วิเคราะห์ : X,Y หรือ Z Gen ไหน จะชี้ขาดผลเลือกตั้้ง

Getty Images

สังคมไทยย่างเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่เมื่อพิจารณาว่ากลุ่มใดคือผู้กำหนดชะตาประเทศผ่านการเลือกตั้งที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. นี้ พบว่า คนในกลุ่ม Generation X, Y และ Z กุมสัดส่วนมากกว่า 70% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ช่องว่างระหว่างวัย (generation gap)” จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ และยังมีงานวิจัยมองว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะเดินเข้าคูหาเลือกตั้งมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน

บีบีซีไทยชวนนักวิชาการมาร่วมวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มของกลุ่มที่คาดว่าจะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงว่าเป็นอย่างไร

ชุดความคิด ประสบการณ์ ตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้ง

“คนแต่ละรุ่นยืนอยู่บนชุดประสบการณ์ตัวเอง ประโยชน์เฉพาะหน้า และผลประโยชน์ในอนาคตที่เหมือนกันเลย” ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับบีบีซีไทย

  • เบบี้ บูมเมอร์-ไซเลนท์ เจเนเรชั่น

ผศ.ดร.กนกรัตน์ อธิบายว่า กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (2489-2507) และกลุ่มไซเลนท์เจนเนเรชั่น เป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากผ่านประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมคล้ายกัน โดยเฉพาะทัศนคติทางสังคมจะมีโน้มเองไปทางกลุ่มอนุรักษนิยม แต่หากมาถึงทัศนคติทางด้านการเมืองก็จะมีความแตกต่างกัน คือ จะพบว่ากลุ่มที่มีความคิดไปทางกลุ่มคนเสื้อแดง หรือในทางประชาธิปไตย และมีอีกกลุ่มที่มีทัศนคติทางการเมืองไปในทางอนุรักษนิยม จึงทำให้พฤติกรรมการเลือกพรรคที่แบ่งค่อนข้างชัดเจนแล้ว

พีรามิดประชากร

BBC

“หากพิจารณาจากปูมหลังหรือชุดความคิด ประสบการณ์ที่เขามีที่ผ่านมา การประสบความสำเร็จของประเทศมาจากระบบราชการในอดีต ที่ต้องเคารพความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ได้ทำให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ในยุคนั้น นี่เป็นวิธีเชื่อของคนในกลุ่มนี้” ผศ.ดร.กนกรัตน์ระบุ

ในส่วนแง่คิดคนกลุ่มนี้จะคิดเพียงการเพิ่มประสิทธิภาพในสายพานการผลิต จึงไม่เห็นความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบที่ดีอยู่แล้ว

  • กลุ่มคนเจเนเรชั่น X และ Y

อ.กนกรัตน์ มองว่า กลุ่มคนเจเนเรชั่น X (2508-2523) และ Y ตอนบน (2524-2539) มีความคล้ายกัน เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดายากว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด เป็นกลุ่ม swing voters เนื่องจากอาจจะมาจากมีความสนใจทางการเมืองน้อยกว่ากลุ่มอื่นและมีประสบการณ์ทางการ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เติบโตระหว่างที่ประเทศกำลังมีประชาธิปไตยเต็มใบ ในยุคที่การเมืองไม่มีเสถียรภาพ และปัจจัยทางการเมืองไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในช่วงเศรษฐกิจกำลังดี ซึ่งมีแนวโน้มในทางอนุรักษนิยมแต่ตอนต้น

กราฟิก

BBC

“คนกลุ่มนี้เจอกับทั้งประชาธิปไตยที่ไม่มีเสถียรภาพและไม่มีประสิทธิภาพในช่วงทศวรรษ 1990 และเคยเจอกับประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จ มีประสิทธิภาพแต่ก็เต็มไปด้วยปัญหาในช่วงสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ส่วนตอนนี้ก็ได้เห็นเผด็จการภายใต้รัฐบาลทหารและการเลือกตั้งที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ตลอด 8 ปี ทำให้ทัศนคติทางการเมืองค่อนข้างแบ่งแยกเป็นกลุ่มย่อย แต่ก็ยังมีพฤติกรรมการเลือกพรรคการเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แตกต่างจากกลุ่มเบบี้บูมเมอร์”

นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการผลิกผันในระบบเศรษฐกิจ (disruptive economy) มองว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงผู้นำไม่เพียงพอ ต้องเปลี่ยนแปลงไปจนถึงโครงสร้างทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

Getty Images
พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งท่วมท้น สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว 377 เสียงได้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ก่อนเผชิญเสียงวิจารณ์เรื่อง “เผด็จการรัฐสภา

ด้าน ดร. สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า ในระนาบกลุ่มเจเนเรชั่น Y และ X ยังมีแนวความคิดที่แบ่งออกเป็นสองฝ่ายระหว่างกลุ่มเสรีนิยมและอนุรักษนิยม แต่จะแตกต่างกันที่สัดส่วน

“ในกลุ่มคนเจเนเรชั่น Y จะมีแนวโน้มเป็นเสรีนิยมราว 70% และมีบางส่วนหรือราว 30% เป็นอนุรักษนิยม ส่วนในกลุ่มเจเนเรชั่น X มองว่าครึ่ง ๆ ระหว่างกลุ่มเสรีนิยมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม” ดร. สติธรกล่าว

  • อัลฟา, Z และกลุ่ม Y ตอนต้น

กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่ม อัลฟา, Z และกลุ่ม Y ตอนต้น โดยรวมเป็นกลุ่มที่มีเด็กจนถึงอายุ 30 ปีตอนต้น โดยทัศนคติทางการเมืองแนวโน้มไปทางเสรีนิยมมากกว่าอนุรักษนิยม แต่ในทางสังคมเป็นในทางเสรีนิยมเกือบทั้งหมด โดยกลุ่มนี้เติบโตมาท่ามกลางความวุ่นวายและความขัดแย้งทางการเมือง

“อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในช่วงที่ประเทศมีประชาธิปไตยที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู หรือช่วงประชาธิปไตยแบบไร้เสถียรภาพในอดีต แต่กลับต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมมีอำนาจมากขึ้น เป็นต้นตอของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่าง 8 ปี จึงต้องการเห็นประเทศเคลื่อนไปข้างหน้าสู่ความเป็นสังคมประชาธิปไตย” นักวิชาการหญิงจากจุฬาลงกรณ์ฯ ที่ศึกษาเกี่ยวกับความคิดเห็นทางการเมืองของวัยรุ่น อธิบาย

กราฟิก

BBC

ขณะที่ ดร.สติธร ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งอายุระหว่าง 18-25 ปี ซึ่งในจำนวนนั้นครึ่งหนึ่ง (18-22 ปี) เป็นกลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรก จะคาดเดารูปแบบการเลือกตั้งได้ยาก อย่างไรก็ตามดูเหมือนจะเน้นไปทางเสรีนิยมค่อนไปทางก้าวไกลมากกว่า

จับตาบทบาท “ติ๊กตอก” ต่อรูปแบบการสื่อสารทางการเมือง

อ.กนกรัตน์ มองว่า สังคมไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือผู้สูงวัย และทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อใหม่ ไม่เพียงแค่สื่อเก่าแบบเดิมอีกแล้ว แต่แนวโน้มของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์และไซเลนซ์น่าจะรับสื่อผ่านโทรทัศน์ หรือ หนังสือพิมพ์มากกว่า หรือหากเป็นสื่อใหม่ก็จะอยู่กับแฟลตฟอร์มที่มีความสนใจเฉพาะกลุ่ม เป็น ไลน์ และเฟซบุ๊ก ซึ่งมักเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวและเนื้อหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันตามอัลกอริธึม

ติ๊กตอก

Getty Images

ในขณะที่กลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงมากว่า ก็จะมีความทับซ้อนกับระหว่างเฟซบุ๊กและสื่ออื่น ๆ เช่น ทวิตเตอร์ หรือ ติ๊กตอก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างบทสนทนาที่หลากหลายทางความคิดมากกว่า

ในการเลือกตั้งครั้งนี้สื่อหนึ่งที่จะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมคือ “ติ๊กตอก” เนื่องจากว่าเป็นแพลตฟอร์มที่คนทุกวัยเข้าถึง ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ “สั้น ชัดเจน ตรงประเด็นและบันเทิง” จึงอาจจะเป็นเครื่องมือในการใช้ลดทอนความชอบธรรมของพรรคการเมืองได้ รวมทั้งเป็นการตอกย้ำจุดยืนทางการเมืองของตนเองให้หนักแน่นขึ้น

ปัจจุบันคนไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานติ๊กตอกสูงสุดอันดับ 8 ของโลก ด้วยจำนวนกว่า 38.38 ล้านคน คิดเป็นราว 58% หรือกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทย มีปัจจัยสนับสนุน 3 ประการคือ

  • ปัจจัยที่ 1 เนื้อหาที่เผยแพร่ในติ๊กตอกมักจะสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้รับสาร เช่น กรณี เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ ที่มีการเผยแพร่ภาพและวิดีโอการปราบปรามและความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุม ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธแค้นต่อเจ้าหน้าที่ได้เพียงคลิปไม่กี่วินาที ในขณะเดียวกันหากเกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้ง เมื่อมีพรรคใดพรรคหนึ่งปล่อยเนื้อหาที่เข้าถึงจิตใจของผู้ใช้งานก็อาจจะมีผลทางด้านอารมณ์จนเลยเส้นแบ่งหรือจุดยืนทางการเมืองได้
  • ปัจจัยที่ 2 ช่องทางตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ หากไม่เปลี่ยนแปลงวันนี้จะทำให้เกิดผลอะไรขึ้นในอนาคต ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ในการเลือกตั้งครั้งก่อนต่อชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่
  • ปัจจัยที่ 3 ช่องทางในการเน้นย้ำจุดยืนทางการเมืองของตนเอง และสื่อสารตรงจุดเพื่อให้ผู้ติดตามหรือผู้รับสื่อ ต้องเลือกและลงหลักปักฐานกับพรรคการเมืองนั้น ๆ โดยไม่ต้องเปลี่้ยนใจภายใต้การเลือกตั้งครั้งนี้

การเลือกตั้งในต่างประเทศ “ติ๊กตอก” ถือว่ามีบทบาทสำหรับในการสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มคนเจน Z และแพลตฟอร์มนี้ได้กลายเป็นสมรภูมิทางการเมืองในช่วงเลือกตั้งในหลายประเทศ

หนึ่งในนั้นคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีโคลอมเบียในรอบที่ 1 ซึ่งมีนายโรดอลโฟ เฮอร์นันเดส เป็นผู้เข้าร่วมการชิงชัยที่เต็มไปด้วยสีสันด้วยการที่เขาหาเสียงผ่านช่องทางติ๊กตอกจนประสบความสำเร็จอย่างไม่คาดคิด และเขาเรียกตัวเองว่า “ราชาติ๊กตอก” แม้ว่าเขาจะยกเลิกการเข้าร่วมการดีเบตทางทีวีก็ตาม และทำให้เขาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีโคลอมเบียรอบแรกเมื่อเดือน พ.ค. 2565 แต่ในที่สุดเขาก็พ่ายแค่คู่แข่งคนสำคัญ คือ นายกุสตาโว เปโตร ไป

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อกังวลในแง่การใช้ติ๊กตอกในแง่การเผยแพร่ข่าวลวงหรือข่าวเท็จ เช่นกัน อย่างเช่นในหลายประเทศ เช่น บีบีซี นิวส์ แอฟริกา พบว่ามีการปล่อยข่าวลวงเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดี

4 ปีแห่งความหนักหน่วงทางการเมืองสู่การตกตะกอนทางความคิด

ตลอด 4 ปีที่ผ่ามา สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ การแบ่งขั้วอย่างชัดเจนของพรรคการเมืองระหว่างฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับอีกฝั่งที่ถูกเรียกว่า “ฝ่ายอำนาจนิยม” เมื่อเทียบกับสมัยก่อนอาจจะดูคลุมเครือแต่ละพรรคอาจจะเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองไปมา จึงทำให้คนทั่วไปเชื่อว่า มีกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสองฝั่ง ผ่านสิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีพรรคการเมืองมวลชนของแต่ละฝั่ง รวมทั้งพรรคการเมืองที่แนวความคิดแบบสุดขั้วของแต่ละฝ่าย

พัฒนาการของสังคมจากการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นตัวแปรสำคัญที่ให้คนไทยส่วนใหญ่ที่เข้าถึงสื่อนี้เปลี่ยนเป็นพลเมืองที่มีบทบาทสำคัญในสังคมหรือ active citizen ผ่านการกดไลค์ กดแชร์ เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองได้

ยุบไทยรักษาชาติ พระราชโองการห้ามอุบลรัตน์เล่นการเมือง

Getty Images
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี ในจำนวนนั้นคือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค

อ.กนกรัตน์ ยังมองว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้ผ่านเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมืองอย่างหนักหน่วงและเข้มข้น (intensive) อาทิ การเลือกตั้ง การแทรกแซงการเลือกตั้งโดยสถาบันต่าง ๆ การชุมนุมของกลุ่มเยาวชน การยุบพรรคการเมือง การสลายการชุมนุม การสลับขั้วของฝ่ายอนุรักษนิยม ทำให้สังคมได้ตกผลึกทางความคิดทางการเมืองเกิดขึ้นผ่านข้อเรียกร้องที่ทะลุเพดานและขอบเขตทางการเมือง รวมทั้งการเกิดโรคระบาดอย่างโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้ประชาชนเห็นได้ชัดว่า การดำเนินนโยบายหรือไม่ดำเนินนโยบายของรัฐบาล มีผลโดยตรงต่อประชาชน

Reuters
ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แสดงเอกสารของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ในฐานะบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค ทษช. เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 แต่กลายเป็นหนึ่งในชนวนเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” ให้ยุบพรรค ทษช. ก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค. 2562 เพียง 17 วัน สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” สถาบันพระมหากษัตริย์

คนรุ่นใหม่อยากเลือกตั้งมากกว่าในปี 2562

งานวิจัยเรื่อง 2020-2021 Youth Study Thailand หรือ การสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นไทย โดยมูลนิธิ Friedrich-Ebert-Stiftung จัดทำขึ้นโดย ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.จิราภรณ์ ดำจันทร์ อาจารย์ประจำคณะสงคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งทำการสำรวจผู้มีอายุระหว่าง 14-35 ปี จำนวน 1,463 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มคน Generation X และ Z

ในแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่าง ได้ถามพวกเขาว่า หากมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันพรุ่งนี้พวกเขาจะเลือกตั้งหรือไม่ ผลการสำรวจพบว่า 85% ของผู้ทำการสำราจระบุว่า จะไปเลือกตั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ายอดผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่อยู่ที่ 74.7% ซึ่งเป็นพฤติกรรมการเลือกตั้งที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่มักไม่สนใจการเลือกตั้งเท่าที่ควร

กราฟิก idt

BBC

ข้อมูลในงานวิจัยดังกล่าว ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสำรวจเคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองเช่น การประท้วงของกลุ่มเยาวชนและกลุ่มตรงข้าม การลงนามสนับสนุนประเด็นต่าง ๆ ทางการเมือง รวมถึงการประท้วงด้วยการหยุดซื้อสินค้าด้วยเหตุผลทางการเมือง

ทั้งนี้ มีสองปัจจัยที่ทำให้กลุ่มผู้ทำแบบสอบถามหวั่นกลัวมากที่สุด คือ ความยากจนที่กำลังเพิ่มขึ้นในสังคม และโอกาสการเจริญเติบโตในการอนาคต

ขุมกำลังใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มบ้านใหญ่

รูปแบบการเลือกตั้งของไทยที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน พ.ค. นี้ มี ส.ส. พึงมีทั้งหมด 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก 100 คน

นักวิชาการทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันพระปกเกล้าเห็นตรงกันว่า “ระบบบ้านใหญ่” ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อได้มาซึ่งคะแนนและชัยชนะในการเลือกตั้ง

ดร. สติธร มองว่า ระบบบ้านใหญ่ หรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองที่มั่กได้รับเลือกให้เป็นผู้นำท้องถิ่นหลายสมัย หากสามารถรวบรวมคะแนนเสียงสนับสนุนได้ราว 30,000-35,000 คะแนนต่อเขต มีความเป็นไปได้สูงที่จะชนะ

ทว่า ในปัจจุบัน เมื่อขั้วการเมืองเปลี่ยนไป รวมทั้งพรรคที่มีแนวความคิดทางการเมืองเดียวกันแยกออกจากกัน ก็อาจจะทำให้ความเป็นบ้านใหญ่ลดขนาดลง โดยเฉพาะหลังจากกติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป บ้านใหญ่กลับมีความหมายของต่อพรรคการเมือง โดยพวกเขาต้องรักษาฐานหลักในพื้นที่ จึงทำให้บ้านใหญ่ในหลายจังหวัดแบ่งคนออกไปตามความต้องการของพรรคต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง เพื่อให้สามารถมีส่วนในการจัดสรรผลประโยชน์จากการเป็นรัฐบาลเพื่อนำผลประโยชน์มายังฐานหลักในพื้นที่

ผอ. สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาสัดส่วนคะแนนของบ้านใหญ่และเครือข่ายของแต่ละเขต น่าจะมีอยู่ราว 40% ในจำนวนนั้น 25% จะตกอยู่ในมือของกลุ่มบ้านใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่ง

ส่วนที่เหลือ 60% เป็นเสียงอิสระที่ตัดสินใจเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงบ้านใหญ่ แต่มีความหลากหลายทางความคิดค่อนข้างกระจัดกระจาย ต้องไปสู้ด้วยกระแส นโยบายพรรค และลูกเล่นทางการเมืองอื่น ๆ

“สัดส่วนที่ดูมากกว่า แต่กลับเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะคาดเดาได้ เพราะมีความกระจัดกระจายทางแนวความคิดทางการเมืองมากกว่า ในขณะที่ปัจจัยบ้านใหญ่ถือว่าได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า”

เสรีนิยม 60% vs อนุรักษนิยม 40%

จากการสังเกตการณ์ของนักวิชาการทั้งสองคน รวมทั้งแนวโน้มทัศนคติทางการเมืองแล้วผ่านการทำแบบสอบถามและโพลล์หลายสำนัก มองว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ดังนี้

  • กลุ่มที่มีแนวความคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม ราว 60%
  • กลุ่มที่มีแนวความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม ราว 40%

ดังนั้นแนวรบสำคัญน่าจะอยู่ในฝั่งแนวความคิดแบบเสรีนิยม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่นับตั้งแต่กลุ่มเจน X ลงมา

“พรรคเพื่อไทยอาจจะได้เปรียบในกลุ่มเจน X ขึ้นไป จากความเก๋าด้านประสบการณ์ ส่วนพรรคก้าวไกลได้แต้มต่อในกลุ่ม Y ลงมา สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความคิดแบบใหม่” ดร. สติธร อธิบาย

นักวิชาการรายนี้มองว่า ต่างฝ่ายต่างพยายามช่วงชิงคะแนนจากคนในช่วงวัยหลักของกันและกัน และที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นแล้วในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ที่มีผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในกลุ่มเจน X ย้ายมาลงคะแนนเสียงให้กับพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งมีเหตุการณ์หลายอย่างเช่น ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นที่คณะก้าวหน้า ซึ่งถือเป็นปีกที่ขับเคลื่อนทางความคิดคู่ขนานกับพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงสนับสนุน 17% ซึ่งใกล้เคียงกับคะแนนเสียงการเลือกทั้งทั่วไปเมื่อปี 2562

แรงดึงดูดของ “อุ๊งอิ๊ง” ยังไม่พอในเกมพรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1” (ระหว่างวันที่ 2-8 มี.ค. 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศโดยมีกลุ่มตัวอย่าง 2,000 หน่วยตัวอย่าง ก็พบตัวเลขในส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อก็อยู่ในอัตราส่วน 17% เช่นกัน

ดร. สติธร ระบุว่า หากไม่มีจุดพลิกผันทางการเมืองใด ๆ หลังจากนี้จนถึงเลือกตั้งตัวเลขดังกล่าวจะยังคงเป็นฐานคะแนนให้กับพรรคก้าวไกล ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องมาช่วงชิงให้ได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็รับทราบปัจจัยนี้มาโดยตลอด จึงใช้ “อุ๊งอิ๊ง” หรือ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้โจทย์นั้น แต่จากผลโพลล์ดังกล่าวก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก

“โมเมนตั้ม(ของอุ๊งอิ๊ง)แค่นี้ยังไม่พอในเกมของ(พรรค)เพื่อไทย หลังจากนี้จะมีอะไรเปลี่ยนไปได้หรือไม่” เขาตั้งคำถาม

ขณะที่ ดร. กนกรัตน์ มองกว่า อีกความพยายามหนึ่งในการช่วยเหลือสร้างฐานคนรุ่นใหม่ของฝ่ายผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย คือ บทบาทของนายทักษิณ ในนามโทนี วู้ดซัมในช่องทางคลับเฮาส์ ซึ่งอาจจะช่วยให้กลุ่มที่เคยเลือกจะพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่หันกลับมาเลือกพรรคเพื่อไทยได้อีกครั้ง

นักวิชาการรายนี้ยังวิเคราะห์อีกว่า นอกจากกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้ว กลุ่มเจน X ที่เดิมมีแนวความคิดไปในทางอนุรักษนิยมกลาง ๆและเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และต่อมากลับไม่พอใจผลงานที่ผ่านรวมทั้งหมดศรัทธาต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน อาจจะเปลี่ยนขั้วไปเลือกพรรคฝ่ายเสรีนิยม แต่ด้วยภาพจำที่ไม่สู้ดีในอดีตของนายทักษิณและ นส. ยิงลักษณ์ ชินวัตร จึงมีความเป็นไปได้ว่า คะแนนเสียงบางส่วนอาจจะตกไปอยู่ที่พรรคการเมืองอื่น ๆ ในฝ่ายเสรีนิยม

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้างต้นประเมินจากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้องรอการพิสูจน์อีกครั้งว่า รูปแบบและผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอาจจะชี้ให้เห็นทิศทางอีก 4 ปี ข้างหน้าได้ชัดเจน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว