

- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- “เหล้า-เบียร์” เจ๊กอั้ก ! ร่างกฎหมายใหม่ คุมเข้ม-สุดโหด
- สถิติหวย ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 1 มิ.ย. ย้อนหลัง 10 ปี
ในขณะที่อินเดียแซงหน้าจีนกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ของประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤตด้านประชากร โดยอัตราการเกิดที่ต่ำและการย้ายถิ่นฐานทำให้หลายเมืองมีสภาพไม่ต่างจากเมืองร้างที่เหลือเพียงคนสูงวัยอาศัยอยู่
สุทิก พิศวาส ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำอินเดีย ได้เดินทางไปยังเมืองกุมบานาด ในรัฐเกรละ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุสวนทางกับแนวโน้มของรัฐส่วนใหญ่ในอินเดีย
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่บรรดาโรงเรียนในเมืองอันเงียบเหงาแห่งนี้เผชิญปัญหาที่ต่างไปจากเมืองอื่น ๆ ของอินเดีย นั่นคือการขาดแคลนเด็กนักเรียน ครูหลายคนต้องใช้เงินส่วนตัวจ่ายค่าเดินทางให้เด็กไปโรงเรียน
ที่โรงเรียนประถมของรัฐอายุ 150 ปีแห่งหนึ่งในเมืองกุมบานาดมีเด็กนักเรียนอยู่ทั้งหมด 50 คน ลดจากประมาณ 700 คนในยุครุ่งเรืองช่วงปลายทศวรรษที่ 1980
เด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจนที่อาศัยอยู่ตามชายขอบเมือง ในจำนวนนี้ 7 คนศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 7 ซึ่งเป็นชั้นที่มีนักเรียนมากที่สุด ชั้นเรียนนี้เคยมีเด็กนักเรียนเพียงคนเดียวในปี 2016
การหาเด็กมาเข้าเรียนถือเป็นความท้าทายใหญ่ ในแต่ละเดือนครูที่มีอยู่ 8 คนจะต้องใช้เงินส่วนตัวประมาณ 2,800 รูปี (ราว 1,150 บาท) เป็นค่าจ้างรถตุ๊ก ๆ รับส่งเด็กมาโรงเรียน นอกจากนี้พวกเขายังต้องเดินเคาะประตูตามบ้านเพื่อหาเด็กไปเข้าโรงเรียน แม้แต่โรงเรียนเอกชนที่มีเพียงไม่กี่แห่งในเมืองก็ส่งครูออกหาเด็กมาสมัครเข้าเรียนเช่นกัน โดยโรงเรียนใหญ่สุดมีเด็กนักเรียนไม่ถึง 70 คน

“เราจะทำอะไรได้ แทบจะไม่มีเด็กในเมืองนี้เลย พูดได้ว่าแทบจะไม่มีคนอาศัยอยู่ที่นี่เลยก็ว่าได้” ชยาเทวี อาร์ ครูใหญ่โรงเรียนรัฐบาลเก่าแก่อายุ 150 ปี กล่าว
เธอพูดถูก เมืองกุมบานาดเป็นเขตที่มีประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง และคนส่วนใหญ่อยู่ในวัยชรา ทั้งที่อินเดียเป็นประเทศที่ 47% ของประชากรในชาติเป็นคนอายุต่ำกว่า 25 ปี โดย 2 ใน 3 ของประชากรเป็นผู้เกิดหลังจากอินเดียเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ 1990
อาชา ซีเจ หัวหน้าสภาหมู่บ้านระบุว่า เมืองกุมบานาดและหมู่บ้านราว 6 แห่งโดยรอบมีประชากรอาศัยอยู่ราว 25,000 คน และประมาณ 15% ของบ้าน 11,118 หลังคาเรือนถูกปิดตายเพราะเจ้าของบ้านย้ายไปที่อื่น หรือไม่ก็อาศัยอยู่กับลูกหลานในต่างแดน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนอีก 20 แห่ง แต่มีเด็กนักเรียนเพียงไม่กี่คน
โรงพยาบาลรัฐ 1 แห่ง ศูนย์วินิจฉัยทางการแพทย์กว่า 30 แห่ง และบ้านพักคนชรา 3 แห่ง ในเมืองนี้คือเครื่องบ่งชี้ถึงสังคมผู้สูงวัยที่นี่
ขณะเดียวกันก็มีธนาคารกว่า 24 แห่ง ในจำนวนนี้มี 8 สาขาตั้งอยู่ใกล้ ๆ กันในระยะทางไม่ถึงครึ่งกิโลเมตร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคึกคักของการที่คนทำงานอยู่ในเมืองใหญ่หรือต่างประเทศส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่สูงวัยในเมืองนี้ โดยราว 10% ของเงินมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่คนอินเดียในต่างแดนส่งกลับมาอินเดียเมื่อปีที่แล้วมีจุดหมายปลายทางที่รัฐเกรละ
รัฐเกรละและรัฐข้างเคียงอย่างทมิฬนาฑู มีสถิติการเกิดของประชากรที่สวนทางกับรัฐอื่น ๆ ของอินเดีย โดยการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดพบว่ารัฐเกรละมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในบรรดารัฐต่าง ๆ คือ 4.9% และเด็กแรกเกิดที่นี่มีอายุคาดเฉลี่ยประมาณ 75 ปี มากกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 69 ปี
ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ในรัฐนี้ก็อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องกันเป็นเวลาอย่างน้อย 30 ปีมาแล้ว คือผู้หญิง 1 คนให้กำเนิดเด็ก 1.7-1.9 คน
ครอบครัวขนาดเล็กมักมุ่งให้บุตรหลานได้รับการศึกษาที่ดี และนี่นำไปสู่การที่คนหนุ่มสาวย้ายออกนอกรัฐหรือนอกประเทศเพื่อหาโอกาสทางการศึกษาและการงานที่ดีกว่า แล้วทิ้งพ่อแม่ผู้ปกครองไว้ที่บ้าน
ศาสตราจารย์ เคเอส เจมส์ จากสถาบันประชากรศาสตร์ระหว่างประเทศในนครมุมไบอธิบายเรื่องนี้ว่า “การศึกษาทำให้เด็กอยากมีหน้าที่การงานและชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้พวกเขาโยกย้ายถิ่นฐาน”
“ดังนั้นบ้านเกิดของพวกเขาจึงมีแต่พ่อแม่วัยชรา ซึ่งหลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง” เขากล่าว

เบื้องหลังรั้วเหล็กสูงตระหง่านของบ้านอิฐสีแดง 2 ชั้นในเมืองกุมบานาด อันนัมมา ยาค็อบ วัย 74 ปี อาศัยอยู่ตามลำพังมาหลายสิบปีแล้ว
สามีของเธอที่เป็นวิศวกรเครื่องกลในบริษัทน้ำมันของรัฐเสียชีวิตไปตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ขณะที่ลูกชายวัย 50 ปีของเธออาศัยและทำงานในกรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากว่า 20 ปี ส่วนลูกสาวอีกคนก็อยู่ห่างออกไปหลายสิบกิโลเมตร
เพื่อนบ้านทั้งสองฝั่งของเธอต่างไม่ได้อยู่ที่นี่ โดยคนหนึ่งซึ่งมีอาชีพพยาบาลปิดบ้านแล้วพาพ่อแม่ย้ายไปอยู่ด้วยกันที่ประเทศบาห์เรน ส่วนอีกคนย้ายไปอยู่นครรัฐดูไบ แล้วปล่อยบ้านให้คู่สามีภรรยาวัยชราเช่าอยู่
นี่จึงทำให้บรรยากาศละแวกนี้เต็มไปด้วยความเงียบเหงา ท่ามกลางไร่มันสำปะหลัง ไร่กล้วย และต้นสัก บ้านขนาดใหญ่หลายหลังตั้งตระหง่านอยู่อย่างว่างเปล่า ทางเข้าบ้านเต็มไปด้วยใบไม้แห้ง รถยนต์ถูกจอดทิ้งไว้ให้ฝุ่นเกาะ และมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้สอดส่องความปลอดภัยแทนที่สุนัขเฝ้าบ้าน
“มันเป็นชีวิตที่โดดเดี่ยวมาก และฉันก็สุขภาพไม่สู้ดีนัก” นางยาค็อบบอกผู้สื่อข่าวบีบีซี
แม้จะป่วยเป็นโรคหัวใจและข้ออักเสบ แต่นางยาค็อบมักเดินทางไปเยี่ยมลูกชายและหลาน ๆ ในต่างประเทศ และไปท่องเที่ยวกับลูก ๆ ในหลายที่ เช่น จอร์แดน ดูไบ และอิสราเอล

เมื่อถามว่าเหตุใดเธอจึงสร้างบ้านขนาด 12 ห้องโดยที่อาศัยอยู่ตามลำพัง หญิงชราตอบพร้อมรอยยิ้มว่า “ใคร ๆ ก็สร้างบ้านหลังใหญ่ที่นี่ มันเป็นการบ่งบอกถึงฐานะ”
ทุกวันนี้นางยาค็อบใช้เวลาส่วนใหญ่ในสวนหลังบ้านที่เธอปลูกพืชผลนานาพรรณ ส่วนเวลาที่เหลือก็หมดไปกับการนั่งสมาธิ อ่านหนังสือพิมพ์ และเล่นกับสุนัขที่ชื่อไดอานา
“บางวัน ฉันได้แต่คุยกับเจ้าไดอานา มันเข้าใจฉันดี”
แม้อายุจะมากขึ้นทุกวันและมีสุขภาพไม่แข็งแรงนัก แต่นางยาค็อบบอกว่าเธอไม่มีเงินพอจะจ้างคนในท้องถิ่นมาช่วยทำสวน เพราะภาวะขาดแคลนแรงงานในท้องถิ่นทำให้ค่าแรงของคนงานในแถบนี้พุ่งสูง แม้แต่สภาหมู่บ้านยังไม่มีงบประมาณว่าจ้างคนทำงานกรอกข้อมูลเข้าระบบดิจิทัล
ถัดจากบ้านของนางยาค็อบไปไม่กี่ซอย ชัคโก มานเมน ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจและเบาหวานต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมงในแต่ละวันทำงานที่สวนกล้วยเล็ก ๆ ของเขา
ชายวัย 64 ปีผู้นี้เคยทำงานเป็นพนักงานขายที่ประเทศโอมานร่วม 30 ปี ก่อนที่จะกลับมาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายที่บ้านเกิด ก่อนหน้านี้เขาเคยทำธุรกิจเล็ก ๆ ที่นี่อยู่ 6 ปี แต่ต้องปิดตัวลงเพราะหาคนมาช่วยงานไม่ได้ ปัจจุบันเขาทุ่มเทเวลาไปกับการทำงานในสวนกล้วยตามลำพัง และขายผลผลิตได้วันละ 10 กิโลกรัม
“ผมไม่มีกำลังจ้างคนงาน” เขาบอก
ปัญหาขาดแคลนแรงงานในเมืองกุมบานาดส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวบ้านไม่กล้าจ้างคนนอกชุมชนเพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย
“ฉันอยู่ตัวคนเดียว จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกเขาคิดจะฆ่าฉัน” นางยาค็อบกล่าว

เมืองอันเงียบเหงาที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุแห่งนี้มีปัญหาอาชญากรรมในระดับต่ำ
ตำรวจเล่าให้บีบีซีฟังว่า ปัญหาโจรขโมยเกิดขึ้นไม่บ่อย เพราะชาวบ้านส่วนมากมักไม่เก็บทรัพย์สินหรือเงินจำนวนมากไว้ที่บ้าน ตำรวจแทบจำไม่ได้ว่าเกิดเหตุฆาตกรรมครั้งสุดท้ายเมื่อใด
ซาจีช กุมาร วี สารวัตรใหญ่ประจำสถานีตำรวจท้องถิ่นบอกว่า “ที่นี่สงบสุขมาก พวกเราได้รับแจ้งแต่คดีฉ้อโกง คนแก่ถูกญาติพี่น้องโกงเงิน หรือถูกคนงานในบ้านปลอมแปลงลายเซ็นเพื่อถอนเงินจากธนาคาร”
อัตราการเกิดอาชญากรรมที่ต่ำทำให้ตำรวจเมืองกุมบานาดใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูแลชาวเมืองผู้สูงอายุ พวกเขามักออกตรวจสอบสวัสดิภาพของคนชราที่อาศัยตามลำพังและสุขภาพไม่แข็งแรงราว 160 คน รวมทั้งแจกอุปกรณ์แจ้งเหตุร้ายแบบพกพาเพื่อให้คนเหล่านี้สามารถขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
ในปี 2020 ตำรวจต้องพังประตูบ้านหลังหนึ่ง หลังจากกดกริ่งเรียกเจ้าของบ้านแล้วหญิงชราไม่ออกมาเปิดประตู ในเวลาต่อมาตำรวจพบเธอนอนกองอยู่กับพื้น
“พวกเรานำเธอส่งโรงพยาบาล ซึ่งเธอได้รับการรักษาจนหายดี หนึ่งในงานของพวกเรายังรวมถึงการย้ายชาวบ้านไปอยู่ที่บ้านพักคนชราด้วย พวกเราจะคอยสอดส่องคนชรา แล้วพาพวกเขาไปหาหมอ” สารวัตร กุมาร วี เล่า

บาทหลวง โธมาส จอห์น ผู้ให้บริการศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ Alexander Marthoma Memorial Geriatric Centre ในเมืองกุมบานาดบอกว่า “ความแก่ชราคือปัญหาอย่างเดียวของที่นี่”
ศูนย์ดูแลคนชราแห่งนี้เป็นตึก 5 ชั้นที่มีโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง ปัจจุบันดูแลชาวบ้านกว่า 100 คน ที่มีอายุระหว่าง 85-101 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งครอบครัวจ่ายค่าบริการเดือนละ 50,000 รูปีเพื่อให้ช่วยดูแลพ่อแม่วัยชราของพวกเขา
“ลูกหลานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ต่างประเทศ และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากย้ายพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าของพวกเขาไปอยู่ที่บ้านพักคนชรา” บาทหลวง จอห์น กล่าว
ไม่ห่างออกไปมีบ้านพักคนชราอีกแห่ง ซึ่งมีผู้เข้าใช้บริการไม่ขาดสายเช่นกัน โดยเมื่อปีที่แล้วรับสมาชิกใหม่ 31 คน และมีผู้เข้าคิวใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองกุมบานาดอาจเป็นภาพสะท้อนของสังคมอินเดียในอนาคต นั่นคือประชากรสูงวัย บ้านพักคนชรา ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการย้ายถิ่นฐานของคนหนุ่มสาว ทำให้เมืองมีสภาพไม่ต่างจากเมืองร้าง
ศาสตราจารย์ เจมส์ จากสถาบันประชากรศาสตร์ระหว่างประเทศในนครมุมไบชี้ว่า “นี่คือเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ และจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วอินเดียในท้ายที่สุด”
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว