แฉขบวนการหมอลวงโลก หลอกให้ความหวังคนตาใกล้บอดมีทางรักษาหาย

BBC ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคอาร์พีกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก แต่ยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลกับผู้ป่วยส่วนใหญ่

บุคลากรทางการแพทย์บางส่วน ซึ่งทั่วโลกมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยในขณะนี้ กำลังหลอกให้ความหวังผู้ป่วยโรคตาที่การมองเห็นของพวกเขาใกล้จะดับมืดลงในไม่ช้า โดยอวดอ้างว่ามีหนทางรักษาโรคร้ายแรงดังกล่าวให้หายได้ พร้อมกับเสนอขายยาวิเศษและวิธีบำบัดแสนมหัศจรรย์ ซึ่งความจริงแล้วล้วนแต่เป็นของปลอมลวงโลก

เมื่อปี 2013 ผมเดินทางไปกรุงปักกิ่งของจีน เพื่อเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคจอประสาทตามีสารสี หรือโรคจอประสาทตาเสื่อมด้วยสาเหตุทางพันธุกรรม ซึ่งเรียกกันโดยย่อว่าโรคอาร์พี (retinitis pigmentosa – RP) การที่ผมป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้นี้ หมายความว่าดวงตาของผมจะค่อย ๆ มืดมัวลง จนบอดสนิทในที่สุด

ผมต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในความมืดเป็นเวลา 5 วันเต็ม แต่ในใจเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า การผ่าตัดที่ลงทุนจ่ายเงินไปถึงเกือบ 450,000 บาท จะหยุดยั้งความเสื่อมของจอประสาทตาและเปลี่ยนชีวิตผมได้

เมื่อออกจากโรงพยาบาลและเดินทางกลับบ้านที่กรุงไคโรของอียิปต์ ผมเที่ยวบอกกับญาติมิตรไปทั่วว่า สายตาของผมหลังการผ่าตัดนั้นดีขึ้นมาก ทั้งที่จริงแล้วมันแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย หลายเดือนต่อมาการมองเห็นของผมแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งแสดงว่าเซลล์รับแสงในจอประสาทตายังคงเสื่อมสภาพและตายไปอยู่ทุกขณะ

ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ยังคงไม่มีวิธีรักษาโรคอาร์พีให้หายขาด เว้นแต่การทำยีนบำบัดที่ได้ผลเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีความบกพร่องของยีนบางตัวเท่านั้น แต่สภาพการณ์ที่สิ้นหวังเช่นนี้ กลับเปิดโอกาสให้ขบวนการลวงโลกอวดอ้างว่าตนมีวิธีพิเศษในการรักษา โดยกลุ่มผู้ให้ความหวังจอมปลอมเหล่านี้มีอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่รัสเซีย ฉนวนกาซาในปาเลสไตน์ หรือแม้แต่ที่นครไมอามีของสหรัฐฯ

A close-up portrait of BBC reporter Ramadan Younes

BBC
รามาดาน ยูเนส ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ป่วยเป็นโรคอาร์พี ได้พูดคุยกับผู้ป่วยหลายสิบคนที่ตกเป็นเหยื่อของหมอลวงโลก

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผมเฝ้าตามหาวิธีรักษาโรคอาร์พี ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยโรคเดียวกันหลายคน ตัวอย่างเช่นชายผู้หนึ่งที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ฉนวนกาซา เขาต้องพยายามรวบรวมเงินหลายพันดอลลาร์สหรัฐ โดยขอยืมจากบรรดาเพื่อนและญาติสนิท เพื่อเอาไปรักษาดวงตาด้วยวิธีฉีดน้ำตาลกลูโคสและวิตามิน รวมถึงใช้อุปกรณ์สั่นสะเทือนช่วยนวดดวงตา แต่ก็ไม่ดีขึ้น

ผู้ป่วยอีกคนที่ประเทศซูดานถูกหมอที่นั่นชักจูงให้เดินทางไปรัสเซียทุกปี เพื่อรับการฉีดวิตามินราคาหลายพันดอลลาร์ แต่เมื่อลองตรวจสอบเรื่องนี้ทางโทรศัพท์กับโรงพยาบาลดังกล่าวที่รัสเซีย เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งกลับยอมรับว่าวิธีฉีดวิตามินนั้นอาจไม่ได้ผล

แต่กรณีที่เหลือเชื่ออย่างยิ่ง ได้แก่การอวดอ้างของ นพ. เจฟฟรีย์ ไวส์ ซึ่งเปิดคลินิกอยู่ที่นครไมอามีของสหรัฐฯ เขาเผยแพร่คลิปวิดีโอซึ่งโฆษณาการผ่าตัดรักษาโรคอาร์พี โดยบอกว่า “ผมกำลังรักษาโรคที่ไม่อาจรักษาได้ ผมกำลังรักษาคนที่ไม่เคยมีความหวังใด ๆ มาก่อน” ซึ่งเป็นข้อความเท็จหลอกลวงผู้ป่วย ที่ไม่ควรจะมีอยู่ในระบบสาธารณสุขซึ่งมีการกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

อันที่จริงการผ่าตัดรักษาของ นพ. ไวส์ ยังถือเป็นการทดลองระดับคลินิกอยู่ และยังไม่ใช่วิธีรักษาที่ผ่านการตรวจสอบหรือได้รับอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐแล้วแต่อย่างใด ที่น่าสงสัยยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ป่วยแต่ละรายที่สนใจเข้าร่วมการทดลอง จะต้องจ่ายเงินก้อนโตถึงเกือบ 700,000 บาท

A split screen image showing Dr Steven Levy on a call with BBC reporter Ramadan Younes

BBC
นพ. สตีเวน เลวี (ซ้าย) อวดอ้างผลการรักษาที่ดีเยี่ยมกับยูเนส ซึ่งตรงข้ามกับคำบอกเล่าของผู้ป่วยส่วนใหญ่

พญ. จูดี คิม ประธานสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตาอเมริกันบอกกับบีบีซีว่า การคิดเงินค่าเข้าร่วมการทดลองระดับคลินิกนั้น เป็นพฤติการณ์ทางจริยธรรมที่น่าตำหนิติเตียน และขัดกับแนวทางปฏิบัติที่ยอมรับกันในวงกว้าง

ผมแสร้งทำเป็นผู้ป่วยคนหนึ่งที่สนใจเข้าร่วมการทดลอง จนมีโอกาสได้พูดคุยกับนพ.สตีเวน เลวี “ประธานโครงการวิจัย” ของนพ. ไวส์ ผ่านทางวิดีโอคอล และได้แอบบันทึกการสนทนาครั้งนี้เอาไว้ด้วย

นพ.เลวีอธิบายว่า จะมีการนำเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ออกจากไขกระดูกของผู้ป่วย แล้วฉีดเข้าไปใต้เปลือกตาเพื่อให้สเต็มเซลล์ผ่านเข้าถึงเรตินา หรือจอประสาทตาตรงด้านหลังของเบ้าตา เขายังอ้างว่านพ.ไวส์ ทำการผ่าตัดแบบนี้ให้กับผู้ป่วยมาแล้วถึง 700 คน โดยไม่มีผลข้างเคียง และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการมองเห็นที่ดีขึ้น

A portrait of Ahmed Faroukhi, wearing dark glasses, by the ocean

BBC
อาเหม็ด ฟารูกี บอกว่าตาซ้ายของเขามองไม่เห็นอีกต่อไป หลังรับการรักษาจาก นพ. เจฟฟรีย์ ไวส์

อย่างไรก็ตาม อาเหม็ด ฟารูกี อดีตผู้เข้าร่วมการทดลองของนพ. ไวส์ บอกว่าเขาสูญเสียการมองเห็นในตาซ้ายไปอย่างสิ้นเชิง หลังเข้ารับการผ่าตัดรักษาตามวิธีของจักษุแพทย์ลวงโลกผู้นี้ เหตุการณ์ที่เหมือนฝันร้ายดังกล่าวทำให้ฟารูกีพยายามเผยแพร่ประสบการณ์ของตนเองผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเตือนผู้คนไม่ให้หลงเชื่อขบวนการให้ความหวังจอมปลอม

ฟารูกีฝากคำพูดของเขาไปถึงนพ. ไวส์ ว่า “หยุดทำลายอนาคตของผู้คนเสียที พอได้แล้ว” ผู้เข้าร่วมการทดลองอีกจำนวนมากยังบอกกับผมว่า พวกเขาต้องเจอผลข้างเคียงจากการผ่าตัดและการฉีดสเต็มเซลล์ โดยส่วนใหญ่มักมองเห็นสิ่งแปลกปลอมคล้ายฝุ่นละอองล่องลอยอยู่ในลูกตา

คนเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการลวงโลก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อยู่ในสหรัฐฯ พบรายละเอียดของการทดลองดังกล่าวที่เว็บไซต์ของรัฐบาล Clinicaltrials.gov จึงทำให้ดูมีความน่าเชื่อถือ แม้จะมีคำเตือนสั้น ๆ ในเว็บไซต์ระบุว่า “รายชื่อของการศึกษาวิจัยที่แสดงบนเว็บไซต์นี้ อาจไม่ได้ผ่านการประเมินหรือรับรองจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯทั้งหมด”

เมื่อนำคลิปบันทึกการสนทนาระหว่างผมกับนพ. เลวี ไปให้อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางจักษุวิทยา 3 รายได้วิเคราะห์ ผลปรากฏว่านพ. ไบรอน หลำ จากสถาบันจักษุบาสคอม-พาลเมอร์ ที่นครไมอามีถึงกับบอกว่า วิธีผ่าตัดเอาสเต็มเซลล์จากไขกระดูกมาฉีดเข้าไปที่จอประสาทตานั้น “บ้าชัด ๆ” เพราะวิธีดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง

นพ. โทมัส อัลบินี จากสถาบันจักษุบาสคอม-พาลเมอร์ แสดงความเห็นว่า “เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อได้ว่า ไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้นจากวิธีรักษาแบบนี้ มันมีความเสี่ยงอยู่มากทั้งในเรื่องการใช้ยาชาหรือยาสลบระงับความรู้สึก ไหนจะความเสี่ยงเรื่องการผ่าตัดนำไขกระดูกออกมา แถมมีความเสี่ยงต่อดวงตาจากการฉีดสเต็มเซลล์ด้วย”

ศ. โรเบิร์ต แม็กลาเรน จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักรบอกว่า “นี่ไม่ใช่การทดลองระดับคลินิกที่แท้จริงหรือได้มาตรฐาน ทั้งเป็นวิธีรักษาที่น่ากลัวว่าจะสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นแก่ผู้ป่วย แพทย์ที่รักษาในแบบดังกล่าวจะต้องหยุดเดี๋ยวนี้”

A still image from a video of Dr Jeffrey Weiss making a presentation about his purported treatment for RP

BBC
ภาพจากคลิปวิดีโอที่ นพ. เจฟฟรีย์ ไวส์ อ้างว่าเขาสามารถ “รักษาโรคที่รักษาไม่หาย” ได้สำเร็จ

หลังจากที่ผมเปิดเผยตัวกับ นพ. เลวี ว่าเป็นผู้สื่อข่าวบีบีซี และขอสัมภาษณ์ นพ. ไวส์ โดยตรง นพ. เลวี ได้เขียนอีเมลตอบกลับมาว่า “ความต้องการแสวงหาชื่อเสียงโด่งดังเพียงชั่วขณะของคุณ โดยมุ่งทำลายการศึกษาวิจัยของเรานั้น ช่างเหลือเกินอย่างไม่มีขอบเขตเสียจริง ๆ คุณคือความอัปยศของครอบครัวและผู้คนนับล้านทั่วโลก ที่ต้องทุกข์ทรมานจากโรคตาที่รักษาไม่หาย”

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เมื่อปี 2021 นพ. ไวส์ถูกเพิกถอนสมาชิกภาพอย่างถาวรจากสถาบันจักษุวิทยาอเมริกัน (AAO) หลังทางสถาบันได้ดำเนินการตรวจสอบ “การทดลองระดับคลินิก” ของเขาโดยละเอียด ซึ่งได้ข้อสรุปว่า นพ. ไวส์ ทำผิดกฎของสมาคม เนื่องจาก “ให้ข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนที่หลอกลวงประชาชน ให้ความหวังต่อผลการรักษาที่เกินจริง ละเมิดกฎของสมาคมโดยใช้วิธีรักษาโรคที่ขาดความปลอดภัยและไม่มีประสิทธิภาพตามที่อวดอ้าง”

ก่อนหน้านั้น นพ. เลวี ยังถูกยึดใบประกอบโรคศิลป์ในรัฐคอนเนตทิคัตและรัฐนิวยอร์กไปตั้งแต่ปี 2004 โดยกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯ ตั้งข้อหาเพื่อเอาผิดกับเขาเรื่องละเมิดจริยธรรมวิชาชีพใน 41 กรณีด้วยกัน ซึ่งรวมถึงการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขาดความสามารถในการประกอบวิชาชีพแพทย์ในหลายกรณี ใช้วิธีการหลอกลวงรักษาโรคและละเมิดกฎหมายของรัฐบาลกลาง ซึ่งนพ. เลวีก็มิได้โต้แย้งหรือยื่นอุทธรณ์แก้ต่างข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

แม้จะมีช่องทางในการฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมายกับบรรดาจักษุแพทย์ลวงโลกได้ แต่แอนดรูว์ ยาฟฟา ทนายความผู้เชี่ยวชาญคดีทางการแพทย์บอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อหยุดยั้งคนทุจริตเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการจะปิดคลินิกของพวกเขาในรัฐฟลอริดา

“มีผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษากว่า 15 รายแล้ว ที่มาปรึกษาผมในกรณีนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าการฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับการแพทย์ในรัฐฟลอริดานั้นซับซ้อนยุ่งยากและมีราคาแพงมาก” ยาฟฟากล่าว

“เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเสียหายในดวงตาที่รุนแรงมากอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นจึงยากที่ศาลจะตัดสินให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยก้อนโต ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้ค่าเสียหายมาไม่พอกับค่าใช้จ่ายจิปาถะต่าง ๆ ในการฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยซ้ำ”

ด้านองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ (FDA) นั้น ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อเอาผิดต่อนพ. ไวส์ และ นพ.เลวี เนื่องจากมีบุคลากรไม่เพียงพอ ส่วนข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของเอฟดีเอ ที่สามารถใช้เอาผิดหมอลวงโลกทั้งสองได้นั้น ยังคงคลุมเครือและขาดความชัดเจนที่จะนำไปลงโทษพวกเขาได้อย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม เอฟดีเอมีแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า “ธุรกิจที่อวดอ้างอย่างเกินจริงถึงประสิทธิภาพของเทคนิคเซลล์บำบัด (cell therapy) ทั้งที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์รับรอง เท่ากับว่าได้สร้างความเสียหายต่อผู้ที่กำลังมุ่งคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์สเต็มเซลล์ ซึ่งจะต้องปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ”

เอฟดีเอยังแถลงว่า “วิธีบำบัดรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์รับรอง อาจไม่ปลอดภัยและนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรง ทำให้ตาบอดสนิทหรือถึงกับเสียชีวิตได้”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว