เกิดอะไรขึ้นกับผืนโลก เมื่อฝนกระหน่ำลงมาไม่หยุด 2 ล้านปี

D. BONADONNA

ปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานติดต่อกันถึง 3 ปีซ้อน ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้สภาพอากาศที่หนาวเย็นและมีฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ในแถบแปซิฟิกกลายเป็นอดีต และอาจต้องรอไปอีก 1-2 ปี กว่าที่สภาพอากาศแบบชื้นแฉะดังกล่าวจะหวนกลับคืนมาอีกครั้ง

สำหรับคนที่ชื่นชอบความเย็นชุ่มฉ่ำของสายฝนและไม่หวั่นภัยจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน พวกเขาคงจะประหลาดใจหากได้ทราบว่าโลกของเราในอดีตเมื่อราว 234 ล้านปีก่อน ได้เกิดเหตุการณ์ที่ฝนเทกระหน่ำลงมาไม่หยุดไปทั่วทุกหัวระแหง โดยพายุฝนครั้งใหญ่ระดับโลกนี้ตกติดต่อกันยาวนานถึง 2 ล้านปี

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวเรียกว่า “เหตุการณ์คาร์เนียน-พลูเวียล” (The Carnian-Pluvial Episode) หรือ “เหตุฝนตกในช่วงอายุคาร์เนียน” ซึ่งถือเป็นช่วงแทรกสั้น ๆ ในตอนปลายของยุคไทรแอสซิก (Triassic period) ที่โลกมีแต่สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งเป็นส่วนใหญ่

แผ่นดินโลกในยุคนั้นยังคงติดอยู่เป็นผืนเดียวกัน ซึ่งก็คือมหาทวีปแพนเจีย (Pangea supercontinent) นั่นเอง การที่มหาทวีปนั้นกว้างใหญ่ไพศาล สภาพภูมิประเทศก็ยังแบนราบปราศจากเทือกเขาในตอนกลาง ทำให้ลมมรสุมจากมหาสมุทรเข้าไม่ถึงแผ่นดินใหญ่ด้านใน ทั้งยังไร้แนวปะทะตามธรรมชาติที่จะทำให้ฝนตกลงมาอีกด้วย ทำให้เกิดสภาพอากาศแห้งแล้งจัดและภูมิประเทศแบบทะเลทรายขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนักธรณีวิทยาในปัจจุบันขุดดูชั้นหินเก่าแก่จากยุคไทรแอสซิก พวกเขาจะพบกับหินทรายสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งตะกอนดินที่เกิดจากพืชพรรณในบริเวณที่มีสภาพอากาศแห้งแล้งเป็นหลัก

ชั้นหินทรายยุคไทรแอสซิกที่แคว้นเวลส์ของอังกฤษ

GEOSCIENCE WALES
ชั้นหินทรายยุคไทรแอสซิกที่แคว้นเวลส์ของอังกฤษ

แต่ทว่าในช่วงทศวรรษ 1990 ทีมนักธรณีวิทยาชาวอังกฤษได้ค้นพบชั้นหินย่อยชั้นหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะไม่ตรงกับชั้นหินทรายที่เล็กละเอียดของยุคไทรแอสซิกอย่างสิ้นเชิง โดยหินสีเทาในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยหินลำธารก้อนใหญ่และดินตะกอนจากก้นแม่น้ำ ซึ่งเป็นหลักฐานของสภาพอากาศชุ่มชื้นจากฝนตกหนักจนมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นในยุคโบราณ

นักธรณีวิทยายังพบชั้นหินผ่าเหล่าที่ว่านี้ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในภูมิภาคยุโรป ทวีปอเมริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย และดินแดนที่ห่างไกลออกไปอีกหลายแห่ง ทำให้มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ร่วมกันว่า เมื่อราว 232-234 ล้านปีก่อน ทั่วโลกเคยมีเหตุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องยาวนานเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเป็น 1,400 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งจะทำให้เกิดอุทกภัยต่อเนื่องกันหลายครั้ง จนผืนดินทั้งหมดมีความชื้นแฉะเทียบได้กับป่าฝนเขตร้อนเลยทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากที่เคยแล้งจัดมาเป็นชุ่มฉ่ำน้ำฝน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในยุคไทรแอสซิก โดยพืชทะเลทรายที่ส่วนใหญ่มีลำต้นเตี้ยติดดินได้สูญพันธุ์ไป เปิดทางให้พืชที่มีลำต้นสูงใหญ่อย่างสนชนิดต่าง ๆ งอกงามขึ้น

เหตุระเบิดแรงเกเลียนอาจทำให้ทั่วโลกเกิดฝนตกหนักครั้งใหญ่

Getty Images
เหตุระเบิดแรงเกเลียนอาจทำให้ทั่วโลกเกิดฝนตกหนักครั้งใหญ่

สัตว์เลื้อยคลานในยุคไตรแอสซิก ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดลำตัวปานกลางทั้งไม่อาจยืนบนขาหลังได้ ต้องขาดอาหารจนล้มตายไป เนื่องจากสภาพอากาศทำให้ส่วนที่กินได้ของพืชพรรณขยับไปอยู่สูงขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสที่ไดโนเสาร์ตัวยักษ์จะได้แพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรขึ้นมาแทนที่ จนได้ครองโลกในยุคจูแรสซิกหรือจูราสสิก (Jurassic period) ซึ่งเป็นช่วงธรณีกาลราว 33 ล้านปีต่อมา

ส่วนสาเหตุที่ทำให้จู่ ๆ ก็มีฝนห่าใหญ่ตกลงมาพร้อมกันทั่วโลกนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ แต่มีข้อสันนิษฐานหนึ่งเชื่อว่า เหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ซึ่งเริ่มปะทุขึ้นเมื่อช่วง 1 ล้านปีก่อนฝนตกหนัก ที่เรียกว่า “การระเบิดแรงเกเลียน” (Wrangellion eruptions) ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือเขตอะแลสกาและมณฑลบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ได้ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้โลกร้อนขึ้น 3-10 องศาเซลเซียส

ภาวะโลกร้อนในยุคโบราณครั้งนี้ได้เร่งให้วัฏจักรของน้ำหมุนเวียนอย่างรวดเร็วขึ้น อุณหภูมิที่ร้อนระอุทำให้เกิดไอน้ำระเหยจากผิวมหาสมุทรได้มากขึ้น จนเกิดเป็นสภาพอากาศร้อนชื้นที่ผลักดันให้เมฆฝนเข้าถึงทุกซอกทุกมุมของมหาทวีปแพนเจีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อการปะทุของภูเขาไฟในการระเบิดแรงเกเลียนเริ่มสงบลง โลกเริ่มปรับสมดุลด้วยการดูดซับคาร์บอนส่วนเกินในบรรยากาศกลับไปเก็บสะสมในชั้นหินปูน ป่าไม้ และมหาสมุทร ทำให้ฝนที่ตกหนักมานานถึง 2 ล้านปีอย่างน่าอัศจรรย์ มีอันต้องซาลงและหยุดตกไปในที่สุด

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว