นายกเทศมนตรีหญิงของเขตในกรุงโตเกียว กำลังต่อสู้กับทัศนคติเหยียดเพศในญี่ปุ่น

BBC ซาโตโกะ คิชิโมโตะ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเขตซูกินามิ เมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว ถือเป็นผู้นำหญิงคนแรกของเขตนี้

ซาโตโกะ คิชิโมโตะ พบว่า การบริหารในเขตหลักเขตหนึ่งของกรุงโตเกียวเป็นงานที่โดดเดี่ยว

ย้อนกลับไปในเดือน มิ.ย. ผู้หญิงอายุ 48 ปีคนนี้ได้กลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของเขตซูกินามิ อดีตนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและผู้รณรงค์ด้านประชาธิปไตยสามารถเอาเฉือนชนะนายกเทศมนตรีฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยคะแนน 200 เสียง ถือเป็นชัยชนะที่สร้างความตกตะลึงของผู้สมัครอิสระที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานในหน่วยงานของทางการมาก่อน

นับจากนั้น เธอก็รับปากว่า จะท้าทายการเมืองที่ผู้ชายครอบงำของญี่ปุ่น เธอเป็นหนึ่งในนายกเทศมนตรีหญิงเพียง 3 คน จากเขตต่าง ๆ ทั้งหมด 23 เขตหลักของกรุงโตเกียว

“เราต้องยอมรับว่า การมีผู้หญิงเป็นตัวแทนในทางการเมืองต่ำ เป็นวิกฤตแห่งชาติ” นางคิชิโมโตะ กล่าว

“การเป็นตัวแทนของผู้หญิงเกือบจะเท่าเดิมมาตลอด 75 ปี นี่บ้ามาก”

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีประวัติย่ำแย่มากในเรื่องของดัชนีความเหลื่อมล้ำทางเพศ โดยในรายงานที่เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) เผยแพร่เมื่อไม่นานนี้ในเดือน ก.ค. 2022 ญี่ปุ่นรั้งอันดับ 116 จาก 146 ประเทศ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปัญหาทางเพศมากที่สุดในกลุ่มจี 7 หรือ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ ญี่ปุ่นไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีหญิงเลย และมีรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงเพียง 2 คนเท่านั้นในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน

ฉันได้พบกับคิชิโมโตะเป็นครั้งแรกขณะที่เธอปั่นจักรยานไปทำงานที่ศาลาว่าการเมืองซูกินามิ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพบเห็นในหมู่นักการเมืองของญี่ปุ่น

อดีตนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมปั่นจักรยานไปทำงานในกรุงโตเกียว

BBC
อดีตนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมปั่นจักรยานไปทำงานในกรุงโตเกียว

เธอบอกฉันว่า ในช่วง 2-3 เดือนแรกที่ทำหน้าที่นี้ เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก

“ในฐานะผู้หญิงรุ่นใหม่…[งานนี้] ไม่ได้ยากด้วยตัวของมันเอง” เธอกล่าว “ฉันไม่ได้มาจากระบบราชการ ฉันไม่ได้เป็นนักการเมือง ตอนที่ฉันพูด ผู้คนฟัง แต่พวกเขาไม่เชื่อง่าย ๆ”

คำว่าผู้คนในที่นี้เธอหมายถึงผู้ชายที่เธอร่วมงานด้วย ในเขตของเธอเอง ผู้ครองตำแหน่งทางการเมืองระดับอาวุโสส่วนใหญ่ที่รองจากนายกเทศมนตรีเป็นผู้ชาย

“ปัญหาต่าง ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมทางเพศ มีความท้าทายด้วยการเมืองแบบเก่า และด้วยการเมืองที่ผู้ชายครอบงำ”

เธอเล่าให้ฉันฟังว่า เธอและพนักงานของเธอรู้สึกหงุดหงิด

“ฉันไม่ต้องการจะถกเรื่องนโยบาย แต่เวลา [จำนวนมาก] ที่เสียไปในสภาเมืองเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และการโจมตีเรื่องส่วนตัว”

ส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเพศของเธอ และยังมีเรื่องการแต่งตั้งเธอและการที่เธอไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเธออยู่ต่างประเทศเป็นเวลานานในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เธออาศัยอยู่ในยุโรป

นางคิชิโมโตะ เป็นคนแรกที่ยอมรับว่า เธอเป็นคนนอกแต่นี่คือส่วนหนึ่งของจุดแข็งของเธอ “ฉันมีเรื่องอื่นอีก ฉันได้มองสังคมญี่ปุ่นจากระยะไกล” เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “สายตาจากต่างประเทศ” ทำให้เธอมองปัญหาของญี่ปุ่นได้อย่างไม่มีอคติ โดยเฉพาะความขัดแย้งในประเทศของเธอ

แต่เธอรู้สึกว่า งานนี้ทำให้เธอรู้สึกกระตือรือร้นและมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เธอรู้สึกเสียใจหลายครั้ง “บางครั้ง ฉันพูดกับตัวเองว่า ‘ฉันกำลังทำอะไรอยู่ที่นี่'”

นางคิชิโมโตะกล่าวเพิ่มเติมว่า บรรทัดฐานทางสังคมแบบเก่าที่ยังคงคาดหวังให้ผู้หญิงทำงานบ้านและเป็นคนคอยดูแล เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้หญิงออกมาทำงานการเมือง

ผู้หญิงคนอื่น ๆ ซึ่งออกมาทำงานการเมืองบอกกับเธอว่า พวกเธอมักจะต้องรับมือกับการเกลียดชังผู้หญิงและการคุกคาม

โทโมมิ ฮิกาชิ เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในเขตมาชิดะของกรุงโตเกียว และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองเมื่อไม่นานนี้

“การคุกคามทางร่างกายน่าตกใจที่สุด” นางฮิกาชิ กล่าว เธอบอกว่า มีอยู่หลายครั้งที่มีการแตะเนื้อต้องตัวเธออย่างไม่เหมาะสม ในช่วงแรก ๆ ของการหาเสียง “ฉันตกใจมาก”

โมโมมิ ฮิกาชิ กล่าวว่า เธอถูกแตะเนื้อต้องตัวอย่างไม่เหมาะสม ตอนที่เธอหาเสียง

BBC
โมโมมิ ฮิกาชิ กล่าวว่า เธอถูกแตะเนื้อต้องตัวอย่างไม่เหมาะสม ตอนที่เธอหาเสียง

“การถูกชายสูงอายุดูหมิ่น [ผู้ชาย] เข้ามาใกล้ฉันมากและขัดจังหวะตอนฉันพูด การถูกขอให้ดื่มในช่วงเที่ยงคืน นั่นคือตอนที่ฉันรู้สึกถึงสังคมที่ครอบงำโดยผู้ชายจริง ๆ มันคือสัญญาณเตือนสำหรับฉัน” เธอกล่าว

โทโมมิ ฮิกาชิ เข้าร่วมกลุ่มนักการเมืองหญิงท้องถิ่น ทนายความ และนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง ที่สร้างเว็บไซต์ที่ชื่อว่า ศูนย์ปรึกษาการคุกคามผู้หญิงในการเมือง (Harassment Consultation Centre for Women in Politics)

พวกเธอหวังว่า การให้คำปรึกษาทางออนไลน์อย่างเป็นความลับ จะช่วยให้ความมั่นใจแก่ผู้หญิงในการเข้าสู่วงการเมืองได้

มาริ ฮามาดะ นักวิจัยการเมืองและหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์นี้ กล่าวว่า ขณะที่การสำรวจจำนวนมากบ่งชี้ว่า มีการคุกคามนักการเมืองหญิงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย แต่ก็เป็นเรื่องยากในการหาจำนวนที่แน่นอนมา เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่เต็มใจที่จะออกมาพูด

“ในญี่ปุ่น นักการเมืองถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ และพวกเขาถูกบอกให้อดทนกับการคุกคาม” นางฮามาดะ กล่าว

มานา ทามูระ ผู้ก่อตั้งอีกคนของเว็บไซต์ซึ่งดูแลสำนักงานท้องถิ่นในปี 2022 กล่าวว่า มีการบอกเธอว่า เธอไม่ได้รับอนุญาตให้พาลูกชายวัย 3 ขวบมาหาเสียงได้

“ฉันไม่สามารถเดินกับลูกชายได้ ไม่สามารถจับมือเขา หรือเข็นรถเข็นเด็ก” เธอถูกบอกว่า นี่เป็นการละเมิดกฎ

“ตอนที่ฉันอยู่ตามท้องถนน ผู้ชายบางคนจะถามเรื่องต่าง ๆ อย่าง ‘คุณเคยคลอดลูกไหม’ หรือ ‘ทำไมคุณไม่ลงสมัครตอนมีลูกแล้ว 3 คน'”

“ฉันถูกบอกไม่ให้โมโห ฉันเริ่มคิดว่า นี่ไม่ใช่ความผิดของฉัน” นางทามูระ กล่าว

ทางกลุ่มหวังว่า จะสนับสนุนผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่วางแผนจะทำงานการเมืองในญี่ปุ่น

BBC
ทางกลุ่มหวังว่า จะสนับสนุนผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่วางแผนจะทำงานการเมืองในญี่ปุ่น

การสำรวจเมื่อไม่นานนี้โดยสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น พบว่า นักการเมืองหญิงและผู้นำหญิงมีโอกาสที่จะเผชิญกับอคติทางเพศและการคุกคามทางเพศมากกว่าฝ่ายชาย

รัฐบาลญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นประจำว่า ยังลงมือทำไม่เพียงพอในการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้น โดยบางคนแย้งว่า คณะรัฐมนตรีที่ผู้ชายครอบงำและพรรคประชาธิปไตยเสรี (Liberal Democratic Party–LDP) ที่เป็นรัฐบาล คือส่วนหนึ่งของปัญหา

ในปี 2021 พรรค LDP ซึ่งครองอำนาจมาเกือบจะตลอดตั้งแต่ปี 1955 เสนอให้สมาชิกรัฐสภาหญิง 5 คนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารในฐานะผู้สังเกตการณ์ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า พวกเธอจะไม่พูดอะไรระหว่างการประชุม

ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการแสดงความเห็นเหยียดเพศของนายโยชิโร โมริ อดีตประธานจัดการแข่งขันโอลิมปิกในกรุงโตเกียว ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ในช่วงเริ่มต้นสหัสวรรษนี้ มีการอ้างว่า เขาพูดว่า ผู้หญิงพูดมากเกินไปและการประชุมกับประธานคณะกรรมการหญิงหลายคน “ใช้เวลามาก” โดยเขาได้ขอโทษในเวลาต่อมา

“LDP ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศในญี่ปุ่น” นางคิชิโมโตะ กล่าว “พวกเขาไม่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ไม่มีเจตจำนงทางการเมืองในเรื่องนี้ น่าอายมาก”

เมื่อวันพุธ (1 มี.ค.) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการดำเนินการมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างและทัศนคติทางสังคมในญี่ปุ่น

“สถานการณ์สำหรับผู้หญิง… ค่อนข้างลำบากในประเทศของเรา และได้รับการพิจารณาว่า เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง” ฮิโรคาซุ มัตสึโน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

“จากการใช้มาตรการต่าง ๆ ของเรา งานสำหรับผู้หญิงเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นความจริงเช่นกันว่า หลายคนเลือกเปลี่ยนไปทำงานชั่วคราวเมื่อคลอดลูก และมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหานี้ยังคงเหลืออีกครึ่งทางจึงจะแล้วเสร็จ”

นางคิชิโมโตะ ไม่เพียงแต่ตำหนิพรรครัฐบาลเท่านั้น แต่เธอยังตำหนิผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เลือกพรรคนี้ให้ครองอำนาจอยู่เป็นเวลานาน

เธอกล่าวว่า แม้ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ เธอก็ยังมีความหวังว่า สักวันหนึ่งญี่ปุ่นจะมีผู้นำหญิงได้ “ฉันไม่รู้ว่า จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หรือไม่” เธอกล่าว

“แต่ฉันมีความหวัง เราไม่สามารถแย่ไปกว่านี้ได้อีก หนทางเดียวคือต้องดีขึ้นและไปข้างหน้า” เธอหัวเราะ

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว