ไข่ต้มกลายเป็น “ทับทิม” ได้จริงหรือ หากเก็บรักษาไว้ 20 ปี หลังกลายเป็นข่าวใหญ่ในจีน

Handout/Douban/ThePaper

สังคมออนไลน์จีนกำลังพูดถึงเหตุการณ์หนึ่งตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยความตื่นละลึงและตั้งคำถาม นั่นคือ การที่ไข่ต้มใบหนึ่งแปรสภาพกลายเป็น “ทับทิม” หลังเก็บไว้อย่างดีนาน 20 ปี

ผู้ที่เก็บรักษาไข่ต้มใบนี้ คือ หญิงชาวจีนวัยกว่า 20 ปี ชื่อ ฝู

เธอแบ่งปันเรื่องราวฟอสซิลสีแดงของเธอ ผ่านสังคมออนไลน์ Douban จนได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากโลกออนไลน์ และมีคนขนานนามไข่ใบนี้ว่า “ไข่ฟาโรห์”

รูปร่างของไข่ต้มที่กลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือน “ทับทิม” มีความโปร่งแสง และขนาดเท่าถั่วพิสตาชิโอ เมื่อจับแล้ว ให้ความรู้สึกเหมือนลูกบอลพลาสติกแข็ง

ฝู ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เสียวเซี่ยง มอร์นิง เฮรัล เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า เมื่อถือไข่ต้มอายุ 20 ปีนี้ขึ้นมาส่องกับแสง ไข่จะกลายเป็นสีแดงเลือดอย่างน่าตื่นตา และแสดงให้เห็นรอยแตกร้าวที่อยู่ภายใน

ฝู มีถิ่นอาศัยเดิมอยู่ที่มณฑลชานตง เธอเล่าว่า แม่ของเธอซื้อไข่ไก่ใบนี้มาเมื่อ 20 ปีก่อน เพราะมันมี “ขนาดเล็กอย่างน่าแปลกประหลาด” ช่วงนั้นเธอยังอยู่ชั้นประถม โดยแม่ต้มไข่เพื่อให้เธอนำไปทานที่โรงเรียนในเช้าวันถัดไป

Advertisment

แต่ ฝู กลับลืมไข่ต้มลูกนี้ไปนาน 3 วัน และเธอก็ไม่กล้ากินมัน เพราะกลัวไข่เน่าแล้ว แต่ด้วยความเป็นเด็ก เธอเห็นไข่เล็กน่ารักดี จึงนำไปแช่ในตู้เย็น แทนที่จะทิ้งมันไป

สองเดือนต่อมา เธอจำได้ว่าแช่ไข่เอาไว้ พอเปิดตู้เย็น ก็พบว่ามันกลายสภาพเป็น “ทับทิม” เธอจึงเก็บมันไว้ในกล่องอัญมณีที่บ้าน

Advertisment

กล่องอัญมณีที่บรรจุ “ไข่ทับทิม” ถูกลืมไว้ในบ้านของเธอ จนผ่านมา 20 ปี แม่ของเธอเข้าไปพบเมื่อไม่นานมานี้

ฝู ตั้งข้อสังเกตว่า ไข่อาจแปรสภาพเป็นแบบนี้ จากความเย็น อากาศที่แห้งในพื้นที่ที่เธออาศัยอยู่

ผู้ใช้สังคมออนไลน์หลายคนชมว่า ไข่ใบนี้สวยงามดี

“ขอบคุณ ฉันคงไม่มีวันได้เห็นไข่แบบนี้ ถ้าคุณไม่โพสต์ลงมา” ผู้ใช้สังคมออนไลน์คนหนึ่ง กล่าว

“เวลาได้เปลี่ยนไข่ให้กลายเป็นอัญมณี” อีกคนพูด

อีกคนหนึ่งกล่าวอย่างน่าสนใจว่า โพสต์นี้อาจทำให้เขาพบกับธุรกิจใหม่ “ถ้าผมต้มไข่ตอนนี้ ผมอาจรวยในอีก 20 ปีข้างหน้าก็ได้”

ทับทิมของจริง

Getty Images
ทับทิมของจริง

สื่อออนไลน์ของจีน สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ เติ้ง สูเจี้ยน จากวิทยาลัยชีววิทยา มหาวิทยาลัยหูหนานนอร์มัล ที่อธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาทางพยาธิวิทยาที่เกิดกับไข่ที่มีเพียงไข่ขาวแต่ไม่มีไข่แดง ส่วนเหตุผลที่ไข่ขาว แปลสภาพกลายเป็นสีแดงเช่นนี้ ต้องตรวจสอบและหาคำตอบในทางจุลชีววิทยาต่อไป

แต่การเก็บรักษาไข่นั้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกนักในประวัติศาสตร์จีน ยกตัวอย่าง ไข่เยี่ยวม้า ก็เป็นการถนอมอาหารรูปแบบหนึ่งที่ทำได้กับไข่เป็ด ไข่ไก่ และไข่นกกระทา ด้วยการนำไปแช่หรือหมักในส่วนผสมที่มาจาก ปูนขาว เกลือ โซเดียมคาร์บอเนต ใบชาดำ สังกะสีออกไซด์ และน้ำ

การถนอมอาหารให้ไข่เป็นไข่เยี่ยวม้า เชื่อว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีนเช่นกัน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว