กระแสน้ำเย็นหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตของแอนตาร์กติกาใกล้ล่มสลาย

Getty Images

ในแต่ละปีน้ำเย็นปริมาณ 250 ล้านล้านตันจะจมลงสู่ก้นมหาสมุทรใต้หรือมหาสมุทรแอนตาร์กติก (Antarctic Ocean) ทำให้เกิดการหมุนเวียนแทนที่ของมวลน้ำจากเบื้องล่างที่อุ่นกว่าสู่ด้านบน ซึ่งนำพาสารอาหารที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตหลากหลายชนิดพันธุ์ขึ้นมาด้วย

แต่ปัญหาภาวะโลกร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามต่อระบบหมุนเวียนตามธรรมชาตินี้ โดยผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่าระบบหมุนเวียนน้ำแอนตาร์กติก (Antarctic overturning) กำลังเคลื่อนตัวช้าลงเรื่อย ๆ จนคาดว่าจะเหลือความเร็วเพียง 40% จากเดิม ภายใน 30 ปีข้างหน้า และระบบอาจหยุดทำงานจนถึงกับล่มสลายได้ในไม่ช้า

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับล่าสุด ชี้ว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้แผ่นน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกาละลายกลายเป็นน้ำจืดในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำเค็มที่เย็นจัดไม่จมตัวลงอย่างที่เคย ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสลมและอุณหภูมิในส่วนลึกของมหาสมุทรที่เริ่มร้อนผิดปกติ ทำให้ระบบหมุนเวียนน้ำจากก้นมหาสมุทรสู่ด้านบนชะลอความเร็วลง

ศาสตราจารย์ แมตทิว อิงแลนด์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียบอกว่า ผลการคำนวณด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์โดยใช้ข้อมูลล่าสุด ชี้ว่าหากอัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศโลกยังคงเป็นเช่นในปัจจุบัน เราจะไม่อาจหลีกเลี่ยงหายนะภัยที่ใหญ่หลวงได้

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากระบบหมุนเวียนน้ำแอนตาร์กติกช่วยหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในมหาสมุทร โดยนำพาสารอาหารและออกซิเจนให้กระจายออกไปอย่างทั่วถึง ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันกระแสน้ำในมหาสมุทรอื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วโลกด้วย

เพนกวินเข้าแถว

Getty Images

ศ. อิงแลนด์อธิบายเพิ่มเติมว่า “หากมหาสมุทรมีปอด ระบบหมุนเวียนน้ำแอนตาร์กติกนี้ก็ถือได้ว่าเป็นอวัยวะที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตในทะเลลึกได้หายใจ แต่อย่างไรก็ตาม หากระบบหมุนเวียนน้ำนี้ทำงานช้าลงหรือหยุดลงอย่างสิ้นเชิง น้ำอุ่นจากทางตอนเหนือจะไหลเข้ามาแทนที่ และจะยิ่งทำให้แผ่นน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกาละลายตัวหนักขึ้นไปอีก”

ความผิดปกติของระบบหมุนเวียนน้ำแอนตาร์กติก ยังส่งผลต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำทั่วโลกด้วยแรงดันเกลือ (Global Thermohaline Circulation – GTC) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ขับเคลื่อนการไหลเวียนของกระแสน้ำสายหลักและการกระจายความร้อนในมหาสมุทร

เมื่อระบบ GTC ถูกรบกวน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายพื้นที่ทั่วโลกจะมีความรุนแรงขึ้น เพราะระบบดังกล่าวมีหน้าที่สำคัญในการปรับสมดุลภูมิอากาศ โดยทำให้พื้นที่เขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตรเย็นลงและเขตหนาวแถบยุโรปเหนืออบอุ่นขึ้น แต่ในอนาคตอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ระบบควบคุมสมดุลตามธรรมชาตินี้อาจใช้งานไม่ได้อีกต่อไป

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว