โลกรวน : 5 ประเด็นสำคัญจากรายงานภูมิอากาศโลกของยูเอ็นปีนี้

 

A man sits on sandbags beside water

Getty Images
มัลดีฟส์เป็นประเทศที่ผืนดินอยู่ติดกับระดับน้ำทะเลมากที่สุดในโลก จึงเสี่ยงต่อภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยิ่ง

หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ที่ให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต่อประเด็นปัญหาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น ได้ออกรายงานฉบับใหม่ที่เปิดเผยผลวิจัยสำคัญเกี่ยวกับภูมิอากาศโลก 6 เรื่อง หลังทำการศึกษามาเป็นเวลานานถึง 5 ปีเต็ม โดยรายงานฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1. โลกร้อนขึ้นจวนทะลุขีดจำกัดแล้ว

รายงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ฉบับนี้ เขียนด้วยสำนวนภาษาที่มีน้ำเสียงแสดงความตื่นตระหนก โดยระบุอย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันมนุษย์มีโอกาสน้อยมากที่จะสามารถจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับมาตรฐานในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ก่อนหน้านี้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องในการกำหนดเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อม โดยให้คำมั่นว่าจะไม่ปล่อยให้โลกร้อนขึ้นเกินขีดจำกัดดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงนั้น ขณะนี้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเหนือระดับมาตรฐานของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส ทั้งยังมีแนวโน้มว่าความร้อนจะพุ่งสูงขึ้นอีกจนทะลุเพดานของขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส ภายในช่วงทศวรรษ 2030 นี้อย่างแน่นอน

ดร. โอลิเวอร์ เกเดน หนึ่งในคณะผู้เขียนรายงานจากสถาบันเพื่อความมั่นคงและกิจการระหว่างประเทศแห่งเยอรมนี ระบุว่า “สำหรับเหล่าสมาชิกของคณะกรรมการ IPCC และบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาด้านภูมิอากาศโลกแล้ว มันชัดเจนอย่างยิ่งมาโดยตลอดว่า เราแทบจะไม่มีทางรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่าขีดจำกัดที่ 1.5 องศาเซลเซียสได้เลย”

ดร. เกเดนและทีมงานให้คำแนะนำใหม่ล่าสุดว่า การพยายามปรับลดอุณหภูมิโลกลงมาให้ได้โดยเร็วที่สุด หลังทะลุขีดจำกัดเดิมไปแล้ว ถือเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม การที่เราจำต้องปล่อยให้โลกร้อนขึ้นจนทะลุขีดจำกัดนั้นถือว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะอาจทำให้ภาวการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ พลอยเลวร้ายย่ำแย่ลง จนไปถึงจุดที่ไม่อาจจะแก้ไขให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก ตัวอย่างเช่นการละลายอย่างต่อเนื่องของชั้นดินเยือกแข็งคงตัวหรือเพอร์มาฟรอสต์ ซึ่งจะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลจากใต้ดินออกมาอีก

ส่วนการลดอุณหภูมิโลกให้กลับลงมาอย่างรวดเร็วหลังทะลุขีดจำกัดนั้น จะต้องใช้เทคโนโลยีดักจับหรือดึงคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินจากบรรยากาศ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีราคาแพงและยังไม่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ แต่รายงานของยูเอ็นฉบับนี้แนะนำว่า เราจะเป็นจะต้องเร่งมือทำทุกทางเพื่อให้บรรลุถึงจุดที่เรียกว่า “เน็ตซีโร” (net zero) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

Cargo ship sales past wind farm

Emma Lynch/BBC
พลังงานหมุนเวียนเช่นพลังงานจากกระแสลมมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ

2. ต้องเลิกขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล

แม้รายงานของยูเอ็นฉบับล่าสุดจะไม่ได้ระบุข้อความนี้ไว้โดยตรง แต่เนื้อหาทั้งหมดก็ได้บ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาตินั้น หมดอนาคตในการเป็นพลังงานของโลกยุคใหม่แล้ว ทุกประเทศจะต้องเลิกขุดเจาะเชื้อเพลิงชนิดนี้ขึ้นมาใช้โดยเร็วที่สุด หากเราต้องการจะรักษาสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เอาไว้

อันที่จริงรายงานฉบับนี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้พลังงานหมุนเวียน อย่างเช่นพลังงานจากแรงลมหรือแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันพลังงานประเภทนี้มีราคาถูกลงอย่างมาก โดยในหลายประเทศการเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณน้อยนั้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล

ดร. ฟรีเดอริเคอ ออตโต หนึ่งในคณะผู้เขียนรายงานบอกกับบีบีซีว่า “หลักใหญ่ใจความที่รายงานฉบับนี้ต้องการจะบอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องควรที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือ ต้องหยุดยั้งการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้โดยเร็วที่สุด เท่าที่มนุษย์จะสามารถทำได้”

“เหตุที่ต้องทำเช่นนั้น ไม่ใช่เพราะเราไม่มีเทคโนโลยีหรือความรู้ที่ก้าวหน้าพอจะจัดการกับปัญหาโลกร้อน แต่เป็นเพราะตอนนี้ แม้แต่ในหมู่คนระดับผู้นำที่มีอำนาจตัดสินใจ ก็ยังคงไม่รู้ร้อนรู้หนาวหรือตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศโลก” ดร. ออตโกล่าว

3. แท้จริงอำนาจจัดการปัญหาอยู่ในมือเรา

แม้จะดูเหมือนว่ารายงานปัญหาภูมิอากาศโลกของยูเอ็น จะเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐและภาคการพลังงานเป็นส่วนใหญ่ แต่คราวนี้คณะกรรมการ IPCC ได้เปลี่ยนจุดสนใจมาอยู่ที่การให้ความร่วมมือในภาคประชาชนมากขึ้น โดยเน้นย้ำว่ากิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ประชาชนทั่วไปริเริ่มและลงมือทำด้วยตนเอง จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ

ไคซา โคโซเนน ผู้แทนของกรีนพีซที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมของ IPCC ในครั้งนี้บอกว่า “พวกเราสามารถลดการปล่อยคาร์บอนในอนาคตลงได้อย่างมาก โดยอาจช่วยตัดลดปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศที่คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2050 ลงได้ 40-70% เลยทีเดียว”

“กิจกรรมรักษ์โลกที่คนทั่วไปทำได้นั้น รวมถึงการเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่ทำจากพืชให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบิน สร้างเมืองและชุมชนที่ผู้คนสัญจรไปมาด้วยการเดินและปั่นจักรยานกันเป็นหลัก” โคโซเนนกล่าว

รายงานฉบับนี้ยังพยายามผลักดันให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ปฏิรูปการคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และระบบพลังงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ผลิตคาร์บอนต่ำได้ง่ายขึ้น โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย

people riding bicycles on city street

Getty Images
เมืองที่รองรับการสัญจรไปมาด้วยจักรยาน เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4. สิ่งที่ทำลงไปวันนี้ ส่งผลถึงอีกหลายพันปีข้างหน้า

รายงานของยูเอ็นยังระบุว่า การกระทำและการตัดสินใจต่าง ๆ ของมนุษย์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในช่วงเวลา 7 ปีหลังจากนี้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปได้อีกหลายพันปี เช่นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก 2-3 องศาเซลเซียส ในระดับที่เหนือมาตรฐานของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะทำให้แผ่นน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์และทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกาละลายไปจนเกือบหมด โดยจะไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมไปอีกหลายสหัสวรรษ

การที่โลกร้อนขึ้นเพียงเล็กน้อย ยังส่งผลให้ภาวการณ์ทางสิ่งแวดล้อมหลายด้านเข้าสู่จุดวิกฤต เช่นการละลายตัวของธารน้ำแข็งทั่วโลกในอัตราที่เร็วขึ้น

หากต้องการหยุดยั้งภาวะโลกร้อนลงในทันที ประเทศต่าง ๆ จะต้องยอมเพิ่มภาระความรับผิดชอบในการควบคุมปริมาณคาร์บอนขึ้นอีกภายในปี 2030 เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือเน็ตซีโรภายในปี 2050 รวมทั้งสามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือเกินไปเพียงเล็กน้อย ภายในปี 2100

“นอกจากระบบภูมิอากาศโลกแล้ว ระบบสังคมของมนุษย์และระบบนิเวศในปัจจุบันยังฟ้องว่า การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วนอย่างยิ่ง เราจะต้องรีบเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้โลกดีขึ้นได้สำหรับทุกคน” ดร. ออตโตกล่าว

5. โลกร้อนไม่ใช่แค่เรื่องวิทยาศาสตร์ แต่เป็นปัญหาทางการเมือง

จุดแข็งของรายงานฉบับนี้ยังอยู่ที่การเห็นพ้องและยอมรับจากนานาประเทศ โดยผู้แทนของรัฐบาลชาติต่าง ๆ ได้ลงมติผ่านความเห็นชอบต่อเนื้อหาของรายงานในที่ประชุม IPCC ต่อหน้าบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่จัดทำรายงานฉบับนี้ออกมา

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องอนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเป็นหัวข้อที่อภิปรายถกเถียงกันอย่างดุเดือด และกำลังกลายเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างชัดเจนขึ้นทุกขณะ

เมื่อเดือน พ.ย. ของปีที่แล้ว ที่เมืองท่าชาร์มเอลเชกของประเทศอียิปต์ มีบางประเทศพยายามชักจูงให้ที่ประชุมด้านสิ่งแวดล้อมของยูเอ็น มีมติเห็นพ้องกับนโยบายลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ มาในครั้งนี้การถกเถียงเรื่องดังกล่าวปรากฏขึ้นในที่ประชุม IPCC อีกครั้ง โดยมีสหภาพยุโรปออกตัวว่าอยู่ข้างฝ่ายสนับสนุนอย่างโจ่งแจ้ง

รายงานว่าด้วยภูมิอากาศโลกฉบับนี้ จะถูกใช้เป็นศูนย์กลางของการต่อสู้ในเวทีการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง เมื่อมีการประชุม COP28 ที่นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปีนี้


หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว