แพลงก์ตอนติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ พบกระจายอยู่เต็มมหาสมุทรทั่วโลก

Getty Images โคพีพอด (Copepod) คือแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดมีเปลือกแข็ง พบได้ทั้งในแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็มทั่วโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติค้นพบเชื้อไวรัสชนิดใหม่จำพวกหนึ่งที่มนุษย์ไม่เคยพบเห็นมาก่อน โดยปัจจุบันมีรายงานการติดเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ในแพลงก์ตอนจำนวนมากตามมหาสมุทรต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำทะเลระดับตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง

ไวรัสกลุ่มที่เพิ่งถูกค้นพบดังกล่าว ได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “ไมรัสไวรัส” (Mirusviruses) ซึ่งมาจากคำศัพท์ภาษาละตินที่แปลว่า “แปลกประหลาด”

สาเหตุที่ทำให้มันถูกขนานนามเช่นนั้น เป็นเพราะผลการตรวจสอบดีเอ็นเอพบว่า มันเป็นลูกผสมระหว่างเชื้อไวรัสสองตระกูลที่มีพันธุกรรมห่างไกลกันมากแบบสุดขั้ว

ผลตรวจดีเอ็นเอจากเปลือกหุ้มสารพันธุกรรมของไมรัสไวรัสพบว่า มันเป็นญาติกับเชื้อไวรัสจำพวก Duplodnaviria ที่ก่อโรคเริมในคนและสัตว์ แต่ผลการตรวจดีเอ็นเอจากยีนที่พบในส่วนอื่น ๆ กลับชี้ว่า มันเป็นญาติของไวรัสยักษ์ตระกูลหนึ่งที่เรียกว่า Varidnaviria

ดร. ทอม เดลมอนต์ หนึ่งในสมาชิกของทีมผู้ค้นพบไวรัสชนิดใหม่ จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (CNRS) บอกว่าไมรัสไวรัสนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตแบบไคเมรา (chimera) หมายถึงมีองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดมาผสมปนเปกันอยู่ในร่างเดียว

รายงานการค้นพบนี้ลงตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบไมรัสไวรัสได้ หลังตรวจสอบน้ำทะเลที่เก็บมาจากมหาสมุทรทั่วโลก 35,000 ตัวอย่าง ทำให้พบข้อมูลพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วในทะเลหลากหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุกรรมแปลกประหลาดของไมรัสไวรัส ที่มีดีเอ็นเอแบบสองสายเหมือนกับสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่

ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบูม หรือการที่แพลงก์ตอนเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างรวดเร็วจนน้ำทะเลมีสีและกลิ่นผิดปกติ

Getty Images
ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบูม หรือการที่แพลงก์ตอนเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างรวดเร็วจนน้ำทะเลมีสีและกลิ่นผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการที่แพลงก์ตอนติดเชื้อไมรัสไวรัสนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากไวรัสประหลาดนี้ทำหน้าที่ควบคุมจำนวนประชากร โดยคอยทำลายเซลล์แพลงก์ตอนที่มีเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้ในแต่ละวันมีการปลดปล่อยและหมุนเวียนคาร์บอน รวมทั้งแร่ธาตุและสารอาหารต่าง ๆ เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมหาสมุทร เพื่อหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ต่อไป

ดร. เดลมอนต์ยังบอกว่า การค้นพบนี้ช่วยชี้ถึงที่มาของไวรัสโรคเริมในทางวิวัฒนาการ โดยการที่พบว่ามันเป็นญาติกับไวรัสที่ทำให้สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแพลงก์ตอนสัตว์ (zooplankton) ติดเชื้อได้ อาจให้คำอธิบายต่อเรื่องที่สงสัยกันมานานว่า เหตุใดเชื้อโรคเริมจึงติดต่อเฉพาะในคนและสัตว์เท่านั้น

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว