ความล้มเหลวของอังกฤษในภารกิจค้นหาอาวุธทำลายล้างของอิรัก

เป็นเวลา 20 ปีมาแล้วหลังจากสหรัฐฯ ได้ยกทัพเข้ารุกรานอิรัก ทว่ากรณีอื้อฉาวยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบันในเรื่องการมีอยู่ของ “อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง” (weapons of mass destruction หรือ WMD) ของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งสหราชอาณาจักรใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมในการเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้

ในพอดแคสต์ชุดใหม่ของบีบีซีที่ชื่อ Shock And War: Iraq 20 Years On กอร์ดอน คอแรรา ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของบีบีซีได้พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องโดยตรงจำนวนมาก และนำเสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการค้นหา WMD ของรัฐบาลและหน่วยข่าวกรองอังกฤษ

ความประหลาดใจคือปฏิกิริยาแรกของเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับ MI6 ของอังกฤษเมื่อได้ทราบจากเพื่อนร่วมงานในช่วงปลายปี 2001 ว่าพวกอเมริกันกำลังเอาจริงเรื่องทำสงครามในอิรัก

เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency หรือ CIA) หลายคนก็ยังจำท่าทีประหลาดใจของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอังกฤษได้เป็นอย่างดี

ลูอิส รูดา หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการอิรักของ CIA บอกว่า “ถ้าพวกเขา (เจ้าหน้าที่ข่าวกรองอังกฤษ) ไม่ใช่สุภาพบุรุษ พวกเขาก็คงจะข้ามโต๊ะมาตบหน้าผมแล้ว”

ข้อมูลดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ถนนดาวนิงอย่างรวดเร็ว โดยเป็นการนำส่งโดยเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง ไม่ใช่นักการทูต

เซอร์ ริชาร์ด เดียร์เลิฟ หัวหน้าหน่วย MI6 ในขณะนั้นให้สัมภาษณ์พิเศษเรื่องนี้กับบีบีซีว่า “ผมน่าจะเป็นบุคคลแรกที่บอกเรื่องนี้กับท่านนายกฯ”

“ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ จงเตรียมพร้อม เพราะดูเหมือนพวกนั้น (อเมริกัน) กำลังเตรียมยกทัพบุก”

MI6 ซึ่งเป็นหน่วยบริการข่าวกรองจากต่างประเทศ กำลังจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีที่เป็นประเด็นถกเถียง และส่งผลต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์กร

สำหรับสหรัฐฯ ประเด็นเรื่องอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง เป็นเรื่องรองจากความต้องการโค่นอำนาจจอมเผด็จการซัดดัม ฮุสเซน

“พวกเราจะเข้าจัดการอิรักอยู่ดี แม้ว่าซัดดัม ฮุสเซนจะครอบครองหนังยางและคลิปหนีบกระดาษ” นายรูดา หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการอิรักของ CIA กล่าว

สำหรับสหราชอาณาจักร การหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการยกทัพบุกอิรักนั้น คือการชูเรื่องการครอบครอง WMD ของอิรัก เช่น อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และอาวุธนิวเคลียร์เป็นประเด็นสำคัญ

แม้บางครั้งจะถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรกุข้อกล่าวหาเรื่อง WMD ขึ้นมาเพื่ออ้างความชอบธรรม แต่รัฐมนตรีหลายคนในยุคนั้นต่างบอกว่าพวกเขาได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่สืบราชการลับว่าอาวุธเหล่านี้มีอยู่จริง

เซอร์ โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษบอกกับคอแรรา ผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า “สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ ข่าวกรองที่ผมได้รับคือสิ่งที่ผมต้องพึ่งพา และผมคิดว่าผมมีสิทธิที่จะเชื่อถือมัน”

อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้เล่าให้บีบีซีฟังว่า ในวันก่อนการยกทัพบุกอิรัก เขาได้ขอให้คณะกรรมการข่าวกรองร่วมให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลเหล่านี้ และปฏิเสธจะวิจารณ์หน่วยข่าวกรองต่าง ๆ ที่ให้ข้อมูลผิดพลาด

ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นบอกว่าพวกเขามีความรู้สึกกังขาในขณะนั้น

แจ็ค สตรอว์ รัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้นเล่าว่า “ผมขอหลักฐานพิสูจน์ข้อมูลข่าวกรองนี้ถึง 3 ครั้งจากริชาร์ด เดียร์เลิฟ ผมรู้สึกไม่สบายใจเรื่องนี้ แต่เดียร์เลิฟยืนยันทุกครั้งว่าสายลับพวกนี้เชื่อถือได้”

อย่างไรก็ตาม นายสตรอว์บอกว่าในท้ายที่สุดแล้ว นักการเมืองคือผู้ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

เมื่อถามว่ากรณีของอิรักคือความล้มเหลวทางการข่าวกรองหรือไม่ เซอร์ริชาร์ด หัวหน้าหน่วย MI6 ในขณะนั้นตอบว่า “ไม่” เพราะเขายังคงเชื่อว่าอิรักมีโครงการอาวุธบางอย่าง และอาจมีการเคลื่อนย้ายอาวุธเหล่านี้เข้าไปไว้ในซีเรีย

แต่หลายคนไม่เห็นด้วย

Sir Richard Dearlove in 2008, sitting in the back of a car

Getty Images
เซอร์ ริชาร์ด เดียร์เลิฟ ในปี 2008

“มันคือความล้มเหลวครั้งใหญ่” เซอร์ เดวิด โอมันด์ ผู้ประสานงานความมั่นคงและข่าวกรองของสหราชอาณาจักรในขณะนั้นกล่าว เขาชี้ว่าความลำเอียงในการเลือกรับข้อมูลเพื่อยืนยันความเชื่อของตน ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลสหราชอาณาจักรรับฟังเฉพาะข้อมูลบางส่วนที่สนับสนุนความเชื่อว่าซัดดัม ฮุสเซน มี WMD ในครอบครอง และหักล้างข้อมูลที่พวกเขาไม่เชื่อ

เจ้าหน้าที่ MI6 บางคนก็เคยแสดงความกังวลเรื่องนี้ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานเกี่ยวกับอิรักคนหนึ่งที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อบอกว่า “ในตอนนั้นผมรู้สึกว่าพวกเรากำลังทำผิดพลาด”

อดีตเจ้าหน้าที่ผู้นี้เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงต้นปี 2002 ว่า “ขณะนั้นไม่มีข้อมูลใหม่ ข่าวกรองที่น่าเชื่อถือ หรือการประเมินใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าอิรักได้เริ่มดำเนินโครงการ WMD อีกครั้ง และพวกเขาเป็นภัยคุกคามซึ่งหน้า”

“ผมคิดว่าจากมุมมองของรัฐบาล WMD คือเรื่องเดียวที่พวกเขาหาได้…และเป็นประเด็นเดียวที่อาจใช้อ้างความชอบธรรมได้” เขากล่าว

ข้อมูลข่าวกรองที่มีอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2002 มีอยู่อย่างปะติดปะต่อ สายลับของ MI6 ผู้ปฏิบัติการในอิรักมายาวนานมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับ WMD จึงทำให้มีความพยายามอย่างหนักในการค้นหาข้อมูลจากแหล่งข่าวใหม่ เพื่อสนับสนุนแผนบุกอิรัก

แหล่งข่าววงในรายหนึ่งเล่าให้บีบีซีฟังถึงการถอดรหัสข้อความที่ระบุว่า “ไม่มีบทบาทไหนสำคัญไปกว่า” การที่หน่วยข่าวกรองจะโน้มน้าวใจชาวอังกฤษให้สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในอิรัก

ในวันที่ 12 ก.ย. 2002 เซอร์ ริชาร์ด ได้เดินทางไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษพร้อมกับข่าวสำคัญจากแหล่งข่าวใหม่ โดยบุคคลนี้อ้างว่า ซัดดัมได้เริ่มโครงการอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงขึ้นอีกครั้ง และให้คำมั่นจะส่งรายละเอียดเพิ่มเติมให้แก่ MI6 ในเร็ว ๆ นี้

แม้แหล่งข่าวรายนี้ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบเต็มรูปแบบ อีกทั้งข้อมูลของเขาก็ไม่ได้ถูกแบ่งปันแก่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ แต่ข้อมูลดังกล่าวกลับถูกส่งให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

เซอร์ ริชาร์ด ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเขาใกล้ชิดกับทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษมากเกินไป ทว่าในหลายเดือนต่อมา แหล่งข่าวใหม่ที่เขาอ้างถึงกลับไม่ส่งข้อมูลมาให้เพิ่มเติมตามที่รับปาก และท้ายที่สุดก็ถูกพิจารณาว่าข้อมูลที่มอบให้รัฐบาลอังกฤษเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น

มีความเป็นไปได้ว่าแหล่งข่าวใหม่ดังกล่าวปั้นเรื่องขึ้นเพื่อเงิน หรือเพราะต้องการเห็นซัดดัมถูกโค่นลงจากอำนาจ

ในเดือน ม.ค. 2003 คอแรรา ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้พบกับผู้แปรพักตร์จากหน่วยข่าวกรองของซัดดัมในประเทศจอร์แดน โดยเขาอ้างว่ามีส่วนร่วมในการพัฒนาห้องทดลองเคลื่อนที่เพื่อผลิตอาวุธชีวภาพโดยที่ผู้ตรวจสอบจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไม่ทราบ

คำกล่าวอ้างดังกล่าวไปถึงพลเอก โคลิน พาวเวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่นำเสนอเรื่องนี้ต่อยูเอ็นในเดือน ก.พ. 2003 แม้ว่าคนในรัฐบาลสหรัฐฯ บางคนจะระบุว่าข้อมูลดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือก็ตาม นอกจากนี้ยังพบว่า แหล่งข่าวอีกรายที่มีชื่อรหัสว่า Curveball ซึ่งป้อนข้อมูลให้สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรก็ถูกระบุว่าสร้างเรื่องเกี่ยวกับห้องทดลองดังกล่าวขึ้นเช่นกัน

Saddam Hussein, pictured in 1987

Getty Images
ซัดดัม ฮุสเซน เป็นประธานาธิบดีอิรักตั้งแต่ปี 1979 ก่อนถูกโค่นอำนาจในปี 2003

อย่างไรก็ตาม ต้องจดจำว่าข้อกล่าวหาเรื่องการครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงไม่ใช่เรื่องที่ไร้มูลความจริง เพราะก่อนหน้านี้ ซัดดัม ฮุสเซนเคยมีและใช้อาวุธเหล่านี้ โดยชาวบ้านที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของอิรักเล่าให้ผู้สื่อข่าวบีบีซีฟังว่ากองทัพของซัดดัมเคยทิ้งอาวุธเคมีใส่พวกเขาในปี 1988

หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของอิรักให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ซัดดัมได้สั่งทำลายอาวุธส่วนใหญ่ในโครงการ WMD ไปแล้วในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก ด้วยความหวังว่าจะผ่านการตรวจสอบจากคณะตรวจสอบด้านอาวุธของยูเอ็น

แม้ผู้นำอิรักหวังว่าอาจกลับไปเริ่มโครงการพัฒนา WMD อีกครั้ง แต่เขาได้แอบทำลายทุกอย่างไปอย่างลับ ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจว่าเขายังมีอาวุธบางส่วนอยู่และอาจใช้จัดการกับศัตรูอย่างอิหร่าน ดังนั้นเมื่อคณะผู้ตรวจสอบของยูเอ็นขอให้ผู้นำอิรักแสดงหลักฐานยืนยันการทำลายอาวุธทั้งหมด เขาจึงไม่สามารถทำได้

นักวิทยาศาสตร์อิรักคนหนึ่งเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า พวกเขาได้ทำลายสารประกอบอันตราย ซึ่งหน่วยข่าวกรองชาติตะวันตกระบุว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเป็นการแอบเทสารอันตรายดังกล่าวใกล้กับหนึ่งในที่พักของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งการยอมรับว่าได้กระทำการดังกล่าวไปอาจทำให้พวกเขาถูกผู้นำอิรักสังหารได้

การไม่มีหลักฐานยืนยันเรื่องที่ซัดดัมครอบครอง WMD ในขณะที่สงครามใกล้จะเริ่มต้นขึ้น ได้สร้างความกังวลให้นายโทนี แบลร์ ที่กล่าวติดตลกกับเซอร์ ริชาร์ดว่า “อนาคตของผมอยู่ในมือของคุณ” เพื่อกดดันให้ MI6 แสดงหลักฐานยืนยันในเดือน ม.ค. 2003

A 105mm gun is dropped by a Chinook helicopter to British 29 Commando Regiment Royal Artillery on the Fao Peninsula in southern Iraq, on March 21, 2003

Getty Images
ทหารกองทัพสหราชอาณาจักร ปฏิบัติการทางภาคใต้ของอิรัก มี.ค. 2003

ในตอนนั้น เซอร์ ริชาร์ด จำได้ว่าเป็นห้วงเวลาแห่งความอึดอัดใจ และได้กล่าวหาคณะตรวจสอบอาวุธของยูเอ็นว่าทำงาน “ไร้ประสิทธิภาพ” จึงตรวจไม่พบ WMD ในการครอบครองของอิรัก

นายฮานส์ บลิกซ์ ผู้นำคณะตรวจสอบอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพของยูเอ็น ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีช่วงต้นปี 2003 ว่า ก่อนหน้านี้เขาเชื่อว่าอิรักมีอาวุธประเภทนี้อยู่ แต่ก็เริ่มเกิดความกังขาหลังจากตรวจไม่พบหลักฐานใด ๆ เขาจึงต้องการเวลาตรวจสอบมากกว่านี้ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต

ความล้มเหลวในการค้นหา “หลักฐานชัดเจน” เพื่อพิสูจน์ว่าอิรักมี WMD ในครอบครอง ไม่ได้ช่วยหยุดยั้งการทำสงครามในเดือน มี.ค. 2003

นายโทนี แบลร์ ผู้นำอังกฤษขณะนั้นบอกบีบีซีว่า “ผมพยายามจนถึงนาทีสุดท้ายในการหลีกเลี่ยงปฏิบัติการทางทหาร”

เขาอ้างว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นไปตามหลักการในแง่ที่จำเป็นต้องจัดการกับจอมเผด็จการซัดดัม ฮุสเซน และการต้องรักษาความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรที่สำคัญอย่างสหรัฐฯ

อดีตเจ้าหน้าที่ MI6 เผยว่า การทบทวนภายในเรื่องแหล่งข่าวหลังสงครามอิรักสิ้นสุดลง ไม่พบหลักฐานว่าอิรักมี WMD ในครอบครอบอยู่ดี และนี่ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงและยาวนานต่อทั้งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองและนักการเมืองอังกฤษ

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว