สัก : ศิลปินสักผู้บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงผ่านน้ำหมึกบนเรือนร่าง

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่ศิลปินช่างสักชาวจีน ซ่ง เจี้ยหยิน ได้สัมภาษณ์ลูกค้าผู้หญิงหลายร้อยคน และโพสต์เนื้อหาในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องราวของความทรงจำ ความหวัง และความกลัว ต่อการสัก และแรงกดดันทางสังคม

งานออกแบบลายสักของซ่ง มีตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน ภาพมดลูกอย่างมีสไตล์ หรือภาพสัตว์เลี้ยงแสนรัก ตามแต่ความต้องการของผู้หญิงที่ต้องการสักลายเหล่านี้บนเรือนร่าง

ในประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกในความเป็นตัวของตัวเอง ลดลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การสักกลายเป็นเสมือนการเพิ่มอำนาจทางเรือนกายให้พวกเธอ

“เมื่อคุณเลือกสักแล้ว คุณเลือกภาพที่จะสักบนร่างกาย มันคือการที่คุณลุกขึ้นมาบอกว่า ฉันจะทำอะไรกับร่างกายฉันก็ได้” ซ่ง กล่าว

“ร่างกายของฉันต่างจากคนอื่น การสักเป็นการแสดงออกถึงตัวตนของฉัน”

พรรคคอมมิวนิสต์จีน ควบคุมอิสระทางเรือนกายของผู้หญิงมาโดยตลอด โดยเฉพาะผ่านการใช้กฎหมายคุมกำเนิด อย่างนโยบายลูกคนเดียวที่ถูกยกเลิกไปแล้ว

ภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทางการได้ปราบปรามการเคลื่อนไหวเชิงสตรีนิยมเกือบทุกรูปแบบ รวมถึงจำกัดการทำงานขององค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร จับกุมบุคคลสำคัญ และระงับบัญชีสังคมออนไลน์

ทัศนคติเชิงอนุรักษนิยมดั้งเดิมของจีนนั้น ให้คุณค่าผู้หญิงในด้านรูปร่างและการอุ้มบุตร โดยผลิตซ้ำแนวความคิดเช่นนี้ ผ่านสื่อของรัฐบาลและวัฒนธรรมสมัยใหม่

ซ่ง ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “เฟมินิสต์” หรือสตรีนิยม มองโครงการนี้ของเธอว่า เป็นสารคดีแบบปลายเปิด ที่เธอหวังจะทำให้เสียงของผู้หญิงดังขึ้น และท้าทายวัฒนธรรมเหมารวม

AFP

AFP 

วิดีโอ “1,000 Girls” หรือ “เด็กหญิง 1,000 คน” มีการดำเนินเรื่องที่เรียบง่าย เริ่มจากการถามคำถามว่า “คุณเกิดราศีอะไร” หลังจากนั้นก็เป็นบทสนทนาที่ผู้ให้สัมภาษณ์แบ่งปันความคิดเกี่ยวกับสุขภาพจิต เพศ ความกังวลที่ต้องอายุมากขึ้น และการเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก

เหลียว จิ้งหยี หญิงชาวจีนวัย 27 ปี นั่งอยู่ในสตูดิโอที่รายล้อมด้วยหนังสือ เธอตื่นเต้นมากที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการของ ซ่ง และจะได้สักเป็นครั้งแรก

เธอนอนอยู่บนโต๊ะ ถกกางเกงยีนส์ขึ้น แล้วพยายามอดทนกับความเจ็บเมื่อเข็มสักเคลื่อนไปมาบนเรือนร่างของเธอ กลายเป็นรูปคลื่นกระทบฝั่ง และก้อนหินขนาดใหญ่

เธอระบุว่า ได้แรงบันดาลใจที่จะสักลายนี้ จากศาสตราจารย์ที่เธอเคารพที่มหาวิทยาลัย เขาเคยบอกเธอว่าให้เป็น “ดั่งโขดหินที่ไม่มีวันถูกกัดเซาะ”

แม้การสักจะไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมเมืองและย่านที่ร่ำรวยของจีน แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงที่สักหลายคนถูกวิจารณ์หนักเรื่องรูปลักษณ์ของพวกเธอ

การฆ่าตัวตายของหญิงสาวที่ถูกกลุ่มคนที่เหยียดเพศหญิง วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ หลังเธอโพสต์รูปที่มีทรงผมสีชมพู ตอกย้ำถึงแรงกดดันทางสังคมที่ผู้หญิงต้องเผชิญ

“หากผู้หญิงไม่ปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับค่านิยมดั้งเดิม เธอจะถูกโจมตี ถูกตามถึงเรื่องศีลธรรม… มันคือการเหยียดเพศ ที่ฝังรากอยู่ในความไม่เท่าเทียมทางเพศ ในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด” หลี่เจียง จาง นักเขียนและนักวิพากษ์ทางสังคม กล่าว

AFP

AFP 

ผู้หญิงอีกคน เป็นแพทย์ที่ขอลายสักเป็นรูปดอกไม้สีม่วงที่คุณปู่และคุณย่าของเธอรัก เธอเปิดใจว่า คนไข้ของเธอหลายคนมองว่า แพทย์ที่สัก “เหมือนมีความรับผิดชอบไม่เพียงพอ”

ซ่ง ระบุว่า เธอประทับใจลูกค้าหญิงวัย 40 ปลาย ๆ ของเธอคนหนึ่งเป็นพิเศษ

หญิงวัยกลาวคนบอกกับเธอว่า “ฉันแก่แล้ว ทำไมฉันจะเป็นตัวเองไม่ได้ ในฐานะแม่ ภรรยา ตอนนี้ ฉันเป็นตัวเองได้หรือยัง”

หนึ่งในลายสักบนเรือนกายของ ซ่ง เอง คือลายสักรูปโซ่ตรวนที่ถูกตัดขาดบนข้อศอกของเธอ

ลายสักนี้เป็นการรำลึกถึงหญิงคนหนึ่ง ที่ถูกล่ามโซ่ขังในเพิงไม้ในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งของจีน

ข่าวของผู้หญิงที่ถูกล่ามโซ่คนนี้ กลายเป็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วประเทศ

“ฉันเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนควรได้เห็นสิ่งนี้ รวมถึงข้อเท็จจริงว่า เธอถูกบีบบังคับให้คลอดลูกถึง 8 คน มันเป็นเรื่องเศร้าและน่าใจสลาย” ซ่ง กล่าว

“เราต้อสู้กันมานานแล้ว การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิที่เท่าเทียม มันนานเกินไปแล้ว”

กรณีของ ลิซ่า แบล็คพิงค์

เรื่องผู้หญิงสักแล้วถูกวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม กลายเป็นประเด็นที่คนไทยให้ความสนใจอีกครั้ง หลัง ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า แบล็คพิงค์ ได้ถ่ายแบบลงปกนิตยสารแฟชัน Harper’s BAZAAR แต่กลับมีคนซูมเข้าไปกลางหลังของลิซ่า ที่พบว่าเป็นลายสักคล้ายดอกไม้

แม้จะมีผู้ชื่นชมลายสักของลิซ่าว่าสวยงาม แต่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนหนึ่งแสดงความคิดเห็น ที่กลายเป็นประเด็นที่สื่อไทยหลายสำนักนำไปขยายต่อ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายนี้ระบุว่า

“ผิวเนียน ๆ สวย ๆ สักทำไม คนไทยถือว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ไปสักอะ เตือนเพราะหวังดี สักไปทำงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ ผู้ใหญ่เห็นก็ไม่ชอบ โดยเฉพาะพวกข้าราชการ เป็นไอดอลน่ารักให้เด็ก ๆ ทุกเพศ ทุกวัย ก็ดีอยู่เเล้ว ภาพลักษณ์ภายนอกมีผล เเต่ความรู้สึกคนจริงวัยเดียวกันไม่เท่าไร เเต่อายุมาก ๆ สิ”

เมื่อเห็นข้อความวิจารณ์การสักของลิซ่า จึงเกิดประเด็นถกเถียงในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องอิสระทางเรือนกาย และการสักของบุคคลในราชการ รวมถึงลิซ่าว่าคงไม่ไปรับราชการอยู่แล้ว

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว