น้ำอิง หญิงนักรีวิวปืน ผู้เปรียบอาวุธเป็น “หนามแหลม” ของหญิงงาม

Thai News Pix น้ำอิง-กชนก สุตา สาวนักรีวิวปืนคนแรก ๆ ของไทย

หญิงสาววัย 30 ต้น ในชุดเดรสสีขาวเหมือนร่วมงานเลี้ยงในโรงแรมหรู แต่สิ่งที่เธอทำกลับขัดแย้งสิ้นเชิง เธอจับปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติขึ้น บรรจุแมกกาซีนกระสุน ปลดเซฟตี้ ประทับปืนเข้าบ่า ก่อนตั้งท่าเล็งอย่างมั่นใจ แล้วยิงรัวไปยังเป้าด้านหน้า ไม่หวั่นกับเสียงดังก้อง

เธอคือ กชนก สุตา หรือ “น้ำอิง” วัย 33 ปี สาวนักรีวิวปืนที่ถือเป็นหญิงไทยคนแรก ๆ ที่ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับปืนและอาวุธสงครามทางโซเชียลมีเดีย ด้วยจำนวนผู้ติดตามกว่า 1.6 ล้านคนทางเฟซบุ๊ก และอีก 7 แสนคนทางยูทูบ

“เบเร็ตตา, เอชเค, จากัวร์, รูเกอร์, เอ็มเค 12, เบเนลลี, กล็อก, เอฟทีไอ, ซีแซด, โคลต์, ซิกซาวเออร์, เอ็มตัน, เรมิงตัน, เดอร์ยา…” น้ำอิง ท่องยี่ห้อปืนที่เธอเคยสัมผัสและได้รีวิวให้บีบีซีไทยฟัง ก่อนเปิดเผยอย่างภูมิใจว่า ตนเองครอบครองอาวุธปืนอานุภาพสูงมากกว่า 50 กระบอก และรีวิวปืนมาแล้วกว่า 100 รุ่น

นับแต่เหตุกราดยิงโคราช เมื่อ 8-9 ก.พ. ปี 2563 ประเทศไทยเผชิญเหตุรุนแรงจากอาวุธปืนอีกหลายครั้ง รวมถึงเหตุสังหารหมู่ใน จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 37 คน เป็นเด็กเล็กถึง 24 คน ทำสังคมไทยถกเถียงถึงปัญหาปืนเกลื่อนเมือง

แต่สาวนักรีวิวปืน บอกบีบีซีไทยว่า มีผู้ติดตามโดยเฉพาะผู้หญิง สอบถามเธอ ถึงการครอบครองและฝึกใช้อาวุธปืนเพิ่มมากขึ้น

“พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้เยอะขึ้น มันทำให้หลายคน พลเรือนทั่วไปอยากมีอาวุธปืนในครอบครอง เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน” น้ำอิง กล่าวสรุปความวิตกกังวลของผู้คนที่เข้ามาขอคำปรึกษา

สำหรับเธอ อาวุธปืน ไม่ใช่เครื่องประหัตประหาร แต่เป็น “ความหลงใหล” ที่มอบชีวิตและอนาคตให้กับอดีตพนักงานสายการบิน ที่ล้มเหลวทางธุรกิจมาหลายครั้ง

ชีวิตรวย “เจ๊ง” กับปืนเปลี่ยนชะตา

น้ำอิง เกิดที่ จ.เชียงใหม่ และเริ่มอาชีพหลังศึกษาจบด้วยตำแหน่งพนักงานบริการภาคพื้นดินของสายการบินแห่งหนึ่ง แต่ทำได้ไม่นาน สายการบินก็ “ปิดตัวลงอย่างสงบ”

เธอย้ายมาหาโอกาสในกรุงเทพฯ สมัครงานเป็นกราวด์เซอร์วิสของสายการบินร่วมทุนไทย-เกาหลีใต้ ที่กำลังจะเปิดให้บริการ แต่ยังไม่ทันได้เริ่มงาน สายการบินก็ปิดตัวลงไปอีกเช่นกัน

วิถีงานประจำที่น่าผิดหวังติดต่อกัน ทำให้น้ำอิงคิดว่า “เราคงไม่เหมาะกับการเป็นลูกจ้าง… เลยอยากเป็นนายตัวเอง” จึงนำเงินทุนไปลงกับการซื้อเสื้อผ้า มาเปิดขายผ่านเว็บไซต์ แต่ก็ “เจ๊ง” เลยเปลี่ยนมาขายต่างหูและเครื่องประดับ โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนเช่าหน้าร้านอยู่แถวสำเพ็ง

“ภูมิใจมาก เป็นเจ้าของร้านต่างหู” น้ำอิง ย้อนความรู้สึกในเวลานั้น แต่ชีวิตเป็นบวกได้ไม่นาน ร้านของเธอก็ส่อเค้าว่าจะ “ไม่รอด” และก็ “เจ๊ง” ใน 5 เดือนต่อมา

จากแอร์กราวด์ สู่นักรีวิวปืน

Thai News Pix
จากพนักงานสายการบิน สู่นักรีวิวปืน

น้ำอิง ยอมรับกับบีบีซีไทยว่า ชีวิตในเวลานั้นเจอแต่ความผิดหวังมาโดยตลอด ด้วยเงินติดบัญชีที่เหลืออยู่เพียง 6,500 บาท แต่อาวุธทำลายล้างอย่าง “ปืน” กลับกลายเป็นประตูแห่งความหวังของเธอ

เธอย้อนอดีตว่า ได้จับปืนครั้งแรก ตอนที่เพื่อนชาวจีนชวนไปซ้อมยิงปืนหายากที่เธอยังจำชื่อรุ่น และได้ซื้อมาครอบครองในปัจจุบัน คือ ปืนรุ่น เออาร์-9 อังสตัดต์ (Angstadt) ขนาด 9 มม.

“ถ่ายคลิปเล่น ๆ แล้วลงเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าคลิปนั้นดังขึ้นมา เป็นไวรัลจนคนรู้จักเรา และชมว่า น้องน้ำอิงยิงปืนแม่นมาก (ยิง 10 นัด เข้าตรงกลางเป้าทั้ง 10 นัด)” เธอจึงอาศัยโอกาสนี้ เปิดเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา ซึ่งในช่วงแรกมีผู้ติดตามราว 1 หมื่นคน และเกือบ 100% เป็นผู้ชาย

ผู้หญิงไม่ควรเล่นปืน ?

ในช่วงแรกของการเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์สายรีวิวปืน น้ำอิงต้องยืมปืนของเพื่อนมารีวิว โดยไม่บรรจุกระสุน บนที่นอนของตัวเอง ระหว่างนั้น ก็หารายได้ด้วยการซื้อกระติกน้ำและแก้วกาแฟรูปปืน-ลูกระเบิด มาจำหน่ายด้วยเงินทุนก้อนสุดท้ายในชีวิต 6,500 บาท แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ สร้างเงินหลักแสนได้ในเวลาไม่นาน

เธอตัดสินใจนำเงินแสนก้อนแรกจากธุรกิจใหม่ ไปซื้อปืนกระบอกแรกในชีวิต คือปืนลูกโม่ สมิธ แอนด์ เวสสัน สั่งทำด้ามพิเศษเป็นสีชมพู ในราคาประมาณกว่า 1 แสนบาท

“ก่อนจะซื้อ ก็ต้องทำให้ถูกกฎหมาย คือ ขอใบอนุญาต ป.3”

ใบอนุญาต ป.3 คือ ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ซึ่งในฐานะชาวไทยที่ไม่มีประวัติอาชญากรรมแล้ว น้ำอิงขอใบอนุญาตได้ไม่ยากนัก ประกอบด้วยเอกสารรับรองตัวตน หนังสือรับรองการเป็นนักกีฬา จากการเข้าเป็นสมาชิกของสนามยิงปืน และรอกระบวนการพิจารณาไม่เกิน 86 วัน ตามข้อกำหนดของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ลูกโม่ สมิธ แอนด์ เวสสัน ปืนกระบอกแรกของน้ำอิง

Thai News pix
ลูกโม่ สมิธ แอนด์ เวสสัน ปืนกระบอกแรกของน้ำอิง

แม้จะได้ปืนกระบอกแรกมาครอบครอง แต่เส้นทางสู่นักรีวิวปืนออนไลน์ ไม่ง่ายนัก เพราะน้ำอิงต้องเริ่มจากศูนย์ เนื่องจากไม่มีความรู้เชิงลึกเรื่องปืนเลย

“เรื่องไหนที่เราไม่รู้เราก็ค้นหา และดูของฝรั่งด้วย อ่านหนังสือนิตยสารปืน เพื่อให้ตัวเรามีความรู้ จะได้สามารถใช้ปืนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย”

ในฐานะผู้หญิงที่เลือกเส้นทางการรีวิวปืนในสังคมออนไลน์คนแรก ๆ ของไทย น้ำอิงเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และคำสบประมาทมากมาย เพียงเพราะเธอเป็นมือสมัครเล่น และเป็นผู้หญิง

คำพูดที่เธอระบุว่า เหมือน “มีดแทงเข้าไปในหัวใจ” คือคอมเมนต์ของผู้ติดตามในเพจเฟซบุ๊กว่า

“คุณทำให้วงการปืนเสื่อมเสียนะน้ำอิง” เธอบอกกับบีบีซีไทย ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเล็กน้อย

“ก่อนจะซื้อ ก็ต้องทำให้ถูกกฎหมาย คือ ขอใบอนุญาต ป.3” น้ำอิง กล่าว

Thai News Pix
“ก่อนจะซื้อ ก็ต้องทำให้ถูกกฎหมาย คือ ขอใบอนุญาต ป.3” น้ำอิง กล่าว

“เราเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากจะเข้ามาในวงการปืน แม้เรายังไม่มีความรู้เรื่องของปืนสักเท่าไหร่… แต่เราก็มีความตั้งใจที่จะให้วงการปืนในไทย เป็นเรื่องที่ผู้หญิงผู้ชายเข้าถึงได้”

คำพูดด้านลบว่า “ผู้หญิงไม่ควรมาเล่นปืน” เมื่อเพิ่มมากเข้า น้ำอิง เริ่มตั้งคำถามว่า เธออาจไม่เหมาะกับเส้นทางนี้ และรู้สึกท้อแท้ จนถึงจุดที่ครั้งหนึ่งคิดจะปิดช่องทางออนไลน์

แต่เธอก้าวข้ามความรู้สึกนั้นมาได้ เพราะเสียงสนับสนุนจากผู้ติดตามคนอื่น ๆ จนทำให้เธอตระหนักว่า ไม่จำเป็นต้องไปเสียใจกับคำพูดของ “ใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จัก”

เข้าสู่วิถีปืนเต็มตัว ผู้ใหญ่ชวนเป็น “บอดี้การ์ด”

เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ติดตามมากเข้า น้ำอิงตัดสินใจก้าวสู่ธุรกิจเกี่ยวกับปืนเต็มตัว ปัจจุบัน รายได้ของเธอไม่เพียงมาจากยอดชมวิดีโอที่เธอรีวิวปืนผ่านยูทิวบ์เท่านั้น แต่เธอยังเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับปืน อาทิ สโคป หรือ ศูนย์ยิงแบบเล็งด้วยเลเซอร์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ

รายได้ส่วนหนึ่งเธอนำไปซื้อปืนมาสะสมไว้ด้วย เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตเนื้อหารีวิวปืน จนปัจจุบัน มีปืนใครครอบครองกว่า 50 กระบอก เรียกว่าเป็น คลังอาวุธขนาดย่อมในครัวเรือน

น้ำอิงบอกกับบีบีซีไทยว่า แม้การครอบครองปืนในไทยจะสามารถทำได้ แต่ก็ถือว่า “ยุ่งยาก” กว่าในอเมริกา ที่เป็นผู้ผลิตปืนส่วนใหญ่ เพราะในสหรัฐฯ ประชาชนในรัฐส่วนใหญ่เพียงยื่นบัตรประจำตัวประชาชน ก็สามารถซื้อปืนได้เลย แถมยังมีขายทั่วไป ซื้อปืนในห้างสรรพสินค้าก็ยังได้

“ร้านปืนเหมือนร้านสะดวกซื้อ เหมือนเซ่เว่นบ้านเรา… ไม่ต้องมีใบอนุญาต ซื้อด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ต่างจากในไทยที่ยังต้องขอใบ ป.3 หรือต้องใช้สิทธิปืนสวัสดิการสำหรับข้าราชการ อีกทั้งราคาปืนในไทยถือว่าสูง

อย่างไรก็ดี ซาราห์ สมิธ บรรณาธิการทวีปอเมริกาเหนือของบีบีซี เคยวิเคราะห์ว่า “คนอเมริกันมองปืนเป็นเรื่องธรรมดา” โดยประเมินว่า มีชาวอเมริกันกว่า 80 ล้านคนที่ครอบครองปืน เพื่อป้องกันตัวตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

แต่เหตุกราดยิง โดยเฉพาะเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นบ่อยและถี่ขึ้น ทำให้ประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้รัฐบาลจำกัดการครอบครองปืนให้เข้มงวดมากขึ้น

“ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยเหนื่อยหน่ายกับเหตุความรุนแรงจากปืนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศ การเรียกร้องยกระดับไปสู่การจำกัดการถือครองปืนและการสั่งห้ามจำหน่ายอาวุธกึ่งอัตโนมัติที่ไม่มีความจำเป็นสำหรับการป้องกันตัวหรือทรัพย์สินแต่อย่างใด” สมิธ ระบุ

Thai News Pix
เธอปฏิเสธงานบอดี้การ์ดไป เพราะมองว่า “ตัวเองยังปกป้องได้ไม่ดีพอเลย จะไปปกป้องใครได้”

กลับมาที่สาวนักรีวิวปืนยอมรับว่า ไม่ได้รักในปืนมาตั้งแต่แรก และมองว่าเป็นช่องทางประกอบวิชาชีพเท่านั้น แต่ยิ่งใกล้ชิดและรีวิวปืนมากชนิด จาก “หน้าที่” ได้แปรเปลี่ยนเป็น “ความรัก”

“ตอนนี้ ชีวิตถ้าขาดปืนไป น่าจะอยู่ไม่ได้” น้ำอิง ยอมรับ แม้จะมีเสียงซ้อมยิงปืนดังจากช่องฝึกยิงปืนใกล้ ๆ เธอก็ยังพูดต่อโดยไม่สะทกสะท้าน เหมือนเป็นเรื่องปกติ “สิบปีข้างหน้า น้ำอิงอาจได้เป็นเจ้าของสนามยิงปืน ได้เปิดร้านขายปืน ก็เป็นได้ เพราะเรามาทางนี้แล้วก็มาให้สุด”

การผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับปืน และความเป็นผู้หญิงที่มีภาพลักษณ์มั่นใจ ไม่กลัวใคร ยังทำให้มีผู้คนเข้าหา เพื่อทาบทามเธอไปทำอาชีพที่เธอยอมรับว่า ไม่คาดคิดว่าจะมีคนเข้าหาเธอแบบนี้มาก่อนในชีวิต นั่นคือ การเป็นบอดี้การ์ด

“มีคนชวนไปเป็นบอดี้การ์ดของผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง น่าจะเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียง” น้ำอิง ก็ถามกลับไปว่าทำไม “เขาบอกว่า มันมีผู้ชายค่อนข้างเยอะแล้ว แล้วเห็นเราเป็นผู้หญิง จึงอยากให้ไปร่วมงาน” แต่ท้ายสุดเธอก็ปฏิเสธไป

ผู้หญิงกับอาวุธสงคราม

รายงานของ Small Arms Survey (SAS) องค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบาทั่วโลกของสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่เมื่อ มิ.ย. 2018 ระบุว่า ไทยมีปืนราว 10.3 ล้านกระบอก มากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก เทียบกับอันดับ 1 สหรัฐอเมริกา ที่มีมากถึง 393.9 ล้านกระบอก

เมื่อเทียบกับชาติอื่นในอาเซียน ไทยถือว่ามีจำนวนอาวุธปืนมากที่สุด รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ที่มีปืนในครอบครอง 3.9 ล้านกระบอก และเวียดนามที่ 1.5 ล้านกระบอก

ขณะเดียวกัน ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนปืนต่อประชากรพบว่าประเทศไทยมีการครอบครองปืนเฉลี่ย 15 กระบอกต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราที่มากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก

ไม่เพียงเท่านั้น จากจำนวนปืน 10.3 ล้านกระบอกในไทยนั้น SAS ระบุว่า มีเพียง 6.2 ล้านกระบอกที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และที่เหลืออีก 4.1 ล้านกระบอกเป็นปืนเถื่อนไม่มีทะเบียน

ไทยมีปืนราว 10.3 ล้านกระบอก มากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก

Thai News Pix
ไทยมีปืนราว 10.3 ล้านกระบอก มากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก

น้ำอิงมองว่า การที่ปืนและคอนเทนต์เกี่ยวกับปืนเป็นที่นิยมในไทย เป็นผลพวงจากเหตุรุนแรงจากอาวุธปืนที่เกิดมากขึ้นในไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุกราดยิง การปล้นร้านทอง หรือเหตุยิงในโรงเรียน ที่แต่เดิมจะเห็นข่าวลักษณะนี้ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

แต่สำหรับเธอนั้น ปืนไม่ใช่ผู้ร้าย

“ปืนมันไม่เคยทำร้ายใคร อยู่ที่คนจะเอาปืนไปทำร้ายคืนอื่นหรือเปล่า” น้ำอิง กล่าว โดยบนโต๊ะด้านข้างเธอเต็มไปด้วยปืน และกระสุนหลากชนิดวางอยู่ ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน เสมือนตอกย้ำคำพูดของเธอ

“ปืนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย” แต่เธออยากให้สนใจข้อดีเป็นหลัก คือ การปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และคนที่รัก หรือใช้เพื่อฝึกฝน

ส่วนข้อเสียนั้น คือเหตุความรุนแรงจากปืนที่เกิดง่ายขึ้น ยกตัวอย่างกรณีเมื่อไม่นานมานี้ วันที่ 19 ก.พ. 2566 ชายสองคนไม่พอใจคำพูด ตัดสินใจควักปืนที่พกติดตัว ยิงชายวัย 32 ปีเสียชีวิต ใน จ.กาฬสินธุ์

อีกกรณี คือ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เกิดเหตุคนขับรถบีเอ็นดับเบิลยู ชักปืนวางมือออกนอกหน้าต่าง แล้วยิงปืนลงพื้นเพื่อขู่ โดยผู้บันทึกภาพได้เชื่อว่า คนขับรถบีเอ็มฯ ไม่พอใจที่เขาหักเข้าเลนขวา

ไม่นับกรณีข้าราชการทหารและตำรวจ ที่ครองครองปืนสวัสดิการและก่อเหตุกราดยิงสะเทือนขวัญสังคมไทย อาทิ เหตุกราดยิงโคราช และเหตุสังหารหมู่ จ.หนองบัวลำภู เป็นต้น

“ปืนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย”

Thai News Pix
“ปืนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย”

บีบีซีไทยสอบถามว่า แล้วทำไมเวลาทำคอนเทนต์เกี่ยวกับปืน ถึงใส่ชุดสวย ๆ หรือชุดเดรสเหมือนที่มาให้สัมภาษณ์ที่สนามยิงปืนในวันนี้ คำตอบของเธอน่าสนใจว่า

“ถ้าเกิดเหตุในสถานการณ์จริงขึ้นมา โจรเข้าบ้าน ตอนนั้นเรายังใส่ชุดนอน ใส่ชุดเที่ยว เราต้องไปเปลี่ยนเป็นชุดแทคติคัลก่อน ใส่รองเท้าผ้าใบก่อนหรือ แล้วค่อยไปสู้กับโจร” จบประโยคแล้ว น้ำอิงหัวเราะ แต่ยืนยันว่า ความปลอดภัยพื้นฐานเช่น เครื่องป้องกันเสีย และแว่นตาป้องกันสะเก็ด และการล็อกเซฟตีปืน เป็นสิ่งที่ต้องทำ

จากสมัยก่อนที่เรื่องปืน ถูกมองว่าเป็นกีฬาของผู้ชาย จนปัจจุบัน ที่มีผู้หญิงเล่นปืน และกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายปืนมากขึ้น, น้ำอิง มองว่า นี่คือสัญญาณที่ดีในแง่ความเท่าเทียม รวมถึงตั้งคำถามกลับไปยังคนที่ยังมองว่า “ผู้หญิงสวย” ไม่ควรเล่นปืน

“ผู้หญิงสวยกับอาวุธสงคราม มันเข้ากันได้อยู่แล้ว” เธอกล่าวพลางลูบไล้ไปที่ปืนลูกซองแบบที่ คีอานู รีฟส์ ใช้ในภาพยนตร์ “จอห์น วิค” ภาค 3

“ผู้หญิงสวยกับอาวุธสงคราม มันเข้ากันได้อยู่แล้ว” อดีตแม่ค้าออนไลน์

Thai News Pix
“ผู้หญิงสวยกับอาวุธสงคราม มันเข้ากันได้อยู่แล้ว” อดีตแม่ค้าออนไลน์ กล่าว

“ดอกกุหลาบย่อมมีหนามที่แหลมคม… หนามคมก็เหมือนอาวุธสงครามที่น้ำอิงมีอยู่รอบกาย”

“ถ้า (ชายใด หรือผู้ร้าย) ไม่ระวัง ก็อาจโดนอาวุธสงครามนั้นทิ่มแทงกลับไปได้นะคะ”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว