เข็มกลัด : อาวุธจิ๋วที่ช่วยหญิงอินเดียต่อสู้การถูกลวนลาม

Getty Images ผู้หญิงทั่วโลกใช้เข็มกลัดซ่อนปลายเป็นอาวุธต่อสู้กับภัยรายวันจากการถูกลวนลามและคุกคามทางเพศ

ผู้หญิงอินเดียแทบทุกคนล้วนมีประสบการณ์ถูกลวนลาม หรือถูกคุกคามทางเพศในที่สาธารณะซึ่งมีผู้คนแออัด โดยคนร้ายมักฉวยโอกาสจับหน้าอก หยิกบั้นท้าย ใช้ข้อศอกแตะหน้าอก หรือเอาอวัยวะเพศมาถูกไถพวกเธอ

กีตา ปันดีย์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีในกรุงนิวเดลีเล่าว่าสมัยเป็นนักศึกษา เธอและเพื่อนต้องโดยสารรถเมล์และรถรางที่แน่นขนัดในเมืองโกลกาตา ทางภาคตะวันออกของอินเดีย และมักใช้ร่มเป็นอุปกรณ์ตอบโต้พวกโรคจิตเหล่านี้

ขณะที่ผู้หญิงอีกจำนวนมากเลือกใช้เล็บมือที่ยาวและแหลมคมในการข่วนพวกมือไว และบางส่วนใช้รองเท้าส้นเข็มจัดการคนพวกนี้

อย่างไรก็ดีมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและสะดวกในการพกพาและใช้สอยมากกว่า นั่นคือ “เข็มกลัดซ่อนปลาย”

นับตั้งแต่ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1849 เข็มกลัดมีประโยชน์ใช้สอยมากมาย โดยเฉพาะในการแต่งตัวของผู้หญิง

นอกจากนี้ ผู้หญิงทั่วโลกยังใช้มันเป็นอาวุธต่อสู้กับภัยรายวันจากการถูกลวนลามและคุกคามทางเพศ

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน หญิงอินเดียหลายคนใช้ทวิตเตอร์บอกเล่าเรื่องราวที่พวกเธอมักพกเข็มกลัดติดตัวไว้เสมอ และมันคืออาวุธจัดการพวกโรคจิตในสถานที่แออัดต่าง ๆ

หนึ่งในนั้นคือ ทีปิกา เชอร์กิลล์ ซึ่งเขียนเล่าเหตุการณ์ที่เธอใช้เข็มกลัดเล่นงานชายโรคจิตที่มักลวนลามเธอจนเข็ดขยาดไม่กล้าก่อเหตุกับเธออีก

นางเชอร์กิลล์ เล่าให้บีบีซีฟังว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ในระหว่างการโดยสารรถเมล์ไปทำงาน ตอนนั้นเธออายุราว 20 ปี ส่วนผู้ก่อเหตุเป็นชายอายุประมาณ 45 ปี ที่มักใส่ชุดซาฟารีสีเทา ซึ่งเป็นชุดที่เจ้าหน้าที่รัฐนิยมใส่ เขาสวมรองเท้าแตะแบบเปิดนิ้วเท้า และถือกระเป๋าหนังสี่เหลี่ยมใบหนึ่ง

“เขามักขึ้นมายืนข้างฉัน จากนั้นก็เอนตัวเอาเป้าถูไถหลังของฉัน และจะถลาใส่ฉันทุกครั้งที่รถเมล์เบรก”

ในตอนนั้น นางเชอร์กิลล์ซึ่งเป็นหญิงสาวขี้กลัว และไม่กล้าโวยวายจึงได้แต่นิ่งเงียบและทนถูกลวนลามอยู่หลายเดือน

แต่ในค่ำวันหนึ่ง “เขาเริ่มช่วยตัวเองและหลั่งใส่หัวไหล่ฉัน” เธอจึงตัดสินใจไม่ยอมอีกต่อไป

“ฉันรู้สึกสกปรก พอถึงบ้านฉันก็อาบน้ำอยู่นานมาก ฉันไม่กล้าแม้แต่จะเล่าให้แม่ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น” เธอบอก

“คืนนั้นฉันนอนไม่หลับ และถึงขั้นคิดลาออกจากงาน แต่ฉันก็เกิดความคิดที่จะแก้แค้น ฉันอยากทำร้ายเขา ทำให้เขาเจ็บตัวเพื่อสั่งสอนไม่ให้เขาทำแบบนี้กับฉันอีก”

ในวันต่อมา นางเชอร์กิลล์เปลี่ยนไปสวมรองเท้าส้นเข็มและพกเข็มกลัดติดตัว

“ทันทีที่เขามายืนอยู่ข้างฉัน ฉันลุกขึ้นจากที่นั่ง แล้วใช้ส้นรองเท้าเหยียบไปที่นิ้วเท้าเขา เขาอ้าปากค้าง มันทำให้ฉันเป็นสุข จากนั้นฉันก็ใช้เข็มกลัดแทงเข้าที่แขนของเขาแล้วรีบลงจากรถ”

แม้นางเชอร์กิลล์จะนั่งรถเมล์สายเดิมอยู่ต่อไปอีกปี แต่เธอบอกว่านั่นคือครั้งสุดท้ายที่เธอได้เจอเขา

เรื่องราวของนางเชอร์กิลล์น่าตกตะลึง แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก

Almost every woman in India has a story of sexual harassment that took place in crowded public transport

Getty Images
ผู้หญิงอินเดียแทบทุกคนล้วนมีประสบการณ์ถูกลวนลาม หรือถูกคุกคามทางเพศในที่สาธารณะซึ่งมีผู้คนแออัด

กีตา ปันดีย์ เล่าว่าเพื่อนร่วมงานในวัย 30 ปีเศษของเธอก็เคยถูกผู้ชายพยายามลวนลามบนรถประจำทางเที่ยวกลางคืนที่วิ่งระหว่างเมืองโกชิและเมืองบังคาลอร์

“ตอนแรกฉันไม่คิดอะไร เพราะมองว่ามันคืออุบัติเหตุ” เธอเล่า

แต่เมื่อเขาพยายามถูกเนื้อต้องตัวเธออีก หญิงสาวคนนี้ก็รู้ว่ามันคือความจงใจ และเข็มกลัดก็ช่วยเหลือเธอจากเหตุการณ์นี้

“ฉันจิ้มเขา แล้วเขาถอยไป แต่เขาพยายามซ้ำอีกหลายครั้ง และฉันก็เอาเข็มจิ้มเขากลับ จนในที่สุดเขาก็ล่าถอยไป ฉันดีใจมากที่มีเข็มกลัดติดตัว แต่ก็รู้สึกโง่นิดหน่อยที่ไม่ได้หันไปตบหน้าเขาสักฉาด” เธอกล่าว

“ตอนที่ยังเด็กกว่านี้ ฉันกลัวว่าผู้คนจะไม่ช่วยฉันถ้าฉันร้องโวยวายขึ้นมา” หญิงสาวอธิบาย

เหล่านักกิจกรรมชี้ว่าความรู้สึกกลัวและอับอายเช่นนี้ของผู้หญิง ยิ่งส่งเสริมให้พวกลวนลามผู้หญิงได้ใจ และทำให้ปัญหาแพร่หลายมากขึ้น

การสำรวจทางออนไลน์ของคน 140 เมืองในอินเดียเมื่อปี 2021 พบว่า 56% ของผู้หญิงบอกว่าเคยถูกล่วงละเมิดและถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ แต่มีเพียง 2% ที่เข้าแจ้งความกับตำรวจ

ผู้หญิงส่วนใหญ่บอกว่า เลือกจะจัดการเรื่องนี้เอง หรือพยายามไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็เดินหนีเพราะไม่อยากทำให้สถานการณ์บานปลายเป็นเรื่องใหญ่โต

ผู้หญิง 52% บอกว่าต้องละทิ้งโอกาสทางการศึกษาและการงานเพราะรู้สึก “ไม่ปลอดภัย”

And Indian office

Getty Images
ความกลัวถูกล่วงละเมิดทางเพศทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องละทิ้งโอกาสทางการศึกษาและการงาน

กัลปานา วิศวนาถ ผู้ร่วมก่อตั้ง Safetipin องค์กรทางสังคมที่รณรงค์ให้พื้นที่สาธารณะมีความปลอดภัยสำหรับผู้หญิงกล่าวว่า “ความรู้สึกกลัวความรุนแรงทางเพศส่งผลกระทบต่อจิตใจและการไปไหนมาไหนของผู้หญิงมากยิ่งกว่าการกระทำจริงเสียอีก”

เธออธิบายว่า ความรู้สึกกลัวดังกล่าวทำให้ผู้หญิงต้องจำกัดตัวเอง และไม่มีสิทธิพลเมืองเท่าเทียมกับผู้ชาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้หญิงมากกว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศจริง

นางวิศวนาถชี้ว่า การคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงไม่ใช่แค่ปัญหาในอินเดีย แต่ยังเป็นปัญหาระดับโลก โดยมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ ได้สำรวจความเห็นของผู้หญิง 1,000 คนในลอนดอน นิวยอร์ก เม็กซิโกซิตี โตเกียว และไคโร พบว่า “เครือข่ายบริการขนส่งมวลชนคือแม่เหล็กดึงดูดผู้ก่อเหตุทางเพศ ซึ่งมักอาศัยความแออัดในชั่วโมงเร่งด่วนแอบล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงโดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว และไม่ก็ใช้เรื่องความเบียดเสียดเป็นข้ออ้างหากถูกจับได้

นางวิศวนาถบอกว่า ผู้หญิงในแถบลาตินอเมริกา และแอฟริกาก็พกเข็มกลัดเป็นอาวุธติดตัวเช่นกัน ขณะที่นิตยสาร Smithsonian รายงานว่า ผู้หญิงในสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 1900 ก็ใช้เข็มปักหมวกทิ่มผู้ชายที่เข้าใกล้พวกเธอมากเกินไป

The Delhi Metro reserves one compartment in every train for female passengers

Getty Images
รถไฟใต้ดินของกรุงนิวเดลีสงวนตู้สำหรับผู้โดยสารหญิงโดยเฉพาะ

แม้อินเดียมีสถิติติดอันดับต้น ๆ ของโลกในเรื่องการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงในที่สาธารณะ แต่ดูเหมือนว่าสังคมยังไม่ยอมรับว่านี่คือปัญหาใหญ่ของชาติ

นางวิศวนาถอธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่เหยื่อเข้าแจ้งความน้อย จึงทำให้ไม่มีข้อมูลสะท้อนสถิติอาชญากรรมที่แท้จริง รวมทั้งยังเกิดจากอิทธิพลของภาพยนตร์ที่นำเสนอว่า การคุกคามทางเพศเป็นการเกี้ยวพาราสีผู้หญิงอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมก่อตั้ง Safetipin บอกว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในกรุงนิวเดลี มีการติดตั้งปุ่มขอความช่วยเหลือและกล้องวงจรปิดบนรถประจำทาง นอกจากนี้ยังมีการว่าจ้างคนขับรถผู้หญิง ตลอดจนการฝึกอบรมให้พนักงานขับรถใส่ใจความปลอดภัยของผู้โดยสารหญิงให้มากขึ้น และมีการส่งเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยประจำรถด้วย ขณะที่ตำรวจได้เปิดแอปพลิเคชัน และสายด่วนให้ผู้หญิงติดต่อขอความช่วยเหลือ

นางวิศวนาถชี้ว่า ปัญหานี้ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการสอดส่องของเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมเข้าใจว่าการลวนลามและคุกคามทางเพศผู้หญิงเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้

แต่กว่าจะถึงวันนั้น ผู้หญิงอินเดียหลายล้านคนคงจะต้องพกเข็มกลัดติดตัวกันต่อไป


หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว