ความโลภหรือเสียงปืน โศกนาฏกรรมเหยียบกันตาเกือบ 100 ศพในเยเมน เกิดขึ้นได้อย่างไร

Reuters ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นเกือบ 100 คนแล้ว

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุเหยียบกันตาย ระหว่างที่ฝูงชนกำลังรอรับเงินบริจาคในกรุงซานา ของเยเมน เพิ่มเป็นอย่างน้อย 85 คน บาดเจ็บอีกกว่า 300 คน ถือเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมเหยียบกันตาย ร้ายแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

เหตุสลดครั้งนี้ เกิดขึ้นในเยเมน ซึ่งถือเป็นประเทศยากจนที่สุดในคาบสมุทรอาราเบีย ในช่วงก่อนถึงวันอีดิลฟิฎรี หรือวันเฉลิมฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน

ฝูงชนหลายร้อยคน ได้แออัดกันเข้าไปในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในกรุงซานา เพื่อรับเงิน 9 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 300 บาท ก่อนที่จะเกิดความโกลาหล และฝูงชนเหยียบกันตาย

กลุ่มฮูธี ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตตอนนี้ เพิ่มเป็นอย่างน้อย 85 คน บาดเจ็บอีกกว่า 322 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้บาดเจ็บสาหัส 50 คน “ผู้หญิงและเด็กเสียชีวิตด้วยหลายคน” กลุ่มฮูธี บอกกับเอเอฟพี

กลุ่มกบฏฮูธี ปกครองกรุงซานา นับแต่ขับไล่รัฐบาลออกไปได้ในปี 2015 ในช่วงเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองนาน 8 ปีของเยเมน

ภาพจากสถานีข่าวท้องถิ่น แสดงให้เห็นผู้คนเบียดเสียดแออัด บางคนปีนก่ายขึ้นไปเพื่อพยายามออกไปจากพื้นที่ เบื้องต้น ทางการได้จับกุมผู้ที่อาจอยู่เบื้องหลังสร้างความตื่นตระหนก จนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้แล้ว

ADVERTISMENT

ความโลภ หรือเสียงปืน

ประธานคณะกรรมาธิการปฏิวัติสูงสุด โมฮาเหม็ด อาลี อัล-ฮูธี ระบุว่า “ฝูงชนแออัด” เพื่อยื้อแย่งกันรับเงินบริจาค เป็นสาเหตุของเหตุเหยียบกันตายครั้งนี้

ผู้คนเบียดเสียดกันแน่น บริเวณถนนแคบ ๆ ที่นำมาสู่ทางเข้าด้านหลังของโรงเรียนที่กำลังมีการแจกเงินบริจาค ทำให้เมื่อประตูด้านหลังของโรงเรียนเปิดออก ผู้คนจึงยื้อแย่งกันกรูเข้าไป และลงบันไดไปยังลานกว้างภายในโรงเรียน

ADVERTISMENT

แต่ผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนไม่คิดเช่นนั้น โดยผู้เห็นเหตุการณ์ 2 คนบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า นับรบกลุ่มกบฎฮูธี เป็นผู้ยิงปืนขึ้นไปบนฟ้า เพื่อพยายามควบคุมฝูงชน แต่กระสุนปืนไปถูกสายไฟฟ้าที่พาดอยู่ด้านบน ก่อให้เกิดระเบิดเสียงดัง

เสียงปืนดังขึ้น ตามด้วยเสียงระเบิด นำมาสู่เหตุเหยียบกันตาย ?

Reuters
เสียงปืนดังขึ้น ตามด้วยเสียงระเบิด นำมาสู่เหตุเหยียบกันตาย ?

เสียงระเบิดนั้น ทำให้ประชาชนแตกตื่น และนำมาสู่การเหยียบกันตาย

คนเยเมนกำลังอดอยาก

การสู้รบที่ยืดเยื้อระหว่างกลุ่มกบฏฮูธีที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน กับฝ่ายพันธมิตรที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ทำให้ชีวิตของพลเรือนชาวเยเมนหลายล้านคนไม่เพียงจะตกอยู่ท่ามกลางอันตรายจากภัยสงคราม แต่ยังทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรงด้วย จากการที่ฝ่ายพันธมิตรใช้วิธีการปิดล้อมพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏและโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง

ยูเอ็นเคยเตือนว่า สงครามที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2015 ส่งผลให้เยเมนใกล้ล่มสลายในทุกด้าน ทั้งสงครามกลางเมืองไร้แววยุติ ประชาชนขาดแคลนอาหาร เกิดโรคระบาด ส่วนชาติมหาอำนาจต่างเพิกเฉยไม่ช่วยเหลือจริงจัง

จนถึงตอนนี้ การต่อสู้ระหว่างกบฏสองฝ่าย ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 150,000 คน และนำมาสู่วิกฤตด้านมนุษยธรรมร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในโลก

ยูเอ็นประเมินว่า มีชาวเยเมนกว่า 23 ล้านคน หรือกว่า 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

บทเรียนเหยียบกันตายโลก

Reuters

Reuters

ก่อนเกิดเหตุเหยียบกันตายในเยเมนครั้งนี้ โลกได้เห็นโศกนาฏกรรมเหยียบกันตายมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งล้วนเป็นบทเรียนถึงมาตรการควบคุมฝูงชนที่ล้มเหลว

  • ต.ค. 2013 – เกิดเหตุเหยียบกันตายกลางเทศกาลทางศาสนาของชาวฮินดูในรัฐมัธยประเทศของอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 115 คน โดยเหยื่อส่วนใหญ่ถูกเบียดเสียดจนเสียชีวิต หรือจมน้ำ หลังประชาชนกว่า 20,000 คน แออัดกันขึ้นไปบนสะพาน ใกล้กับวัดที่กำลังจดเทศกาล
  • ปี 2015 – เกิดเหตุเหยียบกันตายร้ายแรงที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาราเบีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,300 คน เป็นผลมาจากผู้แสวงบุญจากทั่วโลก ที่กำลังรวมพิธีฮัจญ์ จนเกิดการเบียดเสียด
  • 2 ต.ค. 2022 – เกิดเหตุเหยียบกันตายภายในสนามกีฬา จังหวัดชวาตะวันออก ของอินโดนีเซีย หลังตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่แฟนบอล จนเกิดความโกลาหล ยื้อแย่งกันออกจากสนาม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 135 คน รวมถึงเด็กมากกว่า 40 คน
  • 29 ต.ค. 2022 – เกิดเหตุเหยียบกันตายกลางกรุงโซลของเกาหลีใต้ หลังประชาชนหลายพันคน แออัดกันบนซอยแคบ ๆ ในย่านอิแทวอน เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลวันฮัลโลวีน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว