จะเกิดอะไรขึ้น หากนักวิทยาศาสตร์สร้างไข่จากเซลล์หนูเพศผู้สำเร็จ

Getty Images

นักวิจัยชาวญี่ปุ่นประกาศความสำเร็จในการสร้างไข่จากเซลล์ของหนูตัวผู้ ซึ่งหากการวิจัยนี้ประสบผลสำเร็จในการสร้างไข่จากเซลล์มนุษย์เพศชาย จะทำให้ความหวังที่คู่รักเพศชายจะมีลูกด้วยตนเองได้

งานวิจัยนี้ยังอยู่ในช่วงตั้งต้น โดยเป็นการวิจัยเพื่อเปลี่ยนโครโมโซม XY ของหนูตัวผู้ ให้กลายเป็นโครโมโซม XX ของหนูตัวเมีย

ศาสตราจารย์ คัตซูฮิโกะ ฮายาชิ จากมหาวิทยาลัยโอซากะ เป็นผู้ดำเนินการวิจัยนี้ และได้ส่งผลการวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ “เนเจอร์” (Nature) โดยเขาได้นำผลการวิจัยนำเสนอต่อที่ประชุมด้านการตัดแต่งพันธุกรรมที่สถาบันคริกค์ในกรุงลอนดอน ของสหราชอาณาจักร

แม้จะไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ แต่ศาสตราจารย์ จอร์จ ดาลีย์ จากวิทยาลัยทางการแพทย์ฮาร์วาร์ด ระบุว่า งานวิจัยนี้ยังห่างไกลจากการนำมาใช้ได้จริง

“งานของฮายาชิไม่ได้รับการตีพิมพ์ แต่ก็น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ทำเช่นนี้กับมนุษย์มันยากกว่าหนูมาก” เขากล่าว

“เรายังไม่เข้าใจรูปแบบชีววิทยาของการเกิดเซลล์สืบพันธุ์ของมนุษย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวดีนัก เพื่อนำผลการวิจัยของฮายาชิที่ได้ผลกับหนูในมนุษย์”

ศาสตราจารย์ ฮายาชิ เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับระดับโลก โดยเขายอมรับกับผู้เข้าร่วมการประชุมว่า งานของเขายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะไข่ที่สร้างจากเซลล์เพศผู้ของหนู ยังมีคุณภาพที่ไม่ดีนัก ดังนั้น เทคนิคนี้จึงยังนำมาใช้กับมนุษย์ไม่ได้

แต่เขาบอกกับบีบีซีว่า เขาคาดว่าในอีก 10 ปีต่อจากนี้ แนวทางการรักษาปัญหาการมีลูก และบริการการมีลูกด้วยวิธีนี้ จะเป็นตัวเลือกให้กับทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และคู่รักเพศเดียวกัน หากได้รับการรับรองว่าปลอดภัย

“ถ้าคนต้องการ และสังคมยอมรับเทคโนโลยีนี ผมก็สนับสนุน”

เทคนิคนี้ เริ่มจากการนำเซลล์ผิวหนังของหนูตัวผู้ เปลี่ยนให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ชนิดอื่น ๆ ได้

เซลล์ของหนูตัวผู้ มีโครโมโซม XY สิ่งที่ทีมของ ศาสตราจารย์คัตซูฮิโกะทำ คือ ลบโครโมโซม Y ออกไป แล้วคัดลอกเพื่อสร้างโครโมโซม X ขึ้นมา ก่อนนำไปปะติดเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นโครโมโซม XX ของเพศเมีย ก่อนจะกระตุ้นให้สเต็มเซลล์เปลี่ยนเป็นไข่

BBC

BBC
ศาสตราจารย์คัตซูฮิโกะ ฮายาชิ (ซ้าย)

หากประสบความสำเร็จในมนุษย์ เทคนิคนี้จะช่วยให้คู่รักที่มีบุตรยาก ที่ผู้หญิงไม่สามารถผลิตไข่ออกมาได้เอง ทำให้สามารถมีบุตรได้ง่ายขึ้น แต่ ศาสตราจารย์คัตซูฮิโกะ ยอมรับว่า งานวิจัยนี้ยังห่างไกลจากการนำมาใช้ได้จริง

“แม้จะเป็นการทดลองในหนู แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของไข่หลายประการ ดังนั้น ก่อนจะนำเทคนิกนี้มาปรับใช้ในการรักษาปัญหาการมีบุตรยาก เราต้องก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ให้ได้ก่อน ซึ่งจะใช้เวลาอีกนาน”

ศาสตราจารย์คัตซูฮิโกะ ระบุว่า เขายังไม่สนับสนุนการนำเทคนิคนี้ไปใช้ เพื่อให้ผู้ชายสามารถมีลูกเองได้ ด้วยสเปิร์มของตัวเอง และไข่เทียมที่สร้างขึ้นมา (จากเซลล์เพศชาย)

“ในเชิงเทคนิคแล้ว มันเป็นไปได้ แต่ผมยังระบุไม่ได้ว่า มันจะปลอดภัยและสังคมจะยอมรับ”

ศาสตราจารย์อะแมนเดอร์ คลาร์ก นักวิทยาศาสตร์ด้านสเต็มเซลล์ จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในนครลอสแองเจลิส ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ควรจะมีส่วนแสดงความเห็นถึงเทคโนโลยีการสืบพันธุ์นี้

“ชุมชน LGBTQ+ มีความต้องการแบบเฉพาะตัว เพื่อสร้างครอบครัว ในอนาคต การสืบพันธุ์โดยคู่รักเพศเดียวกันด้วยผลการวิจัยลักษณะนี้ อาจเป็นไปได้”

“อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีดังกล่าวยังใช้กับมนุษย์ไม่ได้ ความปลอดภัยและประสิทธิภาพก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ และยังไม่แน่ชัดว่า อีกนานแค่ไหนที่เทคโนโลยีนี้ จะนำไปใช้กับคลินิกรักษาปัญหามีบุตรยาก”

วัฒนธรรมที่แตกต่าง

อัลตา ชาโร ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดดิสัน ระบุว่า วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จะมองการใช้เทคโนโลยีนี้ ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน หากเทคโนโลยีนี้ใช้ได้จริงกับมนุษย์

“ในบางสังคม การมีพันธุกรรมของคู่รักในตัวเด็ก ถือเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น คำถามคือ พวกเขาจะเลือกวิธีการนี้เพื่อมีบุตรหรือไม่”

“แต่ในบางสังคม เรื่องนี้ไม่สำคัญมากนัก และการอุปการะบุตรก็ถือว่ายอมรับได้ เพราะคำว่าครอบครัว มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ มากกว่าความเชื่อมโยงทางพันธุกรรม”

ศาสตราจารย์ เหายี่ หวัง วิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน เชื่อว่า ยังอีกห่างไกลที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ได้จริง

“นักวิทยาศาสตร์จะไม่พูดว่า หลักการที่ใช้ได้ผลกับหนู จะใช้ได้ผลกับมนุษย์ ผมมองเห็นความท้าทายมากมาย และไม่กล้าคาดเดาว่าต้องใช้เวลาอีกกี่ปีเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว