เลือกตั้ง 2566 : “แม่ทัพ กทม.” 2 ค่าย-ขั้วเดียวกัน วิเคราะห์สมรภูมิเมืองหลวง

พุทธิพงษ์ กับ สกลธี เป็นอดีตเพื่อนร่วมพรรค ปชป. และ พปชร. และยังเป็นอดีตแกนนำ กปปส.

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ

 ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

 

สุดสัปดาห์สุดท้ายก่อนยุบสภา 2 พรรคการเมือง “ขั้วรัฐบาล” เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ทั้ง 33 เขต เมื่อ 18 มี.ค. ตั้งเป้าหิ้ว ส.ส. กลับเข้าสภาไม่น้อยกว่าจำนวนเดิม

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ปล่อยคาราวานหาเสียงจากที่ทำการพรรค ถ.พหลโยธิน กระจายไปรอบกรุง โดยหัวหน้าพรรคประกาศ “พร้อมตอกเสาเข็ม กทม. ดูแลพี่น้องชาวกรุงเทพฯ”

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตั้งเวทีปราศรัยครั้งแรกในเมืองหลวง ใช้ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. เป็นสถานที่ให้หัวหน้าพรรคสื่อสารกับคนกรุงว่า “ขออาสาที่จะนำความรัก ความสามัคคี มาสู่ประเทศชาติ”

บีบีซีไทยสนทนากับ “แม่ทัพ กทม.” ของ 2 ค่ายภายใต้ขั้วเดียวกัน – พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการเลือกตั้ง กทม. ของ ภท. และ สกลธี ภัททิยกุล หัวหน้าทีม กทม. ของ พปชร. – ให้ประเมินสมรภูมิกรุงเทพฯ ก่อนระฆังเลือกตั้งจะดังขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร 20 มี.ค.

วิเคราะห์พฤติกรรมเลือกตั้งของคนกรุง

คนกรุงเทพฯ ตัดสินใจทางการเมืองบนพื้นฐานอะไร คือโจทย์ที่แต่ละพรรคต้องตีให้แตก แล้วนำเสนอสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 4.4 ล้านคน

“ในต่างจังหวัด นโยบายอาจมีผลต่อการตัดสินใจ แต่ในกรุงเทพฯ มันเป็นความรู้สึกล้วน ๆ… คนกรุงเทพฯ เวลาเลือกอะไร มันตอบไม่ได้หรอก ผมเอาตัวเองเป็นตัววัดนะ ถึงเวลา ฉันอยากเลือกคนนี้ ฉันก็เลือก โดยไม่สนหรอกว่านโยบายเขาเป็นอย่างไร” สกลธีวิเคราะห์พฤติกรรมทางการเมืองคนเมืองหลวง

เขาชี้ว่า ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเลือกพรรคกับคนเหมือนกัน ครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นเหมือนเดิม โดยดูจากกระแส 70% และตัวบุคคล 30% แต่สำหรับผู้สมัครที่แข็งจริง ๆ ของแต่ละเขต อาจจะแข็งแกร่งกว่า 30% ก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ที่ผ่าเขต-แบ่งแขวง อาจทำให้ผลไม่เหมือนเดิม และยังเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา

บัตรลต.

Getty Images

 

ด้านพุทธิพงษ์ย้อนฉายภาพเมื่อ 4 ปีก่อน ที่คนไทยมีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งและได้เห็นแล้วว่าการเลือก ส.ส. ไม่ใช่แค่ไปทำงานในพื้นที่ แต่เข้าไปร่วมโหวตเลือกนายกฯ กลางสภาด้วย ในการเลือกตั้งรอบนี้ กฎกติกายังคล้าย ๆ กัน แม้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่แนวทางความรู้สึกที่ว่าการเลือก ส.ส. สามารถกำหนดทิศทางประเทศได้ยังคงอยู่

พุทธิพงษ์จึงวิเคราะห์ว่า ปัจจัยในการเลือกของคน กทม. มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ นโยบาย, ตัวบุคคล และโอกาสในการเป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองที่เขาจะเลือก เพราะมีผลต่อการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง หลังทุกคนได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มานาน 3 ปี

“มันเป็นการเลือกเพื่อฟื้นฟูประเทศ เลือก ส.ส. เลือกผู้บริหารที่จะต้องกลับมาเป็นรัฐบาล… เราไม่ได้บอกว่าเลือกผู้ชนะ ไม่มีใครรู้หรอกว่าใครจะชนะ แต่อย่างน้อยพรรคการเมืองที่ไม่มีความขัดแย้งกับใครเลย ไม่ได้มีขั้ว” ผอ.การเลือกตั้งกรุงเทพฯ ภท. กล่าวและว่า พรรคต้นสังกัดของเขาเอานโยบายเป็นหลัก มีประสบการณ์ด้านการบริหารมาแล้ว และไม่มีเงื่อนไขซ้าย-ขวา

ดันอนุทินเป็นแคนดิเดตนายกฯ จาก “ฝั่งนี้”

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1” เมื่อ 19 มี.ค. จากการสุ่มตัวอย่างประชากร 2,000 คน พบว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า พปชร. ไม่ติดโผ 10 อันดับแรกที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้า ภท. ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนเพียง 1.55% ให้เป็นนายกฯ โดยมีคะแนนเป็นอันดับ 9 จากว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคต่าง ๆ อีกทั้งยังมีคะแนนน้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ จำนวน 9.45%

แต่ถึงกระนั้น พุทธิพงษ์ยกข้อกฎหมายและประเพณีทางการเมืองมาชี้ให้เห็นโอกาสถึงฝั่งฝันบนเก้าอี้นายกฯ ของหัวหน้า ภท.

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดว่า บุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อให้สภาโหวตเลือกเป็นนายกฯ ได้ ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 159 คือ ต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของสมาชิกที่มีอยู่ของสภา หรือมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป แต่สิ่งที่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้คือ ภายหลังการเลือกตั้ง จะมีแคนดิเดตนายกฯ เพียง 2 คนเท่านั้นที่ได้รับการเสนอชื่อให้สภาพิจารณา โดยมาจากพรรคที่จับได้เสียงข้างมาก กับพรรคที่จับได้เสียงข้างน้อย

แม่ทัพ กทม. สังกัด ภท. กล่าวต่อไปว่า ในฝั่งหนึ่งที่มีความพร้อมก็คือพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยืนยันชัดเจนว่าไม่จับกับอีกฝั่งที่มีการก่อตั้งมาจากสายทหาร-เผด็จการ ไม่ว่าพรรคของ พล.อ. ประยุทธ์ หรือ พล.อ. ประวิตร ในฝั่งนี้ก็ต้องดูว่าเสียงของใครพร้อมที่สุดโดยผลของการเลือกตั้งทั้งประเทศ

“ภูมิใจไทยน่าจะมีโอกาสเป็นพรรคอันดับต้น ๆ ผู้ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ คือหัวหน้าอนุทินคนเดียว เมื่อเรียงลำดับแล้ว โอกาสในการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ต้องมากที่สุด เราถึงกล้าการันตีว่าโอกาสในการผลักดันให้หัวหน้าพรรคซึ่งได้รับ ส.ส. มากที่สุดขึ้นในฝั่งนี้ ไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ มีมากที่สุด นั่นคือสิ่งที่ตอบคำถามว่าทำไมคนต้องเลือกภูมิใจไทย เพราะมององค์ประกอบภาพรวมทั้งประเทศ จะเอาแต่ความรู้สึกตัวเองไม่ได้”

“ที่เราคุยกันนี้ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่มันเป็นเรื่องปกติ เป็นประเพณีทางการเมือง ถ้าพรรคอันดับ 1 จัดไม่ได้ ก็พรรคอันดับ 2 เมื่อเข้าไปเลือกก็มี 2 ฝั่งแคนดิเดตสู้กัน ถ้าเราสามารถรวมได้เยอะ ได้ ส.ส. เยอะ” พุทธิพงษ์กล่าว

อนุทิน

กองโฆษก พรรคภูมิใจไทย : อนุทิน ชาญวีรกูล เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรค ภท. เมื่อ 18 มี.ค.

พปชร. ขอ “เท่าเก่า” ภท. ตั้งเป้า “รักษาที่นั่งเดิม”

ในศึกเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน กระแส “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่” มีส่วนสำคัญที่ทำให้ พปชร. นำ ส.ส.กทม. เข้าสภาได้มากที่สุด 12 คน จากทั้งหมด 30 เขต

มาถึงการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นเป็น 33 เขต หัวหน้า พปชร. ยังขอตั้งเป้าหมายในสนาม กทม. “เท่าเก่า” แม้ไม่มีผู้แทนฯ หน้าเดิมเหลืออยู่ในพรรคเลยก็ตาม อดีต ส.ส.กทม. เพียง 1 เดียวที่สวมเสื้อพลังประชารัฐลงสู่สนามเลือกตั้งรอบนี้ เป็นคนที่ย้ายสังกัดมาจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ต่างจาก ภท. ซึ่งรอบนี้ดูด-ดึง ส.ส.กทม. ไปไว้ใต้ชายคารวม 8 ชีวิต โดย 2 คนเข้าสังกัด ภท. ภายหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เมื่อปี 2563 และอีก 5 คนเพิ่งย้ายมาจาก พปชร. และ 1 คนมาจาก พท. เป้าหมายขั้นต่ำของพรรคสีน้ำเงิน จึงอยู่ที่การ “รักษาที่นั่งเดิม” อย่างน้อย 8 คน

ตลอดระยะเวลา 14 ปีของ ภท. ซึ่งไม่เคยปักธงในพื้นที่ กทม. ได้เลย อนุทินประกาศว่า “พรรคบ้านนอกขอเข้ากรุง” และ “ไม่เคยมีครั้งไหนที่ภูมิใจไทยมีความพร้อมมากเท่าครั้งนี้”

“เราเติบโตมาจากต่างจังหวัด เราใช้การบริหารจัดการแบบที่เราคุ้นชินในต่างจังหวัดมาใช้กับกรุงเทพฯ แต่ครั้งนี้ต่างออกไป… ใน กทม. ต้องเสนอเป็นองคาพยพ ทั้งพรรค การบริหารจัดการ นโยบาย และผู้สมัคร” หัวหน้าพรรค ภท. กล่าวในงานเปิดตัว 33 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.

พุทธิพงษ์ข้องใจชูวิทย์ชักธงรบ “รับงานใครมาหรือเปล่า”

การเริ่มต้นจากศูนย์ในพื้นที่ กทม. ทำให้พรรคการเมืองอายุ 14 ปีไม่มีกระแสบวกในเมืองหลวง มิหนำซ้ำ “ขุนศึก” ค่ายภูมิใจไทยยังต้องเผชิญกับกระแสลบจากการเปิดประเด็นรายวันของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ประกาศ “ชักธงรบ” ทั้งเรื่อง “กัญชาเสรี” และ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

แม้ทำให้สังคมหยุด-หันมองมอง ภท. แต่พุทธิพงษ์บอกว่า กระแสแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่พรรคการเมืองไหนอยากได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องอธิบายข้อเท็จจริงให้ประชาชนเข้าใจ และไม่ได้รู้สึกเป็นกังวลแต่อย่างใด พร้อมกล่าวชื่นชมชูวิทย์ว่าทำหน้าที่คนไทยที่ดี หากเห็นอะไรไม่ถูกต้อง ต้องตรวจสอบ แต่เมื่อเอาข้อมูลมาเปิดแล้ว จะมาก-น้อย-ถูก-ผิด ไม่รู้ แต่ชูวิทย์ไม่ใช่คนตัดสิน ต้องส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ต่อไป

“ถือว่าจบในส่วนที่คุณชูวิทย์ได้ทำแล้ว ถ้ายังลากต่อไป ก็ไม่แน่ใจว่าคุณชูวิทย์ต้องการอะไร ทำไปเพื่ออะไร ทำไมต้องทำขนาดนี้ ไปรับงานใครมาหรือเปล่า ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์” แกนนำภูมิใจไทยตั้งคำถามกลับไปยังชายผู้ได้รับสมญานามว่า “จอมแฉ” และบอกว่าสิ่งที่ชูวิทย์ทำจะได้รับการพิสูจน์ในระยะยาว

เขาแจกแจงว่า เจตนารมณ์ของ ภท. คือการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด แล้วนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น แต่เมื่อต้องออกกฎหมายควบคุมกัญชาไม่ให้เสรี ร่างกฎหมายกลับติดอยู่ในสภา ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องออกเป็นประกาศกระทรวงเพื่อบังคับใช้

“ดังนั้นที่บอกว่ากัญชาเสรี คุณชูวิทย์ไปตามมาสิ คนไหนไม่ผ่านกฎหมายที่จะไปควบคุมกัญชาเสรี ไม่ใช่ภูมิใจไทย เราพร้อมผ่านกฎหมาย คุณมาผิดพรรคแล้วคุณชูวิทย์ คุณไล่ผิดพรรคแล้ว พรรคไหนไม่โหวตให้ ไปไล่ดูสิ” พุทธิพงษ์กล่าว

ชูวิทย์

Thai News Pix : ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รณรงค์คัดค้านนโยบายกัญชาเสรี และรณรงค์ไม่ให้โหวตเลือก ภท. ย่านสีลม กทม. 21 มี.ค.

สกลธีกังวล “แบ่งขั้ว” มากกว่า “แบ่งฝ่าย”

เมื่อข้ามไปมองสถานการณ์ที่ พปชร. ต้องเผชิญกับแรงต้านจากคนการเมืองขั้วฝ่ายค้านเดิม ซึ่งหาเสียงโดยประกาศ “ปิดสวิตช์ 3 ป.” และไม่จับมือตั้งรัฐบาลกับ ประยุทธ์-ประวิตร ภายหลังการเลือกตั้ง

“ตอนนี้กังวลเรื่องการแบ่งขั้วมากกว่าการแบ่งฝ่าย” สกลธีบอก

เขายกประสบการณ์ตรงในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. เมื่อปี 2565 ซึ่งแม้ลงสนามในนามอิสระ แต่ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแบ่งขั้ว “บางคนบอกว่าชอบนโยบายเรา แต่พอรู้ว่าเราอยู่ในขั้วการเมืองไหน ก็ทำให้เขาอาจไม่เลือก หรือเลือกยากขึ้น ซึ่งก็กังวลถึงคราวนี้”

“ตราบใดที่การเมืองเราเป็นการแบ่งขั้ว การเลือกมันก็จะปนกันในขั้วนั้น ฝั่งขั้วอนุรักษนิยมมันก็จะแบ่งกันตรงนี้ ในการเลือกก็จะไม่ข้ามไป คนที่เชียร์ฝั่งนี้จ๋า ๆ ก็จะไม่ไปเลือกอีกฝั่ง” สกลธีระบุ

อย่างไรก็ตาม สกลธี “พอมองเห็นแสงสว่าง” อยู่บ้าง จากการที่คนฝั่งอนุรักษนิยมบางส่วนลงคะแนนเลือก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทั้งที่รู้ว่าเป็นเหมือนตัวแทนของฝั่งเพื่อไทย มันก็อาจจะเปลี่ยนตรงนั้นได้บ้าง แต่ทั้งนี้ต้องรอดูผลการเลือกตั้งทั่วไปด้วย

ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปีก่อน สกลธีไปไม่ถึงศาลาว่าการ กทม. เมื่อพ่ายแพ้ให้กับชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งคว้าชนะด้วยคะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยคะแนน 1.3 ล้านเสียง ขณะที่ 3 ผู้สมัครจากฝั่งอนุรักษนิยม ได้แก่ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจาก ปชป., สกลธี ผู้สมัครอิสระ และ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครจากกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ได้คะแนน 2.14-2.54 แสนเสียง ส่วน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจาก ก.ก. ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 3 ราว 2.53 แสนเสียง

ชัชชาติ

PR ทีมชัชชาติ

 

 

ทุกบทเรียนที่เกิดขึ้นในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ถูกเก็บไปขบคิดอย่างจริงจังจากบรรดา “ขุนพล-ขุนศึก” กทม. ของพรรคต่าง ๆ เพื่อวางยุทธศาสตร์ในสนามเลือกตั้งระดับชาติ

ในทัศนะของพุทธิพงษ์ ชัยชนะของชัชชาติเป็นคะแนนตัวบุคคลเสียมาก หาได้มาจากคนที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น แต่กับสนามเลือกตั้งใหญ่ เขายังยืนยันในความเชื่อที่ว่าประชาชนจะเลือกพรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาล ไม่ได้เลือกจากอารมณ์-เอามันส์-เอาความสะใจ นอกจากนี้ยังสนับสนุนแนววิเคราะห์ของสกลธีเรื่องการไม่เลือกข้ามขั้วการเมือง

“คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อาจจะชินกับการที่ไม่เลือกฝั่งนี้ แล้วไม่กระโดดข้ามไปเลือกอีกฝั่งหนึ่ง แต่เลือกใครไม่รู้ ขอคิดนาทีสุดท้าย นี่คือสิ่งที่เราต้องพร้อม คัดสรรผู้สมัครที่ดีเตรียมไว้ก่อน เมื่อถึงวันที่โจทย์นั้นมา คนเขาก็ตัดสินใจได้ว่าจะเลือกภูมิใจไทยในวันนั้น” พุทธิพงษ์ให้ความเห็น

ยอมรับบท “โซ่ข้อกลาง” ทำเสียคะแนนจากฝ่ายอนุรักษนิยม

ท่ามกลางภาวะยึดขั้ว-แยกข้างการเมืองชัดเจน น่าสนใจว่าความพยายามแสดงบทบาท “โซ่ข้อกลาง” ของ พล.อ. ประวิตร ด้วยการประกาศเชิญชวนทุกฝ่ายก้าวข้ามความขัดแย้ง จะทำให้ พปชร. เสียคะแนนเสียงจากฝ่ายอนุรักษนิยมหรือไม่

“เป็นไปได้สูง” สกลธียอมรับ ก่อนอรรถาธิบายว่า “ลุงป้อมท่านคงมองว่าถ้าเราหาเสียงแต่ฝั่งเราอย่างเดียว มันก็ไม่ได้คะแนน มันต้องหาเสียงจากทุกคนคนฝ่าย นี่คือสิ่งที่ลุงป้อมพยายามทำ แต่จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ต้องดูผล ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้หรอกว่ามันจะถูกหรือผิด มันก็อาจจะทำให้เราเสียฐานของอนุรักษนิยมไปบ้าง แต่มันก็จะไปเปิดฐานใหม่ของเราได้เหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม แม่ทัพ กทม. ของ พปชร. เชื่อว่า การทำการเมืองสไตล์ ป.ประวิตร ซึ่งเป็นคนประนีประนอม และเป็นนักปฏิบัติ จะยังทำให้พรรคมีโอกาสได้รับคะแนนเสียงจากฐานเสียงเดิม

“เราต้องพยายามขายข้อดีของลุงป้อม ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยรู้ว่าพรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นมา และประคองรัฐบาลอยู่ได้ครบ 4 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ทั้งหมดนี้เป็นกำลังของลุงป้อมเป็นหลัก ถ้าทำให้คนรู้ตรงนั้นได้ ก็จะรู้ว่าผู้นำคือผู้ที่บริหารได้ ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง” สกลธีกล่าว

ป้อม

wasawat lukharang/BBC Thai : พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยอมรับว่า “ตื่นเต้น” ภายหลังเปิดปราศรัยใน กทม. ครั้งแรกเมื่อ 18 มี.ค.

 

ในขณะที่ลูกพรรคพยายามดึงจุดดี-จุดเด่นของ พล.อ. ประวิตร เจ้าของคำพูดติดปาก “ไม่รู้ ๆ” ขึ้นมาแสดงให้สังคมรับทราบ แต่พรรคคู่แข่งขันอย่างน้อย 2 พรรคชิงประกาศไม่จับมือตั้งรัฐบาลกับ พล.อ. ประวิตร จะส่งผลต่อจุดขายของ พปชร. หรือไม่

คำตอบจากสกลธีคือ “เราก็ขายของเรา ถึงเวลาจะจับไม่จับ ผมว่าตัวเลขสำคัญที่สุด ถ้าตัวเลขวันนั้นมา และเป็นจำนวนที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ ถึงวันนั้นก็ต้องรวม ส่วนพลังประชารัฐจะรวมกับใคร แค่ไหน อย่างไร ลุงป้อมพูดตลอดว่าพรรคไหนที่ยึดเหมือนกันคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมได้ทุกพรรค ถึงเวลาก็ต้องมาดูเงื่อนไขกันอีกที”

กรรมการบริหาร พปชร. ยังชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง 2 ลุงว่า “ลุงป้อมยังอยู่ได้ยาวต่อ แต่ลุงตู่อยู่ได้อีก 2 ปี นี่คือความแตกต่าง”

สกลธีบอกด้วยว่า เขาไม่เคยทำงานใกล้ชิด พล.อ. ประยุทธ์มาก่อน แต่กับ พล.อ. ประวิตรเป็นคนที่ให้อิสระ ให้ทำทุกอย่าง ให้ความไว้วางใจ บอกจั้มทำไปเลย แกเชื่อในตัวเรา นี่คือสิ่งที่คนทำงานอยากได้

“ในระบบเลือกตั้ง มันฮั้วกันไม่ได้”

พุทธิพงษ์ วัย 54 ปี กับ สกลธี วัย 45 ปี เคยมีอดีตร่วมกัน ทั้งที่พรรค ปชป. ต้นสังกัดแรกทางการเมืองที่ทำให้พวกเขา “แจ้งเกิด” ในฐานะ ส.ส.กทม. โดยรายแรกเป็นอดีต ส.ส. 2 สมัย (เลือกตั้งซ่อม 2545, เลือกตั้ง 2554) ส่วนรายหลังเป็นอดีตผู้แทนฯ 1 สมัย (เลือกตั้ง 2550)

จากนั้นได้ร่วมต่อสู้บนท้องถนน ในฐานะแกนนำคณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) ชุมนุมขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557

ก่อนยกพลกันมาอยู่ใต้ชายคาพรรค พปชร. เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีหลังรัฐประหาร และได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนว่ากลุ่ม “สามทหารเสือ กปปส.”

พุทธิพงษ์กลับเข้าสภาในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ก่อนพ้นจากทั้ง 2 เก้าอี้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลอาญา เนื่องจากเคยถูกคุมขังโดยหมายศาลใน “คดีกบฏ กปปส.” แม้คดียังไม่สิ้นสุดก็ตาม

ขณะที่สกลธีนั่งเก้าอี้รองผู้ว่าราชการ กทม. ตั้งแต่ปี 2561 ก่อนลาออกจากพรรค พปชร. เพื่อลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ในนามอิสระ ก่อนหวนกลับเข้า พปชร. อีกครั้ง-ทำหน้าที่แม่ทัพ กทม.

ในศึกเลือกตั้ง 2566 สกลธี-พุทธิพงษ์ยืนคนละค่าย ต่างคนต่างยอมรับว่า “รู้แนว” และ “รู้ลายเซ็นของกันและกัน”

พปชร. ใช้คำขวัญ “พลังใหม่ พลังกรุงเทพ พลังประชารัฐ” ในสนาม กทม.

ส่วน ภท. เข้าสู่สมรภูมิเดียวกัน ด้วยคำขวัญ “ภูมิใจกรุงเทพ ภูมิใจไทย”

สกลธียอมรับว่า มันมาจากฐานเสียงเดียวกันอยู่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ แต่เมื่อปรับเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็ทำให้พอหายใจหายคอได้

พุทธิพงษ์ขออย่ามองว่าตัดคะแนนกันเองหรือไม่ไหม เพราะเมื่อไปสู่การเลือกตั้ง ทุกคนมีสิทธิส่งผู้สมัคร

“ต่อให้เคยรักกันมา อยู่ฝั่งเดียวกัน จะบอกได้ไหมว่าผมส่ง อย่าส่งนะ เขตนี้เขาส่ง ผมไม่ส่ง มันไม่ได้” และ “ในระบบเลือกตั้ง มันฮั้วกันไม่ได้ ทุกคนลงไปก็หวังชัยชนะทั้งนั้น ต่อให้พรรคบอกเดี๋ยวอ่อนให้ แต่ผู้สมัครมันเดินใส่กันเต็มที่”

ภท. และ พปชร. ถือเป็น 2 จาก 5 พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงใกล้เคียงกัน ซึ่งนอกจาก 2 พรรคนี้ ยังมี ปชป., พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ร่วมช่วงชิงคะแนนเสียงในขั้วเดียวกันด้วย

ขณะที่ฟากฝั่งฝ่ายค้านเดิม ก็ตัดคะแนนกันเองระหว่าง พท. ก.ก. พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) และพรรคเสรีรวมไทย (สร.)

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว