20 ปีสงครามอิรัก ย้อนรอยตัวละครดัง

Getty Images

เป็นเวลา 20 ปีมาแล้วนับตั้งแต่สหรัฐฯ และพันธมิตรยกทัพเข้ารุกรานอิรัก ซึ่งนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพรุนแรงที่ยังส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันทั้งในและนอกประเทศอิรัก

ปฏิบัติการทางทหารที่อื้อฉาวนี้เปิดฉากขึ้นเมื่อ 20 มี.ค. 2003 และสามารถโค่นอำนาจจอมเผด็จการซัดดัม ฮุมเซน ได้อย่างรวดเร็ว ทว่าได้ส่งผลให้เกิดความไม่สงบ และการแบ่งขั้วทางการเมืองมาถึงทุกวันนี้

ซัดดัมหลบหนีการไล่ล่าได้เกือบ 9 เดือน ก่อนจะถูกจับตัวได้ในเดือน ธ.ค. 2003 และถูกรัฐบาลชุดใหม่ของอิรักประหารชีวิตในอีก 3 ปีต่อมา

แต่เกิดอะไรขึ้นกับผู้มีบทบาทสำคัญคนอื่น ๆ ในสงครามครั้งนี้

ซัดดัม ฮุสเซน

Saddam Hussein during his presidency days

Getty Images

ซัดดัมปกครองอิรักอย่างกดขี่และโหดร้ายระหว่างปี 1979-2003 แม้จะรอดพ้นจากการถูกโค่นอำนาจของกองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐฯ ในสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1990-91 แต่เขาก็ถูกบีบให้ถอนกำลังทหารออกจากคูเวต ซึ่งถูกกองทัพอิรักเข้ารุกรานในเดือน ส.ค. 1990

แต่ในปฏิบัติการทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค.2003 กองทัพอิรักต้องเผชิญความปราชัยภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ส่งผลให้ซัดดัมต้องหลบหนี ก่อนจะถูกทหารอเมริกันจับตัวได้ในวันที่ 13 ธ.ค.ปีเดียวกัน

ซัดดัมถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปี 2006 ที่กรุงแบกแดด สถานีโทรทัศน์ของทางการอิรักถ่ายทอดภาพของอดีตผู้นำเผด็จการถูกนำตัวไปยังตะแลงแกงในช่วงก่อนรุ่งเช้าที่อาคารหลังหนึ่งซึ่งหน่วยข่าวกรองของเขาเคยใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตผู้คน

เขาแสดงการขัดขืนครั้งสุดท้าย ด้วยการปฏิเสธการสวมผ้าคลุมศีรษะ

จอร์จ ดับเบิลยู บุช

President Bush at a conference in November 2022

BBC

ในปี 2003 จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่สองที่ทำสงครามกับอิรัก ตามรอยของ จอร์จ บุช ผู้พ่อ ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ระหว่างปี 1989-1993

ในสัปดาห์หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ในปี 2001 ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกได้รับคะแนนสนับสนับสนุนสูงสุดจากประชาชน (91% ตามการสำรวจของแกลลัพ) แต่การบัญชาการสงครามอิรักของเขา ซึ่งคร่าชีวิตทหารอเมริกันไปกว่า 4,400 นาย ก็ทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งในปี 2009 ไปด้วยคะแนนนิยมต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจัดทำโพลมา

จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งปัจจุบันอายุ 75 ปี ใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ หลังพ้นจากตำแหน่ง แต่ในการปรากฏตัวต่อสื่อที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เขาได้ยืนกรานความชอบธรรมในการตัดสินใจนำประเทศเข้าสู่สงครามกับอิรัก

โธมัส อี ริคส์ ผู้สื่อข่าว และนักเขียนเจ้าของรางวัลพูลลิตเซอร์จากหนังสือเรื่อง Fiasco: The American Military Adventure in Iraq ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า “มีความพยายามอย่างต่อเนื่องจากบุคคลในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ระบุว่าสงครามอิรักเป็นสิ่งถูกต้องที่ต้องทำ แม้ภาพภายนอกจะดูไม่เป็นเช่นนั้น”

นายริคส์ชี้ว่า “ความพยายามสร้างความชอบธรรมนี้ใช้ไม่ได้กับความสูญเสียมหาศาลจากสงครามต่อทั้งชาวอิรักและชาวอเมริกัน อีกทั้งไม่สามารถตอบได้ว่าการรุกรานของอเมริกาครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรในตะวันออกกลาง”

จอร์จ ดับเบิลยู บุช ปรากฏตัวในรัฐพิธีสำคัญของชาติบางครั้ง แต่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่บ้านไร่ในรัฐเท็กซัส และทำงานอดิเรกที่เขารัก เช่น การวาดภาพ โดยเขาตีพิมพ์หนังสือรวบรวมผลงานในปี 2021

ดิก เชนีย์

Dick Cheney in 2022

Getty Images

รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นี้คือผู้สนับสนุนคนสำคัญของปฏิบัติการทางทหารต่ออิรัก เขาเคยกล่าวหารัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน อย่างเปิดเผยหลายครั้งว่ามี “อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง” (weapons of mass destruction หรือ WMD) ในครอบครอง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เป็นเหตุผลในการทำสงครามกับอิรัก

ขณะที่อิรักตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบระหว่างนิกายย่อยต่าง ๆ ในศาสนา ในปี 2006 นายเชนีย์ก็เข้าไปเกี่ยวข้องในอุบัติเหตุรุนแรงเช่นกัน เมื่อยิงคู่หูล่าสัตว์เข้าที่ใบหน้า ลำคอ และหน้าอกโดยไม่ตั้งใจ

เคราะห์ดีที่ แฮร์รี วิตทิงตัง เพื่อนวัย 78 ปีของเขารอดชีวิตมาได้ โดยนายเชนีย์ให้สัมภาษณ์กับฟอกซ์ทีวีว่า “มันไม่ใช่ความผิดของแฮร์รี เพราะสุดท้ายผมคือคนที่ลั่นไก”

นายเชนีย์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 82 ปีทำตัวแตกต่างจากจอร์จ ดับเบิลยู บุช อย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่พ้นจากตำแหน่ง โดยเขามักออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเข้าร่วมการรณรงค์หาเสียง เขายังวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อย่างตรงไปตรงมาต่อเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. 2021

โดนัลด์ รัมส์เฟลด์

เขาคือรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ระหว่างปี 2001-2006 และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ รวมทั้งเป็นประเด็นถกเถียงจากการมีส่วนร่วมในการที่สหรัฐฯ ดำเนินปฏิบัติการทางทหารในอิรักและอัฟกานิสถาน

หนึ่งในประเด็นที่นายรัมส์เฟลด์ตกเป็นเป้าโจมตีคือการที่เขาถูกกล่าวหาว่าจัดหา “การประเมินข่าวกรองทางเลือก” เพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนการกำจัดซัดดัม ฮุสเซน และมองข้ามการทรมานเชลยสงครามของกองทัพสหรัฐฯ

นายรัมส์เฟลด์พ้นจากตำแหน่งในปี 2006 ท่ามกลางกระแสต่อต้านที่เพิ่มขึ้นของชาวอเมริกันต่อการจัดการสถานการณ์หลังสงครามอิรักของสหรัฐฯ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ได้หายหน้าไปจากสังคม และออกหนังสืออัตชีวประวัติ รวมทั้งเข้าร่วมในสารคดีเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของเขา และประสานเสียงเตือนนายทรัมป์ที่พยายามพลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เขาพ่ายแพ้ในปี 2020

นายรัมส์เฟลด์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในเดือน มิ.ย. 2021

คอนโดลีซซา ไรซ์

Condoleezza Rice playing at an amateur golf tournament in 2019

Getty Images

ดร.ไรซ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติหญิงคนแรกของสหรัฐฯ จากนั้นก็ก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ระหว่างปี 2005-2009 ถือเป็นหนึ่งในตำแหน่งสูงสุดที่สตรีผิวดำเคยได้รับในประวัติศาสตร์รัฐบาลสหรัฐฯ

นอกจากจะเป็นผู้สนับสนุนการทำสงครามในอิรัก ดร.ไรซ์ ยังมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวสื่ออเมริกันถึงภัยคุกคามจากรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน เธอเคยให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า ผู้นำอิรักอาจหาอาวุธนิวเคลียร์มาครอบครองได้อย่างรวดเร็ว

หลังพ้นจากตำแหน่งในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ดร.ไรซ์ ได้กลับไปทำงานวิชาการที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจนถึงปัจจุบัน ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันฮูเวอร์

พอล เบรเมอร์

นายเบรเมอร์ ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ให้เป็นผู้นำรัฐบาลผสมชั่วคราวของอิรัก ในเดือน พ.ค.2033 ซึ่งถือเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนที่มีอำนาจสูงสุดในอิรัก

การตัดสินใจสั่งยุบกองทัพอิรักของเขาได้จุดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง นอกจากนี้ นายเบรเมอร์ยังเผชิญข้อกล่าวหาการใช้เงินทุนฟื้นฟูอิรักโดยมิชอบ

นายเบรเมอร์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 81 ปีใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ในชนบทรัฐเวอร์มอนต์ เขาปรากฏในสื่อสหรัฐฯ ในปี 2018 หลังจากมีข่าวว่าเขาทำงานเป็นครูสอนสกีที่รีสอร์ตแห่งหนึ่ง

https://twitter.com/un_a_valeable/status/1634304187063230472

โคลิน พาวเวลล์

A close-up of Colin Powell (left) and George W. Bush in 2002

Getty Images

พลเอก โคลิน พาวเวลล์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก่อนหน้า ดร.ไรซ์ ถือเป็นบุคคลผิวดำคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้

ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นประธานคณะเสนาธิการร่วมในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียระหว่างปี 1990-1991

พลเอก พาวเวลล์ มีความคิดต่างจากคนอื่น ๆ ในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช คือคัดค้านการยกทัพบุกอิรักในช่วงแรก ทว่าในเดือน ก.พ. 2003 เขาได้กล่าวโน้มน้าวให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารนี้ อีกทั้งแสดงหลักฐานที่กล่าวหาว่ารัฐบาลซัดดัมแอบครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง

พลเอก พาวเวลล์ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปี 2004 หลังจากยอมรับต่อสภาคองเกรสว่าข้อมูลข่าวกรองที่นำเสนอในปีก่อนหน้านั้น “ไม่ถูกต้องแม่นยำ”

ในเวลาต่อมาเขาทำงานเป็นนักพูดสาธารณะ และในปี 2008 ได้ตัดสัมพันธ์กับพรรครีพับลิกัน เพื่อให้การสนับสนุนนายบารัค โอบามาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต

ในปี 2021 พลเอก พาวเวลล์ เสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากโควิด-19 ขณะมีอายุ 84 ปี

โทนี แบลร์

อาจพูดได้ว่าชื่อเสียงของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้นี้ได้รับความเสื่อมเสียจากการสนับสนุนสงครามอิรักมากกว่าอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช

นายแบลร์ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากคณะสอบสวนกรณีสหราชอาณาจักรเข้าร่วมในสงครามอิรัก ซึ่งในปี 2016 ได้ข้อสรุปว่าเขาพูดเกินจริงเกี่ยวกับภัยคุกคามจากซัดดัม ฮุสเซน และส่งทหารที่ไม่ได้รับการเตรียมพร้อมอย่างเหมาะสมออกสู่สมรภูมิ อีกทั้งไม่มีการเตรียมแผนการรองรับที่เหมาะสมในช่วงหลังสงคราม

นายแบลร์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 69 ปี ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษในปี 2007 จากนั้นได้อุทิศตนให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Tony Blair Institute for Global Change แต่เรื่องอื้อฉาวของสงครามอิรักยังคงเป็นเงาบดบังชื่อเสียงเขาเรื่อยมา โดยเมื่อเดือน ม.ค.ปีก่อน มีประชาชนกว่า 500,000 คนร่วมลงนามคัดค้านการมอบบรรดาศักดิ์อัศวินให้แก่เขา

ฮานส์ บลิกซ์

Getty Images

ฮานส์ บลิกซ์ เป็นนักการทูตและนักการเมืองชาวสวีเดนผู้นำคณะกรรมการของยูเอ็นที่มีหน้าที่ตรวจสอบการครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงของอิรัก และในท้ายที่สุดก็ไม่พบอาวุธดังกล่าวในช่วงก่อนที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะยกทัพบุกอิรักในปี 2003

ปัจจุบันนายบลิกซ์อาศัยอยู่ในกรุงสตอกโฮล์ม และยังมีบทบาทในการอภิปรายเรื่องนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศ เขายังเตรียมออกหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อ A Farewell to Wars ในวัย 94 ปี

อาลี ฮัสซัน อัล-มาจิด

อดีตผู้บัญชาการกองทัพอิรักผู้นี้ได้รับฉายาว่า Chemical Ali หรือ “อาลีจอมเคมี” จากการเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ก๊าซพิษโจมตีกลุ่มกบฏชาวเคิร์ด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

เขาถูกทหารอเมริกันจับตัวได้ในเดือน ส.ค. 2003 และถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในเดือน ม.ค. 2010

มูฮัมหมัด ซาอีด อัล-ชาห์ฮาฟ

Getty Images
อัล-ชาห์ฮาฟ (ขวา) เป็นที่รู้จักในหมู่สื่อตะวันตกจากการแถลงข่าวที่เต็มไปด้วยสีสัน

อัล-ชาห์ฮาฟ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีข่าวสารของอิรักในช่วงสงครามปี 2003 และได้รับสมญานามจากสื่อตะวันตกว่า Comical Ali หรือ “อาลีตัวตลก” เนื่องจากการแถลงข่าวประจำวันที่เต็มไปด้วยสีสัน ซึ่งรวมถึงการประกาศว่ากองทัพสหรัฐฯ จะต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้

ปัจจุบันไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเขาอาศัยอยู่ที่ใด แต่เชื่อว่าเขาได้หลบหนีไปอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

มุกตาดา อัล-ซาเดอร์

Supporters of Shia cleric Moqtada al-Sadr carry a placard with picture during a 20022 protest in Baghdad

Getty Images

ผู้นำมุสลิมนิกายชีอะห์ที่ขึ้นมามีอิทธิพลหลังจากสหรัฐฯ ยกทัพเข้ารุกรานอิรัก โดยกลุ่มติดอาวุธเมห์ดีของเขาได้ต่อสู้กับกองกำลังต่างชาติ และเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บัญชาการ “หน่วยสังหาร”

นับตั้งแต่นั้นเขานำเสนอตัวเองในฐานะนักชาตินิยม และผู้รณรงค์ต่อต้านการทุจริต รวมทั้งเป็นผู้ผลักดันบุคคลสำคัญในแวดวงการเมืองอิรัก

แนวร่วมการเมืองของเขาครองที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรอิรักในปี 2018 และ 2021

นูรี อัล-มาลิกี

เป็นนายกรัฐมนตรีอิรักที่ดำรงตำแหน่งครบวาระคนแรกหลังจากการโค่นอำนาจซัดดัม ฮุสเซน โดยเขาเข้าบริหารประเทศในเดือน พ.ค. 2006

นักวิจารณ์การเมืองกล่าวหาว่าเขาสร้างความแตกแยกระหว่างนักการเมืองชาวซุนนีกับชาวเคิร์ด และเรียกร้องให้เขาลาออกตั้งแต่ปี 2007 แต่เขาตัดสินใจลาออกในปี 2014 หลังจากพ่ายแพ้หลายครั้งในการสู้รบกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส

ปัจจุบันนายอัล-มาลิกี มีอายุ 72 ปีและยังคงมีส่วนร่วมในแวดวงการเมืองอิรัก

อยาตอลเลาะห์ อาลี อัล-ซิสตานี

Ayatollah Ali al-Sistani (left) in a meeting with Pope Francis in 2021

Getty Images

ในฐานะผู้นำสูงสุดของศาสนามอิสลามนิกายชีอะห์ในอิรัก อยาตอลเลาะห์ อัล-ซิสตานี จึงเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในด้านการเมืองและศาสนาของอิรักหลังจากการรุกรานของสหรัฐฯ

เขาให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองในอิรัก และในวัย 92 ปี เขายังคงเป็นผู้ทรงอิทธิพลในประเทศ

มุนตาเดอร์ อัล-ไซดี

มุนตาเดอร์ อัล-ไซดี ผู้สื่อข่าวชาวอิรักเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหลังจากก่อเหตุปารองเท้าใส่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ร่วมแถลงข่าวกับผู้นำอิรักในกรุงแบกแดกเมื่อเดือน ธ.ค. 2008 ก่อนพ้นจากตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ

“นี่คือจูบอำลาจากคนอิรัก ไอ้สุนัข” นายอัล-ไซดี ร้องตะโกนขณะปารองเท้าใส่ผู้นำสหรัฐฯ

การกระทำดังกล่าวทำให้นายอัล-ไซดี ถูกจำคุก 6 เดือน ซึ่งเขาอ้างว่าได้ถูกทรมานในช่วงเวลานั้น เมื่อพ้นโทษเขาได้ย้ายไปอยู่ประเทศเลบานอน ก่อนจะกลับคืนสู่อิรักเพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2018 แต่ต้องประสบความล้มเหลว


หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว