จีน-ไต้หวัน : การไปเยือนสหรัฐฯ ของ ปธน. ไช่ อิง-เหวิน สำคัญอย่างไร

หลังเดินทางไปนิวยอร์ก ไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน เดินทางต่อไปพบกับเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ที่แคลิฟอร์เนียแล้ว

จังหวะเวลานี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ในสหรัฐฯ ตอนนี้ มีความรู้สึกเป็นปรปักษ์ต่อจีนรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีการแสดงออกให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างออกหน้า โดยทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันพยายามจะแข่งกันเรื่องนี้

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมปีที่แล้ว นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ถึงต้องการเดินทางไปเยือนไต้หวัน แม้จะทำให้เกิดปฏิกริยาอันโกรธเกรี้ยวจากจีน

จีนยึด “นโยบายจีนเดียว” โดยอ้างว่าเกาะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ขณะที่ไต้หวันอ้างว่าตนเป็นเอกราช เป็นประเด็นที่นำมาสู่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

เมื่อปีที่แล้ว จีนตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธเหนือเกาะไต้หวัน และออกมาข่มขู่ ประเทศในภูมิภาคนี้ถึงขั้นคาดการณ์กันจริงจังแล้วว่าจีนจะบุกรุกรานไต้หวันเมื่อไหร่

กระนั้นก็ตาม เมื่อเควิน แมคคาร์ธี ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เขาเลือกที่จะตามรอยนางเพโลซี ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์วิลเลียม สแตนตัน อดีตผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันในไต้หวัน บอกว่า นายแมคคาร์ธีอยากจะไปเยือนไต้หวันเหมือนกัน แต่นางไช่ อิง-เหวิน คิดว่ายังไม่ใช่ความคิดที่ดี

ปธน.ไช่ อาจจะยังไม่อยากให้มีการมาเยือนโดยผู้นำจากสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดอีก แต่ก็อยากให้จีนตระหนักว่าพวกเขาไม่สามารถห้ามไม่ให้มีการติดต่อกันระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในไต้หวันและพันธมิตรที่ทรงอิทธิพลที่สุดของพวกเขาในกรุงวอชิงตันดีซี

ก่อนหน้านี้ จีนออกมาเตือนว่าสหรัฐฯ กำลัง “เล่นกับไฟ” ในการเข้ามายุ่งเรื่องไต้หวัน

เวน-ตี ซุง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย บอกว่า ยุทธศาสตร์การทูตเช่นนี้สำคัญต่อไต้หวัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนสามารถแย่งประเทศพันธมิตรไต้หวันไปได้หลายประเทศ ทำให้ตอนนี้เหลือประเทศที่ยอมรับสถานะของไต้หวันแค่ 13 ประเทศ

นายซุง บอกว่า การไปเยือนต่างประเทศสอดคล้องกับความต้องการของสังคมไต้หวันที่อยากให้นานาชาติยอมรับ

“เมื่อไม่มีการยอมรับจากนานาชาติ สิ่งบ่งชี้ซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงสนับสนุนจากนานาชาติ (อย่างเช่นการไปพบกับประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา) เป็นสิ่งสำคัญต่อชาวไต้หวัน”

Former US House Speaker Nancy Pelosi and Taiwan President Tsai Ing-wen in 2022

Getty Images
ปีที่แล้ว นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ถึงต้องการเดินทางไปเยือนไต้หวัน

ตอบโต้

ขณะเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ตอบโต้ด้วยการเชิญอดีตประธานาธิบดีไต้หวัน หม่า อิงจิ่ว ไปเยือนจีน นายหม่า อิงจิ่ว เดินทางไปไหว้บรรพบุรุษ แต่นี่ก็เป็นเกมทางการเมืองด้วย นี่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐจีนเมื่อปี 1949 ที่อดีตประธานาธิบดีไต้หวันเดินทางมาจีน

นายซุงบอกว่า จีนพยายามผ่อนท่าทีต่อไต้หวันให้เบาลง พยายามเอาชนะใจชาวไต้หวันและไม่ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวไต้หวันระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024

หลังจากเดินทางไปถึงจีน นายหม่า กล่าวว่า “คนจากทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวันล้วนเป็นคนจีน”

ศ.สแตนตัน บอกว่า จีนเป็นมิตรกับหม่า อิงจิ่ว เพราะเขาเป็นตัวแทนของการยินยอมต่ออำนาจจีน

อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ของนายหม่าก็มีความสุ่มเสี่ยง เพราะผลสำรวจชี้ว่าชาวไต้หวันมากกว่า 60% มองว่าตัวเองเป็นชาวไต้หวัน ไม่ใช่ชาวจีน

กระนั้นก็ตาม ผลสำรวจชี้ว่าชาวไต้หวันมากกว่าครึ่งเชื่อว่าจะเกิดสงครามกับจีน นายหม่า หวังว่าจะทำให้ชาวไต้หวันเชื่อว่าพรรค Kuomintang (KMT) ของเขาเท่านั้นที่จะหลีกเลี่ยงสงครามได้

Ma Ying-jeou and his sisters pose at the tomb of his grandfather on April 1, 2023 in Hunan Province.

Getty Images
นายหม่า อิงจิ่ว เดินทางไปไหว้บรรพบุรุษที่จีน นี่นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐจีนเมื่อปี 1949 ที่อดีตประธานาธิบดีไต้หวันเดินทางมาจีน

สหรัฐฯ

สหรัฐฯ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลจีนในปี 1979 ในสมัยของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องตัดสัมพันธ์กับไต้หวันและปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงไทเป

หลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ รักษาสถานะนี้มาตลอด โดยยอมรับ – แต่ก็ไม่ได้สนับสนุน – ว่าจีนมีรัฐบาลแค่เพียงหนึ่งเดียว อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ก็ประกาศตนเป็นพันธมิตรไต้หวันมาตลอด โดยมีกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) โดยกฎหมายนี้บัญญัติว่า สหรัฐฯ ต้องช่วยเหลือไต้หวันในการป้องกันตัวเอง

ตอนนี้ มีความกังวลว่าสหรัฐฯ จะทำลายสถานะนี้ซึ่งรักษาความสงบบริเวณช่องแคบไต้หวันมา 40 กว่าปี

“ประธานาธิบดีโจ ไบเดน บอกสี จิ้นผิง ว่าเขาไม่ได้ใช่ไต้หวันเป็นอาวุธ ว่าเขาไม่ได้สนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวออกจากจีน” บอนนี เกลเซอร์ จากโครงการเอเชียที่สถาบันวิจัย German Marshall Fund of the United States กล่าว

อย่างไรก็ดี เธอบอกว่าการให้คำมั่นสัญญาแบบนี้ไม่น่าจะมีน้ำหนักอะไรนัก ในเมื่อยังมีการไปเยือนหรือพบปะของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และผู้นำไต้หวัน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว