น้องหมาน้องแมวที่เลี้ยงไว้ อาจทำลายคุณภาพการนอนของคุณได้

คำกล่าวที่ว่าคนรักสัตว์เลี้ยงมักปฏิบัติต่อน้องหมาน้องแมวของตนเหมือนลูกในไส้นั้น ไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงมากนัก เพราะนอกจากจะต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดแล้ว พฤติกรรมบางอย่างของพวกมันยังทำให้เจ้าของแทบไม่ได้หลับได้นอน เหมือนกับเลี้ยงทารกที่เป็นลูกคนนั่นเอง

ล่าสุดมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Human-Animal Interactions ชี้ว่าการเลี้ยงสัตว์อย่างสุนัขและแมวมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับอาการนอนไม่หลับ รวมทั้งโรคเกี่ยวกับการนอนอีกหลายชนิด โดยกรณีของผู้ที่การนอนมีปัญหานั้น พบได้บ่อยกว่าในกลุ่มคนที่มีสัตว์เลี้ยงเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ได้เลี้ยงหมาหรือแมวเอาไว้เลย

ทีมนักวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ลอเรน วิซนีสกี จากมหาวิทยาลัยลินคอล์นเมโมเรียล (LMU) ของสหรัฐฯ ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของชาวอเมริกันทั่วประเทศ ซึ่งได้มาจากฐานข้อมูลการสำรวจผลตรวจสุขภาพและโภชนาการแห่งชาติ (NHANES) ที่จัดทำขึ้นระหว่างช่วงปี 2005-2006

ทีมผู้วิจัยพยายามมองหาแนวโน้มบางอย่าง ซึ่งแสดงความเกี่ยวข้องระหว่างคุณภาพการนอนกับการมีหรือไม่มีสัตว์เลี้ยงในกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว โดยอาการที่แสดงออกถึงปัญหาในการนอนของแต่ละคนนั้น นอกจากการนอนหลับยากแล้วยังได้แก่การนอนกรน, สะดุ้งตื่นกลางดึก, ติดยานอนหลับ, รวมทั้งมีอาการขากระตุกหรือขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome – RLS)

ผลการวิเคราะห์พบว่า คนที่เลี้ยงหมาหรือแมวมักมีแนวโน้มจะนอนไม่หลับหรือมีปัญหาในการนอนสูงกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง โดยคนที่มีสุนัขอยู่ในบ้านมีความเสี่ยงต่อโรคนอนไม่หลับสูงกว่าอย่างชัดเจน ส่วนคนที่เลี้ยงแมวนั้น มีความเสี่ยงต่ออาการขากระตุกหรือขาอยู่ไม่สุขขณะนอนหลับสูงกว่า

รูปแมวส้มบนเตียงผู้ชาย

Getty Images

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาข้างต้นยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า เพราะเหตุใดการมีสัตว์เลี้ยงจึงทำให้คุณภาพการนอนตกต่ำลง แต่เป็นไปได้ว่าความซุกซนของน้องหมา รวมทั้งพฤติกรรมตื่นตัวเป็นพิเศษตอนกลางคืนของแมวเหมียว อาจทำให้เจ้าของนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทได้

ผลการศึกษาล่าสุดนี้ขัดแย้งกับงานวิจัยหลายชิ้นในอดีตที่ชี้ว่า การมีสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งแมวเหมียวนั้น ช่วยลดความเครียด สร้างความรู้สึกอบอุ่นใจไม่เปลี่ยวเหงา และทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งน่าจะส่งผลทางบวกต่อการนอนหลับมากกว่า

ผศ. วิซนีสกี กล่าวสรุปว่า “เราต้องศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นนี้ต่อไปอีก เพื่อให้ทราบชัดถึงสาเหตุที่สัตว์เลี้ยงอาจทำลายคุณภาพการนอนของคนบางส่วนได้ ความรู้ในเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมกับคนรักสัตว์ เช่นไม่ให้หมาแมวเข้าถึงห้องนอนในเวลากลางคืน”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว