ทำความรู้จักลักษณะของ “ฆาตกรต่อเนื่อง” หลังสังคมผงะกับคดีวางยา “ไซยาไนด์” ฆ่าเพื่อน

Getty Images

แม้ว่าคดีสะเทือนขวัญที่กลายเป็นพาดหัวข่าวในขณะนี้อย่างคดีที่มีนางสรารัตน์ (ขอสงวนนามสกุล) หรือ แอม ผู้ต้องหาที่เกี่ยวพันการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ น.ส. ศิริพร ขันวงษ์ หรือ “ก้อย” ชาว จ. กาญจนบุรี ขณะที่ไปปล่อยปลากับเธอเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ว่าเข้าข่าย “ฆาตกรรมต่อเนื่อง” หรือไม่

ข้อหาอย่างเป็นทางการตามหมายจับออกโดยศาลอาญาคือ “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” พร้อมของกลางคือ ขวดไซยาไนด์ ทำให้ผู้ต้องหารายนี้ถูกตำรวจสอบสวนกลางจับกุมตัวมาสอบปากคำเมื่อวานนี้ (25 เม.ย.)

ความคืบหน้าล่าสุด พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เปิดเผยสื่อมวลชนว่า คดีนางสรารัตน์ อดีตภรรยาของตำรวจระดับรองผู้กำกับการในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเกี่ยวพันการเสียชีวิตของ น.ส. ศิริพร ได้พบหลักฐานเป็น “สารไซยาไนด์” อยู่ภายในบ้าน สอดคล้องกับผลการผ่าพิสูจน์ของผู้เสียชีวิตที่พบสารชนิดนี้อยู่ในร่างกาย

จากการขยายผลการสืบสวน รอง ผบ.ตร. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังมีผู้เสียชีวิตรายอื่น ๆ ด้วยรวม 9 ราย ใน 5 จังหวัด ซึ่งเดิมญาติของผู้เสียชีวิตเข้าใจว่า เสียชีวิตเอง จนกระทั่งทราบข่าวการเสียชีวิตของ น.ส. ศิริพร จึงเกิดความสงสัยและเข้าร้องเรียน ในจำนวนนั้นมีอดีตสามีของนางสรารัตน์รวมอยู่ด้วย

ยังไม่ชี้ชัดว่าเป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” รวมทั้ง สาเหตุ-แรงจูงใจ

โดยเวลาประมาณ 10.00 น. วันนี้ (26 เม.ย.) จะมีผู้เสียหายที่ถูกวางยาแต่รอดชีวิตมาได้ เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนที่สโมสรตำรวจ เชื่อว่าจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับพนักงานสอบสวน ส่วนผู้เสียหายที่รอดชีวิตเชื่อว่าเป็นเพราะได้รับปริมาณยาน้อย หรือผู้ก่อเหตุยังคำนวณปริมาณยาได้ไม่ชำนาญ อีกทั้งผู้เสียหายพบแพทย์ได้อย่างทันกาล

พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง.ผบตร.

Getty Images
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.

อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีบางรายไม่ได้ผ่าชันสูตร ทำให้เป็นอุปสรรคในการสืบสวนสอบสวนคดี แต่มี 3 ราย ที่ผ่าชันสูตรศพ ซึ่งสั่งการให้พนักงานสอบสวนไปสอบปากคำแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด แต่ยอมรับว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นคนรู้จักกับน.ส. แอม ในลักษณะเป็นเจ้าหนี้ และเป็นญาติพี่น้องหรือครอบครัวของตำรวจ จึงยังไม่ชี้ชัดว่าเป็นการฆ่าล้างหนี้หรือฆาตกรรมต่อเนื่อง

ลักษณะของ “ฆาตกรต่อเนื่อง” เป็นอย่างไร

เนื่องจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ไม่บ่อยครั้ง บีบีซีไทยจึงรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) ดังนี้

ข้อมูลจากเว็บไซต์ห้องสมุดสุขภาพจิต ของกระทรวงสาธารณสุข อธิบายลักษณะของ “ฆาตกรต่อเนื่อง” โดยอ้างคำนิยามโดยสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ FBI หมายถึง ฆาตกรที่ฆ่าคนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อสนองความต้องการหรือความพึงพอใจทางจิตใจ โดยจะมีช่วงว่างเว้นระหว่างเหยื่อแต่ละราย ซึ่งต่างจากฆาตกรรมหมู่ที่จะสังหารบุคคลหลาย ๆ คนในคราวเดียวกัน

ฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่เป็นการกระทำของบุคคลเดียว แรงจูงใจในการกระทำความผิด อาจมีได้ตั้งแต่ความโกรธ แสวงหาความตื่นเต้น ผลประโยชน์ทางการเงิน และการเรียกร้องความสนใจ วิธีการในการกระทำมักจะเป็นรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และเหยื่อมักจะมีลักษณะบางอย่างร่วมกันเช่น ลักษณะทางประชากร รูปร่างลักษณะ เพศ และเชื้อชาติ

ลักษณะที่พบได้บ่อย ๆ มีอะไรบ้าง

  1. ความผิดปกติทางจิต หรือความผิดปกติทางบุคคลิกภาพ
  2. มักมีประวัติถูกทำทารุณกรรมทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือทางเพศจากสมาชิกในครอบครัว
  3. อาจมีลักษณะของพฤติกรรมทางเพศที่เบี่ยงเบนร่วมด้วย
  4. ระดับสติปัญญาอยู่ในระดับปกติหรือต่ำกว่าปกติ
  5. บ่อยครั้งที่ฆาตกรมักถูกกลั่นแกล้งหรือแยกตัวจากสังคมในวัยเด็ก
  6. มีประวัติกระทำความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น หลอกลวง ลักขโมย ก้าวร้าวรุนแรง

สารไซยาไนด์มีฤทธิ์ต่อเหยื่ออย่างไรบ้าง

ในกรณีล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่า ผู้ต้องหารายนี้ใช้สารไซยาไนด์ในการสังหารเหยื่อ เนื่องจากออกฤทธิ์เร็ว

โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium Cyanide) มีลักษณะเป็นเกล็ดของแข็งผลึกสีขาว มีกลิ่นจาง ๆ คล้ายอัลมอนด์ สามารถละลายน้ำได้ดีและไม่มีสี

Getty Images
โพแทสเซียมไซยาไนด์มีลักษณะเป็นเกล็ดของแข็งผลึกสีขาว มีกลิ่นจาง ๆ คล้ายอัลมอนด์ สามารถละลายน้ำได้ดีและไม่มีสี

ในบทความเรื่อง “ย้อนรอยประวัติศาสตร์ การฆ่าด้วยยาพิษ” ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์บีบีซีไทยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2560 ระบุถึงบทสัมภาษณ์ของ พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมของไทยในขณะนั้นกับสำนักข่าวเอเอฟพี ระบุ “สารไซยาไนด์ ทำให้เหยื่อเสียชีวิตเร็วที่สุด และตรวจพบง่ายที่สุด โดยจะแสดงอาการไปทั่วร่างกาย” หากการชันสูตรศพของเหยื่อพบว่ามี “เลือดสีแดงสด” ก็อาจเป็นสัญญาณของการโดนพิษจากสารไซยาไนด์ได้

นอกจากนี้ สารเคมีอย่างโพแทสเซียม ไซยาไนด์ ยังทำให้เกิด “ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติรุนแรง ที่นำไปสู่การเกิดหัวใจวายได้ในเวลาอันรวดเร็ว”

สำหรับสารพิษที่ออกฤทธิ์ช้า อาจเปิดโอกาสให้ผู้ร้ายหลบหนีออกจากสถานที่ก่อเหตุได้โดยไม่ถูกตรวจพบ แต่ พญ. พรทิพย์ กล่าวเสริมว่า สารประกอบเหล่านี้เก็บรักษาหรือจับต้องได้ไม่ง่ายนัก และหลายอย่างอาจทิ้งร่องรอยตกค้าง กลิ่น หรือสี ที่ทำให้ซ่อนได้ยาก

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว