ทำไมกลุ่มชายโสดในอินเดียถึงเดินขบวนไกล 120 กิโลเมตร เพื่อหาเจ้าสาว

BBC ผู้จัดเดินขบวน กล่าวว่า ตอนแรกที่ประกาศกิจกรรมการเดินขบวน มีผู้ชายโสดสนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน แต่มีหลายคนที่ไม่ได้มา เพราะการรายงานข่าวของสื่อที่ออกมาในทางไม่ดีนัก

เมื่อเดือนที่แล้ว กลุ่มชายชาวอินเดียในรัฐกรณาฏกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ได้เดินขบวนเป็นระยะทาง 120 กิโลเมตร ไปขอพรที่วัดแห่งหนึ่ง เพื่อให้พวกเขาเจอกับเจ้าสาวที่จะแต่งงานด้วย ความพยายามนี้สร้างความตลกขบขันในโลกออนไลน์ แต่นักเคลื่อนไหวให้ความเห็นว่า เหตุผลเบื้องหลังนั้น เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับประเด็นทางสังคมเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ของอินเดีย

เหตุการณ์นี้ เริ่มจากกลุ่มผู้ชายราว 30 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวนาในเมืองมันยา (Mandya) รัฐกรณาฏกะ ได้มารวมตัวกัน ก่อนที่จำนวนจะเพิ่มเป็นผู้ชาย 60 คน

พื้นที่แถบนี้ของรัฐกรณาฏกะ เป็นพื้นที่ที่สัดส่วนการเกิดของประชากรเพศชายและหญิง ไม่สอดคล้องกันมาหลายสิบปีแล้ว

นักเคลื่อนไหว ระบุว่า ปริมาณประชากรชายที่มากกว่าหญิงอย่างมาก เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผู้ชายหาผู้หญิงที่จะเป็นคู่แต่งงานได้ยาก

ขณะที่บางคนมองว่า รายได้ของการทำเกษตรที่หดตัวลง และผู้หญิงมีวิธีการเลือกคู่ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาชายโสดล้นด้วย

มาลเลชา ดีพี เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมเดินขบวนของเหล่าชายโสด เพื่อเดินเท้าไปยัง “วัดมาเลมหาเดศวรา” (Male Mahadeshwara) ซึ่งผู้ศรัทธาเชื่อว่า เมื่อขอพรที่วัดนี้ ความปรารถนาของพวกเขาจะได้รับการเติมเต็ม

“ตอนที่ผมควรจะตกหลุมรักใครสักคน ผมกลับยุ่งอยู่กับการทำงาน ผมมัวแต่หาเงิน” เขากล่าว “ตอนนี้ผ มมีทุกอย่างในชีวิตแล้ว แจาผมกลับหาผู้หญิงมาแต่งงานด้วยไม่ได้”

ตอนนี้ มาลเลชา มีอายุเพียง 33 ปีเท่านั้น แต่เขาบอกว่า สำหรับคนในเมืองของเขา อายุเท่านี้ถือว่าเกินกว่าช่วงวัยที่ควรจะแต่งงานแล้ว

ด้าน ชีวปราชญ์ เคเอ็ม หนึ่งในผู้จัดการเดินขบวน กล่าวว่า ตอนแรกที่ประกาศกิจกรรมการเดินขบวน มีผู้ชายโสดสนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน

“หลายคนเปลี่ยนใจมา เพราะสื่อท้องถิ่นนำเสนอข่าวเรื่องการเดินของพวกเราในทางลบ” เขาระบุ

เมืองมันยา เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานดีเยี่ยม มีการปลูกอ้อยเป็นเกษตรกรรมหลัก แต่รายได้ของการทำเกษตรที่ตกลงทำให้อาชีพนี้เป็นที่ปรารถนาน้อยลง

“คนมักคิดว่าชายหนุ่มจากครอบครัวชาวไร่มีรายได้ที่ไม่แน่นอน” กฤษณะ ผู้ร่วมเดินขบวนวัย 31 กล่าว

นายมาลเลชา กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาถูกผู้หญิงปฏิเสธมาทั้งหมดราว 30 ครั้ง โดยพวกเธอบอกเหตุผลว่า เป็นเพราะอาชีพและวิถีชีวิตในชนบทของเขา

“แถวบ้านเราคนมีที่ดินไม่มาก และก็หาเงินได้ไม่มากด้วย” นายชีวปราชญ์ กล่าว พร้อมบอกว่า ผู้ชายที่มีรายได้จากทางอื่นอย่างการทำธุรกิจจะมีภาษีดีกว่า ในการมีคู่ครอง

bbc

BBC
นายมาลเลชา ถูกผู้หญิงปฏิเสธมาแล้ว 30 ครั้ง

ระหว่างที่กลุ่มชายโสดเดินขบวนไปที่วัด ชาวนาอีกกลุ่มในเขตนี้ก็กำลังประท้วงเรียกร้องให้ขึ้นราคาผลผลิตอ้อยที่พวกเขาปลูกได้

“ไม่มีใครเข้าใจว่าราคาของปัจจัยการผลิตมันเพิ่มขึ้นมาก” ผู้นำชาวไร่อ้อย ระบุ

นักเคลื่อนไหวกล่าวโทษเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะทัศนคติชายเป็นใหญ่ ที่ทำให้อัตราส่วนเพศเมื่อแรกเกิด (sex ratio at birth—SRB) ไม่สมดุลกัน ในช่วงเวลาที่กลุ่มชายโสดเหล่านี้เกิด เพิ่งมีการรณรงค์ให้รัฐแก้ปัญหาการเลือกเพศของลูก

“แม้ว่ารัฐจะห้ามการตรวจเพศของทารกก่อนคลอดเพื่อเลือกเพศของลูกในครรภ์เมื่อปี 1994 แต่การทำแท้งเพื่อเลือกเพศของทารกก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่นี้” นาเกรวักกา นักเคลื่อนไหวหญิงในพื้นที่ระบุ

“แม้กระทั่งในตอนนี้ หากไปดูที่สนามเด็กเล่นแถวบ้าน คุณจะพบว่ามีเด็กหญิงเพียง 20 คน แต่มีเด็กชายมากถึง 80 คน” เธอกล่าว

ตัวเลขการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดของเมืองมันยา ชี้ให้เห็นว่าอัตราส่วนระหว่างเพศเลวร้ายลง เปรียบเทียบจากปี 2001 สัดส่วนเพศหญิงต่อเพศชายอยู่ที่หญิง 971 คน ต่อผู้ชาย 1,000 คน แต่ล่าสุดในปี 2011 สัดส่วนห่างกันมากขึ้นเป็น 960 : 1,000 คน

ิิbbc

BBC
ตอนเริ่มเดินขบวนมีผู้ชายเข้าร่วม 30 คน แต่เมื่อถึงวัดมีชายโสดร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 60 คน

นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ผู้หญิงอินเดียในยุคนี้ ยังมีทางเลือกที่แตกต่างออกไป

ชยาชีลา ปรากาช หญิงที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเมืองมันยา ซึ่งปัจจุบันย้ายมาอยู่ที่แถบชานเมืองบังกาลอร์กับครอบครัว บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วเธอชอบอยู่อาศัยในหมู่บ้าน เพราะได้ใกล้ชิดธรรมชาติและง่ายที่ผูกสัมพันธ์กับผู้คน แต่เหตุที่ผู้หญิงอย่างเธอต้องย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง เพราะว่าในเขตเมืองผู้หญิงมีอิสระมากกว่า

“ถ้าผู้หญิงไปแต่งงานกับครอบครัวชาวไร่ชาวนา พวกเธอต้องขออนุญาตสามีเวลาที่จะออกไปไหนมาไหน” เธอกล่าว “ในคนรุ่นพวกเรา ไม่มีใครอยากใช้ชีวิตพึ่งพาใคร หรือต้องขึ้นอยู่กับใครแบบนั้นแล้ว”

อย่างไรก็ตาม นายมาลเลชา โต้แย้งว่าทัศนคติต่อผู้หญิงในเมืองมันยาเปลี่ยนไปแล้ว ผู้หญิงในครัวเรือนของพวกเรา ไม่ต้องเลี้ยงวัวควายหรือดูแลครอบครัวใหญ่เหมือนในอดีต เขากล่าวด้วยว่า เจ้าสาวของเขาจะไม่ต้องทำอาหารให้กับสมาชิกในครอบครัวที่มีมากเกิน 4 คน

ด้านผู้จัดเดินขบวนบอกว่า หลังจากจบกิจกรรมนี้ซึ่งเดินเท้าเป็นเวลา 3 วัน เขาได้รับข้อความจากชาวไร่ชาวนาว่าเจอสถานการณ์ที่คล้าย ๆ กันในรัฐอื่น เช่น รัฐอานธรประเทศ และในรัฐเกรละ

ท้ายสุด ผู้เข้าร่วมเดินขบวนต่างหวังว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับโชคชะตาของพวกเขา

“มันเป็นการเดินทางที่ยากลำบากอย่างยิ่ง พวกเราภาวนาว่าเราทุกคนจะได้แต่งงานในเร็ว ๆ นี้” นายมาลเลชา ระบุ


หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว