โรคตับที่คร่าชีวิตเบโธเฟน ไม่ได้เกิดจากการดื่มสุราเพียงอย่างเดียว

Getty Images ลูดวิช ฟอน เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) คีตกวีชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียงก้องโลกจากศตวรรษที่ 19 เสียชีวิตลงเมื่อราว 200 ปีก่อน

ลูดวิช ฟอน เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) คีตกวีชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียงก้องโลกจากศตวรรษที่ 19 เสียชีวิตลงเมื่อราว 200 ปีก่อน ด้วยอาการที่บ่งชี้ว่าเขาป่วยเรื้อรังมานานด้วยโรคตับแข็งและได้รับพิษจากสารตะกั่ว

ทว่าผลตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่ได้จากเส้นผมของเบโธเฟน ซึ่งเหล่าญาติมิตรได้ตัดเก็บเอาไว้อย่างดีเพื่อเป็นที่ระลึกนั้น ชี้ว่าโรคตับแข็งที่คร่าชีวิตของเขาไป ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมชอบดื่มสุราเป็นอาจิณเพียงอย่างเดียว แต่การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและพันธุกรรมบางอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ ทำให้มีหลายโรครุมเร้าจนเขาต้องจบชีวิตลงในวัย 56 ปี

ดร. ทริสตัน เบ็กก์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักร เพิ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Current Biology ฉบับล่าสุด โดยบอกว่าผลวิเคราะห์ทางการแพทย์จากเส้นผมรวมทั้งข้อความในจดหมายของเบโธเฟนที่หลายทีมวิจัยได้ทำไปก่อนหน้านี้ มีความผิดพลาดอยู่หลายประการที่ไม่เป็นธรรมต่อยอดคีตกวีผู้วายชนม์

“ตอนที่เบโธเฟนยังมีชีวิตอยู่ เขาอ่อนไหวอย่างมากต่อการถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้เมา อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของเราชี้ว่าแม้เขาจะมีนิสัยดื่มจัดก็จริง แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยเดียวหรือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาเสียชีวิต” ดร. เบ็กก์กล่าว

ก่อนที่เบโธเฟนจะเสียชีวิต เขาล้มป่วยติดเตียงมานานเป็นปี โดยมีอาการดีซ่าน แขนขาและท้องบวมเป่ง รวมทั้งหายใจลำบาก งานวิจัยในอดีตบางชิ้นวิเคราะห์ว่า นอกจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้ตับแข็งแล้ว เขายังน่าจะได้รับพิษจากสารตะกั่วด้วย โดยอาจมาจากถังบรรจุไวน์ซึ่งบุด้วยตะกั่วที่นิยมกันในยุคนั้น ทำให้เกิดการปนเปื้อนในเหล้าไวน์และเข้าสู่ร่างกายนักดื่มได้

อย่างไรก็ตาม ผลตรวจดีเอ็นเอครั้งล่าสุดชี้ว่าข้อสันนิษฐานดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะเส้นผมช่อที่ตรวจพบสารตะกั่วนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่ของเบโธเฟน แต่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่บ่งชี้ว่าเป็นของหญิงเชื้อสายยิวผู้หนึ่ง ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นใครกันแน่

เบโธเฟนยังมีปัญหาเรื่องท้องเสียเรื้อรังและปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุอยู่เป็นประจำ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้สันนิษฐานว่าเขาอาจเป็นโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) แพ้น้ำตาลแล็กโตสในนม หรือเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตนเองเนื่องจากแพ้กลูเตน (coeliac disease) ก็เป็นได้

แต่ผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอของทีมดร. เบ็กก์ ไม่พบการกลายพันธุ์ของยีนที่โดดเด่นพอจะชี้ชัดลงไปได้ว่า เบโธเฟนป่วยเป็นโรคเหล่านั้น ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงอาจมาจากการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ไม่ดีพอก็เป็นได้

นอกจากนี้ ทีมวิจัยของดร.เบ็กก์ยังไม่พบหลักฐานทางพันธุกรรมที่อาจทำให้เบโธเฟนต้องสูญเสียการได้ยินไปตั้งแต่วัยหนุ่ม แต่ก็ยังไม่อาจปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่า พันธุกรรมน่าจะมีส่วนสำคัญต่อความผิดปกติของประสาทหูในกรณีนี้

อย่างไรก็ตาม พันธุกรรมของเบโธเฟนมียีนหลายตัวที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับอยู่แล้ว บวกกับการที่เขาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและอาจจะดื่มไวน์มากกว่าวันละ 1 ขวด เนื่องจากยุคนั้นขาดแคลนน้ำสะอาดที่นำมาใช้บริโภค จึงทำให้ตับของเขาเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็วและกลายเป็นตับแข็งไปในที่สุด

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว