LGBT : เกย์ยูกันดาไร้ที่หลบซ่อน เพราะบ้านพักพิงเสี่ยงถูกปิด หลังสภาผ่านกฎหมายต่อต้านสุดเข้มงวด

 

Man with a hood on looking out of a window

BBC
อาลีถูกพ่อไล่ออกจากบ้านหลังจากพ่อทราบว่าเขาเป็นเกย์

เมื่อสัปดาห์ก่อนรัฐสภายูกันดาได้ผ่านร่างกฎหมายต่อต้านกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่เข้มงวดที่สุดในโลกฉบับหนึ่ง ซึ่งจุดกระแสประณามไปทั่วโลก และหากประธานาธิบดีลงนามรับรองให้บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเป็นทางการก็จะทำให้ผู้ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ต้องเผชิญโทษจำคุกตลอดชีวิต

ร่างกฎหมายนี้ยังคุกคามสถานพักพิงสำหรับชาว LGBT ที่ถูกครอบครัวไล่ออกจากบ้าน บีบีซีได้เข้าถึงบ้านพักพิงเหล่านี้ และพูดคุยกับผู้อยู่อาศัยเกี่ยวกับชีวิต ตลอดจนความวิตกกังวลของพวกเขา

Short presentational grey line

BBC

อาลี (นามสมมุติ) เก็บเรื่องรสนิยมทางเพศของเขาเป็นความลับ แต่สุดท้ายต้องถูกไล่ออกจากบ้าน หลังถูกจับกุมในเหตุการณ์ที่ตำรวจบุกทลายบาร์เกย์ใต้ดินแห่งหนึ่งในกรุงกัมปาลา เมื่อปี 2019

Advertisment

“พ่อผมบอกว่า ‘ฉันไม่อยากเห็นหน้าแกอีก แกไม่ใช่ลูกฉัน ฉันมีลูกอย่างแกไม่ได้'” อาลีเล่า

แม้จะเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง แต่ชายหนุ่มวัยประมาณ 25 ปีผู้นี้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้บีบีซีฟังอย่างใจเย็นและสุภาพ

Advertisment

“พ่อตามหาตัวผมเพื่อจะทุบตี แต่แม่บอกให้ผมไปซ่อนตัว ตอนนั้นผมไม่ได้วางแผนการอะไร แต่รู้ว่าจะต้องออกจากบ้าน”

เรื่องราวการถูกสังคมตีตราและความรุนแรงที่อาลีต้องเผชิญ คือภาพสะท้อนชีวิตของบรรดาชาว LGBT ในยูกันดา

การมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่แล้วในยูกันดา แต่ร่างกฎหมายล่าสุดมีขอบข่ายการเอาผิดต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่กว้างขึ้นไปอีก โดยกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตแก่ผู้ที่ถูกระบุว่าเป็น LGBT และโทษประหารชีวิตสำหรับ LGBT ที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

นอกจากนี้จะนำไปสู่การปิดตัวบ้านพักพิงของชาว LGBT เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวจะถือว่าการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ “เพื่อทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน” ถือเป็นความผิด และอาจถูกตีความให้เป็นสถานค้าประเวณีด้วย

Ugandan MP John Musira dressed in an anti-gay gown gesturing as he leaves the chambers during the debate of the Anti-Homosexuality bill

Reuters
จอห์น มูซิรา ส.ส. ยูกันดาสวมเสื้อพิมพ์คำขวัญต่อต้านกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในการอภิปรายที่รัฐสภา

หลังจากอาลีหนีออกจากบ้านเมื่อ 4 ปีก่อน เขาได้รับคำบอกเล่าเกี่ยวกับสถานพักพิงที่สามารถไปอาศัยได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังมีการจัดอาหาร และช่วยหางานให้แก่กลุ่มเกย์ไร้บ้าน

อาลีซึ่งตอนนั้นทำงานเป็นพนักงานร้านอาหารย้ายเข้าไปอยู่สถานพักพิงดังกล่าวได้เพียงไม่กี่เดือน ก่อนที่ยูกันดาจะประกาศล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19

อาลีเล่าว่า “ในปี 2020 ตำรวจบุกทลายบ้านพักพิง และพวกเราต้องยืนเรียงแถวให้สาธารณชนดูและล้อเลียนพวกเรา ผู้คนถ่มน้ำลายใส่พวกเรา”

ตอนนั้นอาลีและชายอีกกว่า 20 คนถูกจับกุม และถูกตั้งข้อหาละเมิดข้อบังคับโควิดเรื่องการจับกลุ่มชุมนุม จากนั้นก็ถูกส่งเข้าเรือนจำ

อาลีเล่าว่าตอนที่ไปถึงเรือนจำ นักโทษในนั้นต่างรู้เรื่องราวของพวกเขา และแม้อาลีจะพยายามปฏิเสธเรื่องเป็นเกย์เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง แต่ก็ไม่เป็นผล

“พัศดีซึ่งเห็นรายละเอียดในแฟ้มคดีพวกเราได้สั่งให้นักโทษคนอื่นทุบตีพวกเรา แล้วพัสดีก็ร่วมวงด้วย เพื่อนของผมบางคนถูกไฟลนอวัยวะเพศ…พวกเราถูกซ้อมอยู่ราว 3 ชั่วโมง” เขาเล่าพร้อมกับเปิดรอยแผลเป็นที่แขนให้ทีมข่าวบีบีซีดู

ในเวลาต่อมา ทางการได้ถอนข้อหาพวกเขา ทำให้อาลีและเพื่อนถูกปล่อยตัวในอีก 50 วันต่อมา จากนั้นเขาก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่บ้านพักพิงอีกแห่ง

ในยูกันดามีบ้านพักพิงสำหรับชาวเกย์อยู่กว่า 20 แห่ง และต้องดำเนินการอย่างลับ ๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้พักอาศัย

จอห์น เกรซ ผู้ประสานงาน Uganda Minority Shelters Consortium ซึ่งเป็นสมาคมบ้านพักพิงชนกลุ่มน้อยทางเพศในยูกันดากล่าวว่า “ตามปกติเราจะมีผู้เข้าพักราว 10-15 คน”

ชาว LGBT หลายคนมองว่าบ้านพักเหล่านี้ให้ความรู้สึกปลอดภัยและไม่แปลกแยก แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังเสี่ยงตกเป็นเป้าทำร้ายร่างกายเมื่อออกไปข้างนอก

Clothes on the floor of a bedroom

BBC
อาลีและเพื่อนเก็บข้าวของเตรียมย้ายออกจากบ้านพักพิง หลังจากเจ้าของบ้านขอให้ย้ายออกเนื่องจากเกรงความผิดจากกฎหมายฉบับใหม่

อาลีเล่าถึงเหตุการณ์ในค่ำคืนหนึ่งของเดือน พ.ย.ปีก่อน

“เด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งเริ่มเดินตามผมแล้วตะโกนว่า ‘ไอ้พวกเกย์ พวกเราจะฆ่าแก’ ผมพยายามเดินต่อไปโดยไม่ตอบโต้อะไร และหนึ่งในคนกลุ่มนั้นก็ตีหัวผมจากทางด้านหลัง”

“ตอนที่ผมฟื้นคืนสติ ผมก็อยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว ใบหน้ามีแต่รอยฟกช้ำ และมีบาดแผลขนาดใหญ่ที่ท้ายทอย” เขาเล่า

หลังจากนั้นอาลีถูกส่งตัวกลับบ้านพักพิง ซึ่งเป็นบ้านของเขามา 3 ปีแล้ว แต่เมื่อร่างกฎหมายต่อต้านกลุ่มคนรักเพศเดียวกันฉบับใหม่ผ่านรัฐสภา อนาคตของเขาก็เต็มไปด้วยความมืดมน

“หลังจากร่างกฎหมายผ่านรัฐสภา เจ้าของบ้านแจ้งให้พวกเราย้ายออก ผู้จัดการบ้านพักพิงบอกให้เราเตรียมพร้อมย้ายออกได้ทุกเมื่อที่เขาหาบ้านหลังใหม่ได้”

The back of a man's head

BBC
ทิมถูกคุกคามนับตั้งแต่มีการอภิปรายเรื่องร่างกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันในสภายูกันดา

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว จอห์น เกรซ บอกว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ยังทำให้องค์กรของเขาเสี่ยงถูกดำเนินคดี เสี่ยงเผชิญความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และตราบาปจากการจัดหาที่พักพิงให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือแม้แต่เสี่ยงจะถูกตีตราว่าเป็นชาว LGBT ด้วย

ผู้พักพิงอีกคนที่บีบีซีมีโอกาสพูดคุยด้วยคือ ทิม (นามสมมุติ) ซึ่งต้องออกจากการเรียนมหาวิทยาลัยหลังจากถูกพ่อซึ่งเป็นบาทหลวงตัดหางปล่อยวัดเมื่อทราบว่าเขาเป็นเกย์

การไร้ที่พึ่งทำให้ทิมจำใจขายบริการทางเพศหาเลี้ยงชีพ

“ผมทำงานบริการทางเพศ หลับนอนกับชายมากหน้าหลายตาเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง บางคืนผมรู้สึกขยะแขยงตัวเองจนต้องอาบน้ำชำระล้างร่างกายเป็นสิบ ๆ ครั้ง” เขาเล่า

หลังจากร่างกฎหมายต่อต้านกลุ่มคนรักเพศเดียวกันผ่านรัฐสภา ทิมเล่าว่าเขาต้องเผชิญการคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจเป็นอย่างมาก

“ผมไม่แน่ใจว่าพวกเราจะกอบกู้ศักดิ์ศรีกลับคืนมาได้ในตอนนี้ เพราะความเกลียดชังมันท่วมท้นพวกเรา” เขาบรรยาย

ยูกันดาเป็น 1 ใน 32 ชาติแอฟริกาที่กำหนดให้การมีเพศสัมพันธ์โดยสมยอมระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดนี้ถูกประณามอย่างกว้างขวางจากประชาคมโลก โดยสหรัฐฯ ขู่จะออกมาตรการคว่ำบาตรต่อยูกันดา ขณะที่สหภาพยุโรปประกาศจุดยืนต่อต้านการลงโทษประหารชีวิตในทุกกรณี

เมื่อถามอาลีถึงแผนการของเขาหากร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

“สิ่งเดียวในความคิดผมคือ ‘ผมจะไปอยู่ที่ไหน'” เขาตอบด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

“ทุกคนพูดว่าพวกเราผิดปกติ พวกเราไม่ใช่มนุษย์ แต่นี่คือตัวตนของผม ผมคิดจะกลับบ้าน แต่พ่อคงไม่มีวันยอม”

อาลีพยายามใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในห้วงเวลาที่ยากลำบากนี้

“ผมรู้ว่าพระเจ้าคือผู้สร้างผมขึ้นมา และพระองค์รู้ว่าทำไมผมถึงเป็นเกย์ ดังนั้นผมจึงสวดภาวนาต่อไป แม้ในตอนนี้ (เดือนรอมฎอน) ผมก็ยังถือศีลอด” เขาบอก

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว