กลั่นแกล้งออนไลน์ที่หนักถึงตายในจีน

Zheng Linghua's Weibo account เจิ้ง หลิงหัว ตกเป็นเป้าถูกกลั่นแกล้งอย่างรุนแรง

หกเดือนหลังโพสต์ภาพลงในสังคมออนไลน์จีน ในโอกาสเฉลิมฉลองสอบเข้ามหาวิทยาลัย พร้อมกับคุณตาที่นอนติดเตียง เจิ้ง หลิงหัว ก็เสียชีวิต

หญิงสาววัย 23 ปี โพสต์ภาพบนแพลตฟอร์มชื่อ “เสี่ยงหงชู” หรือ “สมุดบันทึกปกแดง” ตัวเธอนั้นไว้ผมสีชมพู ด้วยสีหน้าท่าทางตื่นเต้น ขณะประกาศให้โลกรู้ว่าเธอสอบติด เข้าเรียนสาขาดนตรีที่มหาวิทยาลัยอีสต์ไชนา นอร์มัล

“คุณตาเป็นเสาหลักสำคัญที่สนับสนุนฉันมาตั้งแต่เล็ก… คุณตาเป็นแรงผลักดันให้ฉันสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อให้คุณตาได้เห็นฉันเข้ามหาวิทยาลัย แล้วภูมิใจในตัวฉัน” เธอเขียนในโพสต์

แต่ความสุขของเธอ มีอายุแสนสั้น

โพสต์ไปได้ไม่กี่วัน เธอตกเป็นเป้ากลั่นแกล้งออนไลน์ รูปของเธอถูกนำไปแชร์ต่อ แต่เปลี่ยนข้อมูลเป็นการดูถูก และข้อมูลเท็จ ทำให้เธอถูกกระหน่ำด้วยการเหน็บแนมและวิพากษ์วิจารณ์ บางคนเรียกเธอว่า “สาวไนท์คลับ” หรือไม่ก็ “ผีร้าย”

ยังไม่แน่ชัดว่า เจิ้ง เสียชีวิตได้อย่างไร เพื่อนของเธอเป็นคนแจ้งข่าวการเสียชีวิตเมื่อเดือน ก.พ. 2022 ผ่านสังคมออนไลน์ เสี่ยงหงชู ว่า “เพราะถูกกลั่นแกล้งออนไลน์และที่โรงเรียน ทำให้ชีวิตของเจิ้ง หลิงหัว จบลง เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2023”

สิ่งที่เรียกว่า “ไซเบอร์บูลลีอิง” หรือ การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ เกิดขึ้นทั่วโลก แต่วัฒนธรรมแบบ “คติรวมหมู่” ในจีน และการที่รัฐบาลไม่ค่อยกดดันบริษัทสังคมออนไลน์จีนให้ควบคุมเนื้อหาล่วงละเมิดสิทธิออนไลน์ ส่งผลให้ปรากฏการณ์กลั่นแกล้งออนไลน์ในจีนรุนแรงอย่างมาก

“คติรวมหมู่” หมายถึง แนวคิดที่บุคคลให้ความสำคัญกับเป้าหมายของกลุ่มมากกว่าเป้าหมายของตัวเอง บุคคลจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม และประพฤติตนสอดคล้องกับบรรทัดฐานที่กลุ่มกำหนดไว้

ผลสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้สังคมออนไลน์กว่า 2,000 คนในจีน พบว่า 4 ใน 10 ผู้ตอบแบบสอบถาม เคยผ่านประสบการณ์ล่วงละเมิดในโลกออนไลน์

ผลสำรวจยังพบว่า เหยื่อถึง 16% มีความคิดฆ่าตัวตาย และเกือบครึ่งเกิดความวิตกกังวล, 42% เป็นโรคนอนไม่หลับ และ 32% กลายเป็นซึมเศร้า

ช่วงแรกนั้น เจิ้ง วางแผนจะเผชิญหน้ากับผู้คนที่กลั่นแกล้งเธอด้วยการฟ้องร้องทางกฎหมาย โดยโพสต์หนึ่งของเธอบนเว่ยป๋อ เมื่อเดือน ก.ย. 2022 เขียนว่า “เราจะฟ้องคนที่โจมตีคุณอย่างบ้าคลั่งหลังจอคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร”

ต่อมา เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า และต้องรับยารักษา ซึ่งเธอได้เปิดเผยเรื่องนี้ผ่านสังคมออนไลน์ว่า เธอต้องต่อสู้กับการนอนไม่หลับ และปัญหาการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ

เดือน พ.ย. 2022 เธอโพสต์ภาพของเธอในโรงพยาบาล พร้อมคำบรรยายว่า “กำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้าอย่างจริงจัง”

การกลั่นแกล้งออนไลน์

การเสียชีวิตของเจิ้ง เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของการเสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับการกลั่นแกล้งออนไลน์ในจีน

เมื่อเดือน ม.ค. 2022 หลิว ซั่วโจว จากเมืองชิงไห่ ฆ่าตัวตายภายหลังได้กลับไปพบกับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดอีกครั้ง แต่ความสัมพันธ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด

หลิว ซั่วโจว เป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ก่อนได้ไปเจอพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดตอนอายุ 17 ปี กลายเป็นข่าวใหญ่ในจีน และเป็นที่ถกเถียงในโลกสังคมออนไลน์ที่มีคนชื่นชม แต่หลายคนก็วิจารณ์หลิวว่า เห็นแก่ตัว โดยหลิวเขียนจดหมายลาตาย ลงรายละเอียดถึงประสบการณ์ในอดีตจากการถูกกลั่นแกล้งและโรคซึมเศร้า

หลิว ฮันโบ อาจารย์ประวัติศาสตร์ จากมณฑลเหอหนาน เสียชีวิตเมื่อเดือน พ.ย. 2022 ปีเดียวกับที่มีกลุ่มคนเข้ามารุมกลั่นแกล้งเธอในชั้นเรียนออนไลน์ต่อเนื่องหลายครั้ง กลุ่มคนเหล่านี้ทั้งด่าทอ เปิดเพลงเสียงดัง และปั่นป่วนบทสนทนากลุ่ม

ทางการจีนตัดข้อสงสัยว่าการเสียชีวิตของเธอ อาจเป็นการฆาตกรรมออกไป แต่ระบุว่า กำลังสอบสวนว่า เธอถูกกลั่นแกล้งออนไลน์หรือไม่

เมื่อเดือนที่แล้ว ซุน แฟนเบ๋า อินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์วัย 38 ปี ฆ่าตัวตาย โดยภรรยาของเขาเล่าว่า สามีถูกผู้ติดตามคนหนึ่งด่าทออย่างเสียหาย จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า หลายเดือนต่อมาเขาก็เสียชีวิต

ซุน กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในปี 2021 หลังเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางไกล 4,000 กิโลเมตร จากมณฑลซานตงไปทิเบตด้วยรถแทรกเตอร์

คติรวมหมู่ผสมการไร้ความรับผิดชอบ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในประเทศที่ยึดหลักคติรวมหมู่อย่างจีน บุคคลที่ถูกสังคมมองว่าผิดแผกไปจากค่านิยมดั้งเดิมมักถูกลงโทษ และที่เลวร้ายกว่านั้น คือ วัฒนธรรมการประจานที่แพร่หลาย

“คติรวมหมู่ที่เข้มข้นในจีน หมายถึง การกลั่นแกล้งไซเบอร์ และเมื่อผู้ถูกกระทำ เผชิญกับความรุนแรงหรือการคุกคามอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ อาจนำมาสู่การคิดสั้น ถึงขั้นฆ่าตัวตาย เพื่อหนีจากความรู้สึกอับอาย” เค โคเฮน ถัง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม หนิงโบ ไชนา กล่าว

Passengers looking at their smartphones in a subway station in China

Getty Images
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า บริษัทสังคมออนไลน์ในจีน ดำเนินการคุ้มครองผู้ใช้จากการกลั่นแกล้งออนไลน์ ไม่เพียงพอ

บีบีซีได้อ่านโพสต์และคอมเมนต์ต่าง ๆ จากกรณีของ เจิ้ง แต่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า พวกโทรลล์ หรือ พวกชอบก่อกวนออนไลน์ พุ่งเป้าไปที่เธอได้อย่างไร

มันอาจเป็นเหตุผลเล็กน้อยแค่ ผมสีชมพูของเธอที่ดูแปลกตา แต่ไปสร้างความไม่พอใจให้คนหลายคน แต่ก็มีหลายคนที่ตีความโพสต์ของเธอว่า เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์กับผู้สูงวัย ทั้งที่ในความเป็นจริง นั่นเป็นภาพคุณตาของเธอ

ดร. ถัง ระบุว่า พวกชอบกลั่นแกล้งออนไลน์ “สร้างความบอบช้ำจิตใจให้คนอื่น เพียงเพราะการกระทำหรือตัวเลือกของเหยื่อ” และ “ต่อมาก็ผสมรวมด้วยสัญชาตญาณแบบฝูง” ผลลัพธ์ คือ การทำให้ “เหยื่อรู้สึกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้”

บันทึกอู่ฮั่น

แม้ว่าการกลั่นแกล้งออนไลน์จะไม่ได้เป็นเรื่องทางการเมืองเสมอไป แต่ในมุมมองของ ฟาง กื้อเฉิง ศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง มองว่า รัฐบาลจีน “ยินยอมกับการกลั่นแกล้งไซเบอร์บางประเภท” โดยกลุ่มชาตินิยมขวาจัด

และเป้าหมายของการกลั่นแกล้งออนไลน์ที่มีนัยทางการเมืองเหล่านี้ มักจะเป็นบุคคลที่ถูกรัฐบาลมองว่า กำลังเย้ยหยันภาพลักษณ์ของจีนต่อสายตาโลก

ไมเคิล แบร์รี ผู้แปลหนังสือ “อู่ฮั่นไดอารี” ที่เล่าเรื่องราวของฟาง ฟาง ในช่วงเวลาที่เผชิญกับการล็อกดาวน์ในอู่ฮั่น บอกว่าเขาก็ตกเป็นเป้าหมายการก่อกวนออนไลน์เช่นกัน

“บางคนขู่จะฆ่าผมและครอบครัว ถ้าผมกลับมาจีน” ดร.แบร์รี กล่าวในการสัมภาษณ์กับนิตยสาร WhyNot

“หลายข้อความมีเนื้อหาข่มขู่ร้ายแรง และแสดงความเห็นที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ผู้ใช้สังคมออนไลน์บางคนสิ่งคำขู่แบบนี้มาหาผมแทบทุกวัน”

ฟาง ฟาง ผู้ประพันธ์วารสารดังกล่าว ก็เผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันในโลกออนไลน์ บางคนระบุว่า เธอมอง “ดาบยักษ์” ให้ชาวต่างชาติมาห้ำหั่นจีน

ฟาน เจียหยาง นักเขียนบทความของนิตยสารเดอะ นิว ยอร์กเกอร์ และแม่ของเธอ ถูกกลุ่มชาตินิยมจีนโจมตีอย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ พวกเขาด่าทอเธอและแม่ว่าเป็นคนทรยศ หลังเธอตีพิมพ์เรื่องราวของแม่ที่ต้องต่อสู้กับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในช่วงโควิดระบาดหนักในจีน

หลายคนเชื่อว่า สังคมออนไลน์ในจีนควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ หรือเทียบเท่าสังคมออนไลน์ในที่อื่น ๆ ของโลก

“มันยากมากที่เหยื่อจะขอความคุ้มครองทางกฎหมาย” รศ. ฟาง กล่าว “มีเพียงไม่กี่กรณีที่ผู้กระทำผิดและแพลตฟอร์มถูกลงโทษ”

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการกลั่นแกล้งออนไลน์ ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญลำดับต้น ๆ ในมุมมองของบริษัทสังคมออนไลน์จีน และรัฐบาลที่เน้นการปิดกั้นเนื้อหา เพื่อยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลของเหล่าผู้เห็นต่างหรือบทสนทนาด้านการเมืองมากกว่า

ปิดกั้นการค้นหา

มีรายงานว่า สังคมออนไลน์ในจีนต้องดำเนินการปิดกั้นคำค้นหาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการกดดันของรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะเป็นคำ อาทิ “อุรุมชี” และ “เซี่ยงไฮ้” ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดการประท้วงต้านนโยบายโควิดเมื่อไม่นานมานี้

“จีนมีอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสังเกตการณ์เนื้อหาออนไลน์ ทั้งที่ทรัพยากรเหล่านี้ ควรถูกนำไปจำกัดการกลั่นแกล้งไซเบอร์ได้ รัฐบาลไม่ควรให้อภัยวัฒนธรรมที่บ่มเพาะความเกลียดชังเช่นนี้” โจนาธาน ซัลลิแวน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและนักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม กล่าว

บางคนเริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมการศึกษาว่าด้วยความปลอดภัยออนไลน์ให้มากขึ้น

เจนิส วิตล็อค ผู้บริหารโครงการวิจัยว่าด้วยการทำร้ายตัวเองและการบำบัดของมหาวิทยาลัยคอร์เนล มองว่า โรงเรียนควรจัดหลักสูตรด้านการบริหารจัดการอารมณ์และสังคมศึกษาที่สอนให้นักเรียนรับมือกับความเห็นต่าง และตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบในโลกออนไลน์

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว