คนหน้าตาดีมีรายได้สูงกว่าจริงหรือ

Yulia.S Hugo มาริเก นางแบบแฟชันจากเมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้

มาริเก นางแบบแฟชันจากเมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ ยอมรับว่า ผู้คนมักจะเลี้ยงเครื่องดื่มเธอฟรี อาหารกลางวันฟรี และตั๋วฟรีต่าง ๆ

ทำไมน่ะหรือ เธออธิบายสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็เพราะเธอดูดีไง

“บางคนคงคิดว่า มันไม่ยุติธรรม” นางแบบรูปร่างผอมสูง ผมสีน้ำตาล ให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุบีบีซี บิสซิเนส เดลี

“แต่ถ้าคุณดูดี และคุณภูมิใจรูปร่างหน้าตาของคุณ แล้วคุณก็พยายามอย่างหนัก เพื่อรักษาความดูดีนั้นไว้ ทำให้มีคนมานำเสนอประสบการณ์และของฟรีให้… ฉันคิดว่าคุณก็รับมันไป และก็สนุกกับมันเถอะ”

ไม่ว่าเราจะอยากยอมรับเรื่องนี้หรือไม่ แต่ความจริงที่ว่า “อคติจากรูปลักษณ์” หรือ “การลำเอียงเพราะหน้าตาดี” มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฮอลลีวูด สังคมออนไลน์ หรือวงการโฆษณา เพราะมีงานวิจัยหลายฉบับที่ยืนยันว่า คนรูปร่างหน้าตาดี จะมีชีวิตที่สะดวกสบายกว่า

แต่การดูดี ทำให้ชีวิตดีขนาดไหน บีบีซีไทยพาไปสำรวจในบทความนี้

พลังของโซเชียลมีเดีย

Beauty fashion blogger advertising bag and belt accessories

Getty Images

ผู้คนจำนวนมากในโลกใช้สังคมออนไลน์ เพื่อหารือถึงประเด็นนี้ และมี “คนสวยคนหล่อ” มาแลกเปลี่ยนเรื่องราวว่า พวกเขาได้ของฟรีมาจากรูปร่างหน้าตาของตัวเองอย่างไร

ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า เธอเชื่อว่า เธอได้สัมภาษณ์เข้าทำงานที่เธอคุณสมบัติไม่ถึง เพียงเพราะนายจ้างมองว่า เธอรูปร่างน่าหน้าน่าดึงดูด

สังคมออนไลน์ได้ช่วยให้คนจำนวนมาก ทั้งผู้ชายและผู้หญิงใช้รูปร่างหน้าตา หาเลี้ยงตัวเองได้ และหลายกรณี พวกเขาหาเงินได้โดยไม่ต้องออกจากบ้านด้วยซ้ำ

“อภิสิทธิจากความงามความน่ารัก เติบโตขึ้นมาก อินสตาแกรมเป็นผู้ร้ายในกรณีนี้” มาริเก ระบุ

ที่เธอพูดเช่นนั้น เพราะแบรนด์ต่าง ๆ ต่อสู้กันเพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ในวันที่คนรุ่นนี้ไม่เสพเนื้อหาจากสื่อแบบดั้งเดิมอีกต่อไป

“แบรนด์บางแห่งอาจส่งของฟรีให้คุณใช้ สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่แชร์มันลงในอินสตาแกรม” มาริเก อธิบาย

เธอยังบอกว่า ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมมากมาย รวมถึงเปิดร้านอาหาร

“คุณแค่ต้องปรากฏตัวในงาน แล้วก็สนุกไปกับมัน เพราะมันทำให้ผู้จัดงานดูดีที่มีผู้หญิงสวย ๆ อยู่ในภาพถ่าย กำลังมีความสุขอยู่ในร้านอาหารของพวกเขา”

อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่า ส่วนตัวแล้ว เธอชอบที่ได้รับความสนใจและการได้รับของฟรี

“มันเยี่ยมมากที่ได้สัมผัสประสบการณ์และได้รับโอกาสเหล่านี้ จากการที่เป็นคนสวยน่ารัก และการเป็นนางแบบ เพราะต้องยอมรับว่า คุณมีค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิตเยอะ กับการต้องอยู่ในเมืองใหญ่”

ดูดี ชีวิตเปลี่ยนแค่ไหน

Fitness vlogger making a video of himself at home

Getty Images
คนสวยสนหล่อมีแนวโน้มที่จะได้รับเงินเดือนมากกว่า

แดเนียล ฮาเมอร์เมช นักเศรษฐศาสตร์แรงงาน จากมหาวิทยาลัยแห่งเทกซัสในสหรัฐฯ ศึกษาปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “อคติจากรูปลักษณ์” มาหลายปีแล้ว

เขากล่าวว่า คนสวยคนหล่อมีแนวโน้มที่จะได้รับเงินเดือนมากกว่า มีปัญหาการขอสินเชื่อน้อยกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ และมักจะเข้าถึงโอกาสทางอาชีพและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากกว่า

“คนที่เรามองว่าดูดี จะมีชีวิตที่ดีกว่า และได้ประโยชน์จากงานที่ทำมากกว่า” เขาระบุ

Female SWAT Police Officers Attend Drill In Chongqing

Getty Images
อคติด้านรูปลักษณ์มีอยู่ในงานหลากหลายประเภท แม้แต่งานที่คาดไม่ถึง

“แม้แต่ในการสอนที่มหาวิทยาลัย ซึ่งดูจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องรูปร่างหน้าตามากนัก แต่รูปลักษณ์ก็สำคัญ แม้แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ มีงานศึกษาบางชิ้นที่ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่ดูดีกว่า จะมีรายได้มากกว่า”

เขาประเมินว่า แรงงานที่ดูดีจะมีรายได้สูงกว่าแรงงานที่รูปร่างหน้าตาปกติ หรือดูไม่ดี เกือบ 8 ล้านบาทในชั่วชีวิตหนึ่งในสหรัฐฯ (อ้างอิงจากการประเมินว่า ค่าแรงตกอยู่ที่ 680 บาทต่อชั่วโมง)

และถ้าเราใช้หลักการนี้ ไปเปรียบเทียบกับผู้จัดการกองทุน หรือนักการธนาคารสายการลงทุน ความแตกต่างด้านรายได้ที่มาจากรูปร่างหน้าตา จะยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก หมายความว่า ความสวยหล่อ กับความไม่สวยไม่หล่อ มันแตกต่างกันอย่างมาก

ไม่เพียงเท่านั้น ฮาเมอร์เมช ยังพบว่า ผู้ชายที่ดูดีจะมีแนวโน้มมีรายได้สูงกว่าผู้หญิงสวย ส่วนผู้ชายที่ดูไม่ดี จะมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายหล่อรูปร่างดีเกือบ 10% แต่ของผู้หญิงนั้น แตกต่างกันแค่ 5%

ฮาเมอร์เมช ยอมรับว่า ปัจจัยอย่างคุณลักษณะ ความรู้ การศึกษา อายุ เพศ และเชื้อชาติ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ แต่เรื่องความงามนั้น เป็นปัจจัยอิสระนอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้

“แม้คุณจะนับรวมปัจจัยเหล่านี้แล้ว แต่ความแตกต่างเรื่องของความงาม ก็ยังส่งผลต่อรายได้ในตลาดแรงงานและอาชีพการงานอยู่ดี”

เรานิยามความดูดีอย่างไร

Three female models

Getty Images

หลายคนกล่าวว่า นิยามความงามได้ยากมาก แต่ฮาเมอร์เมช ไม่คิดเช่นนั้น เขาเชื่อว่า คนส่วนมากเห็นพ้องได้ว่า “ใครดูดี” และ “ใครดูดีน้อยกว่า”

“ถ้าคุณและผมเดินไปตามถนน แล้วมองคน 10 คน ในจำนวนนั้นมีคนหน้าตาดี 1-2 คน เราน่าจะเห็นพ้องกันได้ว่าใครที่หน้าตาดี”

เขายังมองว่า เชื้อชาติไม่ได้กระทบเรื่องอคติจากรูปลักษณ์มากนัก “มุมมองเรื่องความงาม ค่อนข้างคล้ายกันไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน ผู้หญิงแอฟริกันที่ดูดี คนอื่นในโลกก็จะมองว่าดูดีเช่นกัน เช่นเดียวกับหญิงเอเชีย และหญิงคอเคเซียน”

หน้าสวยและความกลัวคนอ้วน

Doctor injecting collagen into young woman's lip

Getty Images
ฉีดฟิลเลอร์

กระบวนการเสริมความงามอย่างการฉีดโบท็อกซ์ และฉีดฟิลเลอร์ ริมฝีปาก กำลังได้รับความนิยมเพื่อเสริมความงามบนใบหน้า

แต่ ฮาเมอร์เมช ไม่ค่อยเชื่อว่า การทำเช่นนี้จะทำให้คนดูดีขึ้น

“คนเชื่อว่ามันช่วย พวกเขาอาจแต่งตัวดี ๆ ใช้เครื่องสำอางดี ๆ หรือไว้ทรงผมดีขึ้น แต่ผลการศึกษาผู้หญิงในนครเซี่ยงไฮ้ กลับพบว่า คนมองผู้หญิงที่ลงทุนกับเรื่องความงาม ดูดีกว่า ผู้หญิงอื่นที่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องนี้นัก เพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความงามกับอาชีพการงาน เอมิลี ลอว์เรน ดิกค์ นักเขียนชาวแคนาดา มองว่า การแบ่งแยกเรื่องน้ำหนัก กำลังระบาด

แม้กฎหมายแรงงานในประเทศส่วนใหญ่จะห้ามการแบ่งแยก บนพื้นฐานของเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน อาทิ เชื้อชาติ เพศ ชาติพันธุ์ ความทุพพลภาพ และอายุ แต่เอมิลี ระบุว่า ถ้ายังเป็นเรื่องความน่าดึงดูดทางกายภาพ ยังต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอีกมาก

“ความกลัวคนอ้วน คือความกลัวและความเกลียดร่างกายที่อ้วน ถือเป็นการเหยียดเชื้อชาตินะ” เธอกล่าว

“ในยุคใช้แรงงานทาส ผู้หญิงผิวขาวต้องสร้างความแตกต่างจากผู้หญิงผิวดำ ซึ่งความผอมกลายเป็นคำตอบ” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า โฆษณาและภาพยนตร์มักจะนำเสนอภาพว่า คนที่น้ำหนักมากกว่า “ไม่น่าชื่นชอบและไม่ฉลาด” ซึ่งเป็นทัศนคติที่นำมาสู่การกลั่นแกล้งและการล่วงละเมิดคนหมู่มากในชีวิตความเป็นจริง

และเป็นความจริงว่า “คนอ้วนมักมีแนวโน้มจะมีรายได้น้อยกว่าพนักงานที่ผอม และมักถูกนำเรื่องรูปร่างไปเชื่อมโยงกับการรับรู้ และคุณค่าของความเป็นมนุษย์”

หลักวิชาการเอง ก็ดูจะสนับสนุนทฤษฎีนี้ โดยมีผลการศึกษาในสหราชอาณาจักร จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ฮัลลัม เมื่อไม่นานมานี้

การศึกษาดำเนินโดยการส่งประวัติย่อที่เหมือนกันให้กับนายจ้าง โดยเรซูเมแรกจะติดภาพคนที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ส่วนเรซูเมต่อมา จะเป็นคนรูปร่างผอม ผลลัพธ์ชี้ว่า นายจ้างจะโอนเอียงไปทางคนที่ผอมกว่า

องค์การอนามัยโลกประเมินว่า จำนวนบุคคลที่ถือว่ามีน้ำหนักเกินความเหมาะสมทั่วโลก ได้พุ่งสูงเกิน 1 พันล้านคน นี่จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่จะท้าทาย “ความมีอคติโดยไม่รู้ตัว” ของคน โดยเฉพาะในเรื่องน้ำหนักและการรับรู้เรื่องความงาม

สู้กลับ

South African model Marike

Marike

อคติด้านรูปลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และกระทบชีวิตมนุษย์มาหลายชั่วอายุคนแล้ว จากนักแสดงฮอลลีวูดถึงคนทั่วไป

แต่นางแบบอย่าง มาริเก ระบุว่า แรงต่อต้านการยึดติดในรูปลักษณ์ กำลังเป็นที่พูดถึงมากขึ้น และกำลังเปลี่ยนแปลงวงการแฟชันจากภายใน

“คนเริ่มสนใจนางแบบ ศิลปิน และนักแสดง ที่มีเรื่องราว… บุคลิกภาพเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น”

“นั่นคือกระแสที่กำลังเกิดจากภายในวงการ และฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก”


หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว