สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย มุ่งสร้างทัพเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์พิทักษ์โลก

Reuters เรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ

ผู้นำสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย เปิดเผยรายละเอียดใหม่ เพื่อสร้างกองทัพเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์รุ่นใหม่ ภายใต้ข้อตกลงออคัส (AUKUS)

ภายใต้ข้อตกลงออคัส ออสเตรเลียจะได้รับเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ อย่างน้อย 3 ลำ

พันธมิตรไตรภาคีนี้ ยังเตรียมจะร่วมมือกันเพื่อสร้างทัพเรือดำน้ำใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงเตาปฏิกรณ์สร้างโดยบริษัท โรลส์-รอยซ์ ในสหราชอาณาจักร

ข้อตกลงออคัส มีเป้าประสงค์เพื่อคานอำนาจของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ประกาศร่วมกับผู้นำคนอื่น ๆ ในเมืองซานดิเอโอ ย้ำว่า เรือดำน้ำจะไม่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์และละเมิดความมุ่งมั่นของออสเตรเลียที่ต้องการเป็นประเทศปลอดอาวุธนิวเคลียร์

ภายใต้รายละเอียดใหม่ของข้อตกลงที่เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (13 มี.ค.) สมาชิกของราชนาวีออสเตรเลีย จะเข้าประจำการที่ฐานทัพเรือดำน้ำของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในปีนี้ เพื่อฝึกฝนทักษะที่จะเป็นสำหรับการใช้งานเรือดำน้ำ

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2027 สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จะส่งเรือดำน้ำจำนวนหนึ่งไปประจำการที่ฐานทัพของราชนาวีออสเตรเลียที่เมืองเพิร์ธ ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ก่อนที่ออสเตรเลียจะซื้อเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนีย ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2030 จำนวน 3 ลำ พร้อมตัวเลือกให้ซื้อเพิ่มได้อีก 2 ลำ

ผู้นำสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอังกฤษ ร่วมแถลงข่าว

Getty Images
ผู้นำสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอังกฤษ ร่วมแถลงข่าว

หลังจากนั้น รัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ จะออกแบบและสร้างทัพเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์รุ่นใหม่ สำหรับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย เรียกว่า SSN-AUKUS

โดยเรือดำน้ำจู่โจมรุ่นใหม่ จะสร้างในสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ตามการออกแบบของสหราชอาณาจักร แต่จะใช้เทคโนโลยีจากทั้งสามประเทศ

สำหรับเรือดำน้ำอย่างน้อย 3 ลำ ที่ออสเตรเลียจะซื้อจากสหรัฐฯ นั้น จะเพิ่มศักยภาพของกองทัพเรือให้เดินทางได้ไกล และรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงมีขีปนาวุธร่อนที่โจมตี ที่โจมตีเป้าหมายได้ทั้งภาคพื้นดินและในทะเล

ประธานาธิบดีไบเดนระบุว่า สามประเทศในข้อตกลงออคัส มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง โดยระหว่างการแถลงข่าวเรื่องนี้ ประธานาธิบดีไบเดน มีนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ยืนขนาบข้าง

“การสร้างพันธมิตรใหม่นี้ เรากำลังแสดงให้เห็นว่า ประชาธิปไตยสามารถรักษาความมั่นคงและความมั่งคั่งได้ด้วยตัวเราเอง… ไม่ใช่แค่ประเทศของเรา แต่ทั้งโลก”

ระหว่างการประกาศรายละเอียดของข้อตกลง สหรัฐฯ ยังประกาศงบประมาณกว่า 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 160,000 บาท ในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ เพื่อสร้างเรือดำน้ำศักยภาพสูง และยกระดับการดูแลรักษาเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนียให้ดียิ่งขึ้น

ออสเตรเลียจะซื้อเรือดำน้ำจากสหรัฐฯ 3 ลำ

Reuters
ออสเตรเลียจะซื้อเรือดำน้ำจากสหรัฐฯ 3 ลำ

ด้านนายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ระบุว่า แผนการซื้อและสร้างเรือดำน้ำจะช่วยสร้างงานหลายพันตำแหน่ง และถือเป็น “การลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพความมั่นคงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย”

“โครงการนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางอธิปไตยของออสเตรเลีย บังคับการโดยราชนาวีออสเตรเลีย แต่จะควบคุมโดยแรงงานออสเตรเลียในโรงต่อเรือที่จะเริ่มขึ้นในทศวรรษนี้” นายอัลบาเนซี กล่าว

เขายังระบุว่า ข้อตกลงนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 65 ปี และเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ ที่สหรัฐฯ แบ่งปันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้ประเทศอื่น

ด้านนายกรัฐมนตรี ริชี ซุนัค ระบุว่า นับแต่ประกาศข้อตกลงออคัสเมื่อ 18 เดือนก่อน ความท้าทายต่อเสถียรภาพโลกมีแต่เพิ่มขึ้น

“การรุกรานยูเครนอย่างผิดกฎหมายของรัสเซีย ความอหังการที่เพิ่มขึ้นของจีน พฤติกรรมบั่นทอนเสถียรภาพของอิหร่านและเกาหลีเหนือ ล้วนคุกคามและนำไปสู่โลกที่อันตราย ไร้ระเบียบ และแตกแยก”

ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำสหราชอาณาจักร นายซุนัค ได้ให้คำมั่นจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมอีกเกือบ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 2 ปีนับจากนี้ เพื่อรับมือภัยคุกคามจากประเทศที่ไม่เป็นมิตร

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงออคัสอย่างหนัก โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน นายเหมา หนิง ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ข้อตกลงออคัสสุ่มเสี่ยงนำไปสู่การแข่งขันสะสมอาวุธ และ “บั่นทอนสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

“เราเรียกร้องให้สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ล้มเลิกทัศนคติสมัยสงครามเย็น และเกมผลรวมเป็นศูนย์ (Zeo-Sum Game) โดยหันมาทำตามพันธะต่อนานาประเทศ และส่งเสริมการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคแทน” เขากล่าว

สำหรับประเด็นความกังวลว่าชาติตะวันตก กำลังเพิ่มอิทธิพลทางทหารในอินโด-แปซิฟิกหรือไม่นั้น นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งสหรัฐฯ ยืนกรานว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างพันธมิตรเหมือนนาโตแห่งใหม่ในเอเชีย

แม้ผู้นำสามประเทศจะเน้นย้ำถึงการเพิ่มความร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพโลก แต่ข้อตกลงออคัสเผชิญกับปัญหาเชิงการเมืองไม่น้อย

เมื่อปี 2021 ออสเตรเลียได้ยกเลิกข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ กับฝรั่งเศส เพื่อเข้าร่วมข้อตกลงออคัสแทน ส่งผลให้ออสเตรเลียบาดหมางกับฝรั่งเศส

ผู้สื่อข่าวบีบีซีในนครซิดนีย์ ระบุว่า ข้อตกลงออคัสทำให้กองทัพออสเตรเลียใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร มากกว่าที่แล้วมา

กลับกัน รัฐบาลออสเตรเลียจะเผชิญกับปัญหาเปราะบางเชิงการทูตนับจากนี้ไป โดยจีนนั้น เป็นคู่ค้ารายสำคัญที่สุดของออสเตรเลีย จึงเกิดคำถามว่า ออสเตรเลียจะสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐฯ พร้อมกับขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนได้อย่างไร

รัฐบาลออสเตรเลียประเมินว่า ข้อตกลงออคัสจะทำให้ออสเตรเลียต้องใช้งบประมาณกว่า 12.7 ล้านล้านบาทในช่วง 30 ปีนับจากนี้ไป

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว