ดร.วิคตอเรีย เบตแมน มีงานหลักเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของโลก
อีกด้านเธอยังเป็นคนหัวขบถ และมักออกมาต่อต้านนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ด้วยการเปลือยกายประท้วง
“ผู้คนที่เห็นฉันเปลือยกายมักพูดว่า ‘เธอเป็นคนเขลา, เธอเป็นคนหน้าโง่ และเธอคือคนบ้า’ ฉันอยากยืนหยัดต่อคำพูดเหล่านี้ แล้วพูดว่า ‘ไม่ใช่ ฉันเป็นคนที่มีความคิด'” ดร.เบตแมน เล่า
แต่การประท้วงด้วยการเปลือยกายเป็นประเด็นที่สังคมถกเถียงถึงความเหมาะสมมายาวนาน
ดร.เบตแมน เล่าให้บีบีซีฟังถึงประสบการณ์ที่เธอได้พบเกี่ยวกับทัศนคติเชิงลบของสังคมที่มีต่อการเปลือยกายของผู้หญิง
หนึ่งในนั้นคือกรณีที่แอมะซอน เว็บไซต์ขายของออนไลน์ยักษ์ใหญ่ได้แบนการโฆษณาหนังสือเล่มใหม่ของเธอ เพราะมองว่ามีภาพปกที่ “สื่อในเชิงเพศ” มากเกินไป
ดร.เบตแมน บอกว่า แอมะซอนได้ยกเลิกการตัดสินใจดังกล่าว หลังจากมีการประท้วงทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งในทัศนคติของเธอมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำในสิ่งที่พวกเธอต้องการทำกับร่างกายของตัวเอง
จากการปฏิวัติทางเพศสู่การเซ็นเซอร์
ภาพดังกล่าวเป็นปกหนังสือชื่อ Naked Feminism – Breaking the Cult of Female Modesty ซึ่งไม่ได้เผยให้เห็น ดร.เบตแมน เปลือยกายแบบเต็มตัว เป็นเพียงภาพลำตัวและหน้าอกบางส่วนของเธอ
“ฉันไม่คิดว่าการเปลือยกายของฉันจะทำให้สิ่งที่ฉันพูดมีค่าน้อยลง” เธอกล่าว
“ประวัติศาสตร์สอนเราว่าการปะทุขึ้นของแนวคิดเสรีนิยมทุกครั้งมักตามด้วยการกวาดล้าง…และในยุคปัจจุบัน การปฏิวิติทางเพศได้นำไปสู่วัฒนธรรมแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และการเซ็นเซอร์”
การต่อสู้เพื่อการเปลือยกาย
การเปลือยกายในที่สาธารณะไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอังกฤษและเวลส์ แต่จะถือเป็นความผิดต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลเปลื้องผ้าด้วยเจตนาสร้างความไม่สบายใจและความตกใจให้แก่ผู้อื่น ซึ่งผู้แจ้งความมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อกล่าวหานี้
ดร.เบตแมน ยืนกรานว่าการประท้วงด้วยการเปลือยกายของเธอไม่ใช่การกระทำที่ก้าวร้าวหรือรุกรานผู้อื่น
“เป้าหมายของฉันไม่ใช่การสร้างความวุ่นวาย แต่เป็นการเรียกร้องความสนใจในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการมีผู้หญิงไม่เพียงพอในแวดวงเศรษฐศาสตร์, ผลกระทบจากเบร็กซิทต่อผู้หญิง หรือการริดรอนเสรีภาพในร่างกายของสตรี”
นอกจากเจตนาในการกระตุ้นให้สังคมครุ่นคิดเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างเสื้อผ้ากับความเคารพต่อสิทธิของสตรีแล้ว อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ยังชี้ว่า การเปลือยกายประท้วงคือวิธีที่ช่วยให้ผู้คนบรรลุเป้าหมายในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วย
ยกตัวอย่างเรื่องนี้เช่น การที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ใช้การเปลือยกายเพื่อต่อต้านการสวมเครื่องแต่งกายขนสัตว์ ขณะที่องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมจัดการเปลือยกายประท้วงเพื่อหยุดยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม การเปลือยกายเพื่อประท้วงประเด็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
จากชนชั้นแรงงานสู่ชนชั้นหัวกะทิ
ดร.เบตแมน เล่าว่าเธอเกิดมาในครอบครัวชนชั้นแรงงานทางภาคเหนือของอังกฤษ
เธอได้รับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล จากนั้นก็ได้รับคัดเลือกให้ศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนที่จะเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แล้วได้งานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ผู้นี้เล่าว่า สมัยเด็กเธอมักสวมเสื้อผ้าที่ดูเรียบร้อย แต่เมื่อเข้าช่วงวัยรุ่น เธอก็หันไปสวมกระโปรงสั้น เสื้อรัดรูป และรองเท้าส้นสูงเหมือนเด็กสาวทั่วไป
เธอเชื่อว่าความสำเร็จด้านการศึกษาช่วยยกระดับเธอจากชนชั้นแรงงานไปสู่ชนชั้นกลาง ซึ่งมักดูถูกเด็กสาวที่แต่งตัวโป๊แบบเธอสมัยวัยรุ่น
ทัศนคติดังกล่าวสร้างปัญหาให้ ดร.เบตแมน ซึ่งเล่าว่าในช่วงที่เริ่มทำอาชีพทางวิชาการแรก ๆ เธอต้องคอยรักษาภาพลักษณ์ที่เรียบร้อยเพื่อรักษาความเคารพนับถือในฐานะนักวิชาการ
“ทำไมฉันต้องยอมให้ตัวเองถูกบงการจากทัศนคติที่ผู้ชายบางคนมีต่อฉันด้วย มันยังมีเรื่องสำคัญอย่างอื่นอีกมากที่ฉันต้องสนใจ” เธอกล่าว
ความเรียบร้อยกัดกร่อนเสรีภาพ
ดร.เบตแมน มีอุดมการณ์สนับสนุนการตัดสินใจใช้การเปลือยกายเป็นเครื่องมือต่อสู้กับสิ่งที่เธอไม่เห็นด้วยในสังคม
“ค่านิยมเรื่องความเรียบร้อยคือสิ่งที่ทำร้ายผู้หญิง สิ่งนี้ยังทำให้ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิงด้วย เพราะทันทีที่คุณตีคุณค่าของผู้หญิงจากความเรียบร้อยของเธอ มันได้ให้อำนาจคุณในการตัดสินคุณค่าของเธอ ไม่เคารพเธอ และปฏิบัติต่อผู้หญิงที่ถูกมองว่าไม่เรียบร้อยราวกับวัตถุทางเพศ เพราะคุณไม่เคารพเธอเหมือนผู้หญิงเรียบร้อยคนอื่น ๆ”
ดร.เบตแมน ชี้ว่าทัศนคติเช่นนี้เปิดทางไปสู่การกดขี่ผู้หญิงในแบบต่าง ๆ
“มันส่งเสริมนโยบายและการปฏิบัติที่ทำลายเสรีภาพของผู้หญิงทั่วโลก ตั้งแต่การตัดสิทธิผู้หญิงจากการศึกษาในอัฟกานิสถาน ไปจนถึงการบังคับสวมฮิญาบในอิหร่าน รวมทั้งการตรวจพรหมจรรย์, การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติยศของครอบครัว และการปล่อยคลิปโป๊เพื่อแก้แค้น”
นางแบบนู้ด
เมื่อ 10 ปีก่อน ดร.เบตแมน ตัดสินใจใช้สถานะ “อภิสิทธิ์ชน” ของเธอต่อสู้กับทัศนคติดังกล่าว ด้วยการเริ่มเป็นนางแบบภาพเปลือยให้แก่เหล่าจิตรกรหญิง และเมื่อเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น เธอก็ขยับไปเป็นนางแบบให้ศิลปินผู้ชาย
หลังจากนั้นไม่นาน ผลงานศิลปะที่เธอเป็นแบบให้ก็ถูกนำออกแสดงต่อสาธารณชน
“ฉันเห็นได้จากการที่พวกเขาผงะออกจากภาพเปลือยของฉันในห้องแสดงงานศิลปะ ผู้คนต่างประหลาดใจที่รู้ว่าหญิงเปลือยในภาพวาดคือนักวิชาการ”
จากนั้น ดร.เบตแมน ก็เริ่มมีความมั่นใจที่จะเปลื้องผ้าเพื่อสื่อถึงประเด็นทางการเมือง รวมทั้งการเปลือยกายประท้วงในที่สาธารณะ
ในปี 2018 เธอต้องการสื่อถึงปัญหาการมีผู้หญิงไม่เพียงพอในแวดวงเศรษฐศาสตร์ด้วยการเปลือยกายเข้าร่วมการประชุมนักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร
ในตอนนั้นเธอเขียนคำว่า RESPECT (ความเคารพนับถือ) ไว้บนเรือนร่างอันเปลือยเปล่า เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุม และทำให้เธอได้มีโอกาสพูดคุยประเด็นดังกล่าวกับบรรดาแขกผู้ทรงเกียรติในงานหลายคน
ปฏิกิริยาต่อต้าน
ในช่วงเบร็กซิทที่คนในสหราชอาณาจักรมีความเห็นแตกออกเป็นสองขั้วว่าจะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปหรือจะถอนตัวออกมา ดร.เบตแมน ก็จัดการเปลือยกายประท้วงในที่สาธารณะ
ในตอนนั้นมีคนถ่ายภาพของเธอแล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้มีผู้คนแสดงความคิดเห็นเชิงตำหนิติเตียนมากมาย ชายบางคนแสดงความเห็นหยาบคายเกี่ยวกับหน้าอก และขนที่อวัยวะเพศของเธอ ขณะที่อีกคนบอกว่าเธอประสบความสำเร็จทางวิชาการมาได้ด้วยการหลับนอนกับบรรดาอาจารย์ของเธอ
เหตุการณ์นั้นทำให้ ดร.เบตแมน ได้รับคำเตือนว่า การประท้วงด้วยการเปลือยกายอาจทำลายอาชีพในแวดวงวิชาการของเธอ
“แต่คำตำหนิที่ร้ายกาจและรุนแรงส่วนใหญ่มาจากผู้หญิง มีผู้หญิงอังกฤษในโซเชียลมีเดียหลายคนที่บอกว่าฉันทำให้ขบวนการสตรีนิยมถอยหลังไปอีกร้อยปี”
ในหนังสือเล่มใหม่ของเธอ Naked Feminism – Breaking the Cult of Female Modesty ดร.เบตแมน ได้พยายามอธิบายการกระทำและเจตนาของเธอต่อบรรดาผู้ไม่เห็นด้วยทั้งหลาย
“ฉันต้องการอธิบายว่าผู้หญิงทุกคนสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีคุณค่าด้วยความเคารพ โดยไม่คำนึงถึงความเรียบร้อยทางกาย”
เสรีภาพ
ดร.เบตแมน เชื่อว่าชีวิตของผู้หญิงมากมายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ถ้าสังคมหยุดตัดสินพวกเธอจากการสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้น หรือสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด
เธอชี้ว่านี่คือทัศนคติที่สื่อถึงความหยิ่งยโส และถือดีอย่างมาก
“เรายังห่างไกลจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเรา”
ดร.เบตแมน บอกว่าเธอภาคภูมิใจในทุกโอกาสที่ได้ยืนเปลือยกายประท้วงบรรดาชายผู้ทรงอิทธิพลและนโยบายของพวกเขา นอกจากนี้เธอยังเคยกล่าวสุนทรพจน์ และร่วมกิจกรรมทางวรรณกรรมโดยไม่สวมเสื้อผ้า
อาจารย์ผู้นี้บอกว่า การเปลือยกายประท้วงไม่ได้ส่งผลกระทบต่องานสอนหนังสือของเธอ อันที่จริงมันทำให้นักศึกษาสอบถามเธอในประเด็นสตรีนิยม ผู้หญิง และเศรษฐศาสตร์มากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
“เป้าหมายของฉันคือโลกที่ผู้หญิงทุกคนมีเสรีภาพในการทำสิ่งที่ต้องการกับร่างกายรวมทั้งสมองของพวกเธอ ฉันต่อต้านการห้ามสวมฮิญาบมากพอ ๆ กับการบังคับสวมฮิญาบ สังคมและรัฐไม่ควรบงการสิ่งที่ผู้หญิงจะทำกับร่างกายของตัวเอง”
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว