวมทั้งสัตวแพทย์เข้าไปในพื้นที่เป็นครั้งคราว เพื่อให้อาหาร ฉีดวัคซีน และช่วยรักษาโรค

สำหรับการศึกษาในขั้นต่อไป ทีมผู้วิจัยต้องการจะระบุให้ได้ว่ามีการกลายพันธุ์แบบใดเกิดขึ้นบ้างในดีเอ็นเอของสุนัขจรจัดแห่งเชอร์โนบิล และการกลายพันธุ์นั้นส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างรวมถึงนิสัยใจคอของพวกมันด้วยหรือไม่

ทีมผู้วิจัยยังระบุว่าประเด็นสำคัญที่สุดที่จะมุ่งศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต คือการตอบคำถามเรื่องผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีต่อความสามารถในการดำรงชีวิตและสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าสุนัขจรจัดแห่งเชอร์โนบิลนั้นอยู่รอดและออกลูกออกหลานสืบต่อกันมาได้ถึงสิบกว่ารุ่น โดยน่าสงสัยว่ายีนกลายพันธุ์บางตัวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสามารถนี้

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว