นักบวชปราบผีแห่งสำนักวาติกัน ผู้กำราบผี-ปิศาจ มาแล้วกว่า 160,000 ครั้ง

Getty Images ในจุดสูงสุดของการเป็นนักบวชปราบปีศาจ หลวงพ่ออามอร์ธทำพิธีขับไล่ปิศาจ 10-15 ครั้งต่อวัน

 

ตอนเป็นเด็ก พ่อแม่ได้พา กาเบรียล อามอร์ธ เข้าร่วมพิธีมิสซาของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ในเมืองโมเดนา ของอิตาลี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโรมไปทางเหนือราว 400 กิโลเมตร แต่แทนที่เขาจะสนใจในพิธีกรรม เขากลับสนุกกับการเล่นซ่อนหาภายในโบสถ์

เขาจะเริ่มสงบ ก็ต่อเมื่อมารดาจะติดสินบนเขาด้วยขนมหวาน ในเวลานั้น แม่ของเขาไม่รู้เลยว่า เด็กซนคนนี้ จะกลายมาเป็นหนึ่งในนักบวชปราบผีที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

ด้วยชื่อเสียงเลื่องลือในการทำพิธีไล่ผีมาแล้วกว่า 160,000 ครั้ง ตอนนี้ หลวงพ่ออามอร์ธ ได้กลายมาเป็นตัวเอกของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวูด (เขายังเป็นผู้ประพันธ์หนังสือหลายเล่ม และเรื่องราวของกำลังกลายเป็นสารคดีของเน็กฟลิกซ์)

“หมอผีข้างกายโป๊ป” หรือ The Pope’s Exocist นำแสดงโดย รัสเซลล์ โครว์ และเข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วโลกในเดือน เม.ย. เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือของหลวงพ่ออามอร์ธ เพียง 2 เล่มเท่านั้น คือ An Exorcist Tells His Story และ An Exorcist: New Stories.

หลวงพ่อชาวอิตาลีผู้นี้ มรณภาพเมื่อปี 2016 ด้วยวัย 91 ปี จากโรคทางปอด

ADVERTISMENT

การแต่งตั้งที่ไม่คาดคิด

กาเบรียล อามอร์ธ เกิดวันที่ 1 พ.ค. ปี 1925 ตอนเป็นหนุ่ม เขาร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อสู้กับกองกำลังนาซี และได้รับเหรียญกล้าหาญ หลังสิ้นสุดสงครามหลายสิบปีต่อมา

เขาศึกษาจบด้านกฎหมาย และสื่อสารมวลชน ช่วงหนึ่ง เขาลงเล่นการเมืองในพรรคประชาธิปไตยคริสเตียน แต่ที่จริงนั้น เขาได้ค้นพบอาชีพทางจิตวิญญาณเป็นที่เรียบร้อย

ADVERTISMENT
Australian actor Russell Crowe in a scene from The Pope's Exorcist

Sony Pictures
งานของหลวงพ่ออามอร์ธ เป็นแรงบันดาลใจสู่ภาพยนตร์เรื่อง The Pope’s Exocist ที่รับบทแสดงนำโดย รัสเซล โครว

แม้เขาจะบวชเป็นบาทหลวงในปี 1954 หลวงพ่ออามอร์ธ กลายเป็นบาทหลวงผู้ประกอบพิธีไล่ผี หรือ เอ็กซ์ซอซิส ในอีก 32 ปีให้หลัง และตามบันทึกระบุว่า การตัดสินใจแต่งตั้งเขาเป็นหมอผี ไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ของเขาเอง

แต่เป็นพระราชาคณะ อูโก โพเล็ตติ (1914-1997) ที่เป็นผู้แต่งตั้งหลวงพ่ออามอร์ธ โดยในเวลานั้น พระราชาคณะรับใช้อุปมุขนายกแห่งกรุงโรม และมีอำนาจสั่งการให้บาทหลวงบางรูป ทำหน้าที่ขับไล่ภูติผีปิศาจได้

ในเช้าวันนั้นของปี 1986 หลวงพ่ออามอร์ธได้ไปหาพระราชาคณะโพเล็ตติ โดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า ระหว่างการสนทนา หลวงพ่อได้พูดถึงความเลื่อมใสในหลวงพ่อคันดิโอ อามันตินี (1914-1992) ซึ่งในเวลานั้น เป็นนักบวชไล่ผีแห่งสังฆมณฑลในโรม มานาน 36 ปีแล้ว

หลวงพ่ออามอร์ธ ระบุว่า เป็นพระราชาคณะโพเล็ตติ ที่ได้แต่งตั้งเขาเป็นนักบวชไล่ผี ณ เวลานั้นเลย และให้เขาคอยเป็นผู้ช่วยให้หลวงพ่ออามันตินี

สัญญาณแห่งการเข้าสิง

ไม่กี่วันต่อมา หลวงพ่ออามอร์ธ ได้เข้ารายงานตัวเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรก เริ่มจากการทำความคุ้นชินกับอุปกรณ์ทำพิธีไล่ผี รวมถึงการท่องจำข้อบังคับ 21 ข้อ สำหรับการไล่ผีในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก

การขับไล่ภูติผีปิศาจที่เข้าสิงมนุษย์ มีปรากฎอยู่ในพระคัมภีย์ฉบับพันธสัญญาเก่าและใหม่ โดยสำนักวาติกัน ได้เพิ่มเติมข้อแนะนำในการประกอบพิธีไล่ผี ครั้งล่าสุด เมื่อปี 1999

Father Amorth (right) in a picture with Father Amantini

Courtesy of Father Joao Claudio
หลวงพ่ออามอร์ธ (ขวา) ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบวชไล่ผี เพื่อช่วยเหลือนักบวชไล่ผีอีกคนคือ หลวงพ่ออามันตินี (ซ้าย)

ตามที่ หลวงพ่ออามอร์ธ อธิบายในหนังสือของเขา ไม่ใช่ทุกคนที่อ้างว่าถูกสิง จะเป็นผลจากปิศาจ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตเวช

“ดังนั้น ถ้าเขาไม่ไปหาจิตแพทย์ก่อน เราจะไม่ไล่ผีให้” อามอร์ธ เขียน

“ก่อนอื่นเลย ผมขอดูผลการวินิจฉัยก่อน”

สัญญาณหลักของการถูกสิงร่าง ตามที่นิกายคาทอลิกอธิบายไว้ คือ เมื่อบุคคลนั้นพูดในภาษาที่ตัวเองไม่เคยรู้จัก มีความรู้ถึงเหตุการณ์หรือบุคคลที่เขาไม่มีทางจะทราบได้ หรือแสดงความแข็งแกร่งทางร่างกาย ที่มากเกินกว่าที่ขนาดร่างกายของคนนั้น ๆ จะแสดงออกมาได้

หลวงพ่ออามอร์ธ ระบุว่า ในการไล่ผีครั้งหนึ่ง เขาเห็นเด็กชายวัย 11 ปี หนีหลุดออกมาจากแรงจับของชายร่างกำยำ 4 คนได้

“เด็กชายตัวเล็ก ทำชายเหล่านั้นกระเด็นเลย” เขาเล่าย้อน

แต่อาการที่แสดงถึงการถูกสิงที่ชัดเจนที่สุด คือ ความหวาดกลัวในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น สำนักวาติกันจึงแนะนำให้ทำพิธีไล่ผีภายในโบสถ์หรือศาสนสถาน ตราบใดที่อยู่ห่างจากคนหมู่มาก

ถ้าผู้ถูกสิงสู่มีอาการป่วย พิธีกรรมอาจดำเนินได้ที่บ้าน และเพื่อความปลอดภัย บุคคลที่จะถูกไล่ผีต้องนั่งติดกับเก้าอี้มีพนักและที่วางแขน แต่หากเป็นกรณีร้ายแรง ต้องพันธนาการไว้กับเตียง

16th century drawing showing Jesus Christ exorcising a woman

Getty Images
พระคัมภีร์พันธสัญญาเก่าและใหม่ ได้กล่าวถึงการไล่ภูติผีปิศาจไว้ด้วย

ระหว่างประกอบพิธี บุคคลทั่วไปก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ ด้วยการจับตัวผู้ถูกสิงสู่ หรือสวดภาวนา แต่บุคคลธรรมดาห้ามพูดคุยกับผู้ถูกสิงโดยเด็ดขาด

ส่วนผู้ประกอบพิธีไล่ผี จะต้องไม่หลงไปกับคำพูดของผู้ถูกสิง หรือถามคำถามที่ไม่จำเป็น เพราะการไล่ผีนั้น ตามหลักการแล้วไม่ใช่การสนทนา แต่เป็นการสอบปากคำ

คำถามที่จะถามไปยังผู้ถูกสิงก็มีอาทิ “เจ้าชื่ออะไร” “เจ้าอยู่เพียงลำพังหรือ” และ “เมื่อไหร่เจ้าจะออกจากร่าง” โดยการไล่ผี คือ การกดดันและบังคับให้ปิศาจในร่างเปิดเผยชื่อของมันออกมา

“สำหรับปิศาจแล้ว การบอกชื่อถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่” หลวงพ่ออามอร์ธ อธิบาย

เหนือสิ่งอื่นใด นักบวชไล่ผีจะต้องสั่งให้ปิศาจออกจากร่างของผู้ถูกสิง ภายใต้พระนามของพระเยซู

การไล่ผีครั้งแรกอันน่า “หวาดหวั่น”

หลวงพ่ออามอร์ธประกอบพิธีไล่ผีครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ปี 1987 ผู้ถูกสิงเป็นชาวไร่อายุ 25 ปี โดยหลวงพ่ออามันตินี ตัดสินใจส่งผู้ช่วยคนใหม่ไปจัดการ

พิธีไล่ผี-ปิศาจ ถูกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสังฆราชอันโตเนียนัม ในกรุงโรม เมื่อหลวงพ่ออามอร์ธเดินทางถึง เขาต้องตกใจ เพราะนอกเหนือจากบาทหลวง และผู้ถูกสิงแล้ว ยังมีบุคคลที่สาม คือ ล่ามแปลภาษาด้วย

Picture showing an Italian copy of the Catholic prayer book for exorcisms

Getty Images
ศาสนจักรโรมันคาทอลิก ระบุถึงวิธีไล่ภูติผีปิศาจอย่างชัดเจน

หลวงพ่อได้รับคำอธิบายว่า ผู้ถูกสิงพูดแต่ภาษาอังกฤษ เวลาที่แสดงอาการถูกสิงสู่ คำกล่าวดูหมิ่นศาสนาที่หลุดออกมาจากปากของชาวไร่หนุ่มผู้นี้ เป็นการใช้ภาษาและถ้อยคำตามแบบของเชกสเปียร์เลยทีเดียว

ในอีกวาระหนึ่ง นักบวชไล่ผี ได้พบกับหญิงที่มีการศึกษา ที่พรั่งพรูถ้อยคำหยาบคายและดูถูกเหยียดหยามทางเรือนกายในภาษาที่หลวงพ่ออามอร์ธไม่คุ้นชิน

“ผมต้องขอให้บาทหลวงหลายคนมาช่วยประกอบพิธี จนกว่าจะมีใครไขปริศนาว่าเป็นภาษาใดได้ ซึ่งปรากฎว่าเธอพูดภาษาแอราเมอิก (Aramaic เป็นภาษาโบราณที่เชื่อว่าพระเยซูเป็นผู้ตรัส)” เขาอธิบายในหนังสือ

หลวงพ่ออามอร์ธ บรรยายว่าการทำพิธีไล่ภูติผีปีศาจครั้งแรกของเขา ซึ่งก็คือ เด็กชายที่เชื่อว่าถูกปีศาจเข้าสิงนั้น เป็นประสบการณ์ที่ “น่าหวาดหวั่น”

ในจุดหนึ่ง ตาของเด็กชาย “หลุบเข้าไปข้างในจนตากลายเป็นสีขาว ส่วนศีรษะก็เอนไปหลังเก้าอี้” ไม่นานหลังจากนั้น อุณหภูมิในห้องก็เย็นลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ผู้ถูกสิงจะเริ่มลอยตัวขึ้น

“จากนั้น ผู้ถูกสิงนิ่งไม่ไหวติง ลอยค้างอยู่กลางอากาศนานหลายนาที”

หลวงพ่ออามอร์ธใช้เวลา 5 เดือน และทำพิธีไล่ผี 20 ครั้ง กว่าที่จะขับไล่ปิศาจครั้งแรกได้สำเร็จ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ถือว่ารวดเร็ว เพราะตามสถิติแล้ว การขับไล่ปีศาจที่นานที่สุดใช้เวลาเกือบ 30 ปี และหลวงพ่ออามอร์ธระบุว่า เคยไล่ผีสำเร็จในเวลาแค่ 10 นาทีเท่านั้น

ประสบการณ์ที่ช้ำชอก

บ่อยครั้งที่หลวงพ่ออามอร์ธ จะได้รับ “ของขวัญ” คือถูกผลักตรงนั้น ถูกต่อยตรงนี้ และถูกกัด

“ครั้งหนึ่ง ผมถูกเตะ ซึ่งดูจะไม่รุนแรงนัก แต่ทำให้ขาผมต้องเข้าเฝือกถึง 40 วัน”

A collection of objects such as toys, batteries and nails

Getty Images
หลวงพ่ออามอร์ธนำสิ่งที่เขาระบุว่า ผู้ถูกสิงคายออกมา ระหว่างการประกอบพิธีให้ดู

หลวงพ่อยอมรับว่า จำไม่ได้แล้วว่า เขาถูกถุยน้ำลายมาแล้วกี่ครั้ง และเล่าว่า ตอนที่เขาทำพิธีไล่ผีให้กับแม่ชีชาวอิตาลี ชื่อว่า กิเซลลา เขาเห็นเธอพ่นวัตถุที่เป็นเหล็ก อย่าง ตะปู สกรู และกรรไกร ออกมาด้วย

และใช่ บาทหลวง แม่ชี และคนจากศาสนาอื่น ไม่ได้มีภูมิต้านทานต่อการเข้าสิงของภูมิผีปิศาจ

“อามอร์ธ ผ่านการต่อสู้กับปิศาจ โดยที่มีรอยช้ำทั่วร่างกาย” มาร์โก โทแซตติ นักข่าวชาวอิตาลี ที่ร่วมประพันธ์หนังสือของอามอร์ธบางเล่ม กล่าว

โทแซติ กล่าวว่า เขาไม่ค่อยประทับใจกับภาพลักษณ์ของ รัสเซล โครว ที่แสดงเป็นหลวงพ่ออามอร์ธในภาพยนตร์เท่าไหร่นัก เพราะรัสเซล โครว ไว้หนวดเคราในภาพยนตร์

“หลวงพ่ออามอร์ธ มักโกนหนวดเคราอย่างสะอาดสะอ้าน แต่ก่อนจะตัดสินอะไร ขอให้ชมภาพยนตร์ก่อน”

สหภาพนักบวชไล่ผี

หลวงพ่ออามอร์ธเป็นคนมีอารมณ์ขัน เวลามีคนบอกว่า “เชื่อในพระเจ้า แต่ไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรม” เขาจะตอบเชิงเสียดสีว่า “โอ้ ใช่ ปิศาจก็ด้วย… พวกมันเชื่อในพระเจ้า แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ อันที่จริง ผมไม่เคยเจอปิศาจร้ายที่ไม่นับถือศาสนาใดเลยนะ”

ในปี 1991 กาเบรียล อามอร์ธ มีแนวคิดก่อตั้งสมาคมนักบวชไล่ผี และในฐานะนักบวชผู้ประกอบพิธีขับไล่ภูติผีปิศาจประจำสังฆมณฑลแห่งโรม เขาต้องการสื่อถึงการตัดสินใจของเขา ต่อพระราชาคณะบางองค์ ที่เขาเลือกไม่ขอเอ่ยชื่อ

Pope John Paul II (left) and Father Amorth

Getty Images
กาเบรียล อามอร์ธ (ขวา) ยืนข้าง สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 เขาอ้างว่า ได้ทำพิธีไล่ผีมาแล้วกว่า 160,000 ครั้ง

“คุณคงไม่อยากให้ผมเชื่อในเรื่องแบบนี้หรอก จริงไหม” พระราชาคณะคนดังกล่าว ระบุ

“งั้นคุณก็ควรไปอ่านหนังสือที่อาจช่วยให้คุณเชื่อนะ” หลวงพ่ออามอร์ธ ตอบกลับไป

“งั้นหรือ หนังสือไหนล่ะหลวงพ่ออามอร์ธ” พระราชาคณะ ถามกลับ

“พระวรสาร (Gospels) ไงล่ะ” พระราชาคณะ ตกใจกับคำตอบนี้

“พระวรสารบอกเราว่า พระเยซูขับไล่ปีศาจ ถ้าเช่นนั้น พระวรสารเป็นเรื่องงมงายด้วยหรือ” หลวงพ่ออามอร์ธ อธิบาย

สมาคมนักปราบผีสากล หรือ ไออีเอ ได้รับการยอมรับจากศาสนจักรคาทอลิก เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2014

“ผมขอบคุณหนัง The Exorcist”

ในช่วงไม่กี่ปีสุดท้ายของชีวิต กาเบรียล อามอร์ธ ประกอบพิธีไล่ผีเฉลี่ย 5 ครั้งต่อวัน

A scene from the 1973 movie The Exorcist

Getty Images
หลวงพ่ออามอร์ธวิจารณ์ภาพยนตร์ The Exorcist ที่ฉายในปี 1973 แต่เขาก็รู้สึก “ขอบคุณ” ภาพยนตร์เรื่องนี้

แต่ก็มีบางช่วงเวลา ที่เขาประกอบพิธี 10-15 ครั้งต่อวัน

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงบันทึกเสียงในระบบตอบรับโทรศัพท์ เพื่อกำหนดว่าจะมีช่วงที่เปิดรับจองคิวไล่ผีเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น “สายที่ต้องการจองคิวจะต้องติดต่อมาระหว่าง 18.30-19.30 น. ทุกวันจันทร์เท่านั้น และใครไม่ได้อยู่ในกรุงโรม ขอให้ไปหาผู้นำศาสนาในพื้นที่ของท่าน”

เมื่อเดือน เม.ย. 2016 หลวงพ่ออามอร์ธ ได้รับข้อความจาก วิลเลียม ฟรายด์กิน ผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง The Exocist ขออนุญาตบันทึกการทำพิธีขับไล่ผี

“ผมรู้สึกขอบคุณภาพยนตร์เรื่อง The Exorcist” หลวงพ่ออามอร์ธ ระบุ

“แม้จะดูเล่นกับอารมณ์ความรู้สึก กับภาพที่ดูเกินจริง แต่ตามหลักการแล้วถือว่าถูกต้อง และภาพยนตร์เข้าถึงผู้ชมจำนวนมาก และช่วยสนับสนุนนักบวชปราบผีในชีวิตจริง”

หลังจากได้รับการติดต่อมาไม่กี่วัน อามอร์ธอนุญาตให้บันทึกการทำพิธีไล่ผีให้ คริสตินา สถาปนิกวัย 46 ปี ในวันที่ 1 พ.ค. 2016 (4 เดือนก่อนการมรณภาพของเขา) ซึ่งฉากการทำพิธีดังกล่าว ปรากฎในสารคดีบนเน็ตฟลิกซ์ เรื่อง The Devil and Father Amorth ด้วย

Gender imbalance

หลวงพ่ออามอร์ธ เขียนว่า ผู้ถูกเข้าสิงส่วนใหญ่ เป็นสัดส่วน 9 ต่อ 10 จะเป็นผู้หญิง จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เขาก็อธิบายไม่ได้ว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่เขาสงสัยว่า ปิศาจต้องการแก้แค้นพระแม่มารี

A statue of Mother Mary inside St. Agostino church in Rome.

Getty Images
รูปปั้นพระแม่มารี

“ทำไมเจ้าถึงกลัวนัก เมื่อข้าเรียกพระแม่มารี มากกว่าเวลาเรียกถึงพระเยซูเจ้า” อามอร์ธ ถามปิศาจที่เข้าสิงคน ๆ หนึ่ง ระหว่างพิธี ซึ่งมีการกล่าวถึงอยู่ในหนังสือชื่อ Memories of an Exorcist

“นั่นเพราะข้าขายหน้า ที่ถูกกำราบโดยมนุษย์ มากกว่าพระเยซูเจ้าน่ะสิ” มันกล่าวตอบ

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว