Breaking the Cycle : สารคดีตามติดพรรคอนาคตใหม่ กับฉากจบที่คนไทยไม่ควรลืม

Breaking the Cycle 'Breaking the Cycle' ภาพยนตร์สารคดีตามติดพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงพรรคถูกยุบ

‘Breaking the Cycle’ เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ตามถ่ายทำเส้นทางพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่จุดก่อเกิดของพรรค ด้วยเป้าหมายหยุดวงจรรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศ ตามติดไปจนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติตัดสินให้ยุบพรรค ภายหลังการเลือกตั้งปี 2562

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้กำกับโดย เอก-เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ และ สนุ้ก-ธนกฤต ดวงมณีพร คนทำหนังไทยหน้าใหม่ ที่คนอาจยังไม่คุ้นชื่อ แต่ทั้งคู่ผ่านการได้รับรางวัลและการยอมรับบนเส้นทางการทำหนังมาแล้วหลายเวที และเป็นผู้ทำงานเบื้องหลังอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาโดยตลอด

วันนี้ พวกเขาพร้อมแล้วที่จะนำเสนอเรื่องราวที่เขาอยากจะเล่าในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์

ADVERTISMENT

https://youtu.be/KRF5cT8XVrY

นี่เป็นหนังพีอาร์ที่พรรคจ้างหรือเปล่า?

นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากตัวอย่างหนังได้ถูกปล่อยออกมา เอก และ สนุ้ก ในฐานะผู้กำกับ ตอบด้วยเสียงหนักแน่นว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้รับการว่าจ้างจากพรรคอนาคตใหม่เพื่อทำหนังเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่เกิดจากความสนใจของทั้งคู่เองที่มีให้กับพรรคอนาคตใหม่ในช่วงการเลือกตั้งปี 2562

“เราอยากทำเอง และเราก็คิดว่าเราต้องหาเงินเอง” เอก อธิบายถึงความตั้งใจของหนังเรื่องนี้

ADVERTISMENT

“คนชอบคิดว่าการเมืองต้องมีเรื่องผลประโยชน์ เรื่องสกปรก คนมักจินตนาการไปไม่ถึงว่ามันจะมีคนทำหนังสารคดีตามนักการเมืองผุดขึ้นมา เขานึกไม่ออกว่ามันมีขึ้นมาได้ยังไง นอกจากว่า พรรคการเมืองชั่วร้ายต้องจ่ายเงินให้ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่”

“ถามว่ารับเงินมาจากพรรคหรือเปล่า ตอบได้เลยว่าไม่ได้รับครับ… มันเป็นแค่คนไทยสองคนที่เห็นพรรคอนาคตใหม่แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจดี ในฐานะคนทำหนังก็แค่เข้าไปขอถ่าย โดยที่ไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น อารมณ์ประมาณว่า ผมขอถ่ายพี่นะ ถ้าพี่ให้ผมถ่าย ผมก็ถ่าย มันเท่านี้เอง” สนุ้ก เสริมถึงประเด็นนี้

ADVERTISMENT

อาจจะต้องยอมรับว่า หนังสารคดีที่ตามถ่ายพรรคการเมืองอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย เพราะไม่เคยมีหนังประเภทนี้ออกสู่สายตาประชาชนมาก่อน แต่ในต่างประเทศมีหนังสารคดีลักษณะนี้ออกมามากมาย

ภาพยนตร์ประเภทนี้ มีชื่อเรียกว่า ‘Political Campaign Films’ คือ หนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ตามถ่ายพรรคการเมืองหรือนักการเมือง และเรียบเรียงออกมาเป็นภาพยนตร์

ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์สารดีเรื่อง Mitt (2014) ที่ติดตามการหาเสียงของนายมิตต์ รอมนีย์ ในสมัยที่ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับ บารัก โอบามา บนสนามการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2551 และ 2555 เป็นต้น ซึ่ง Breaking the Cycle ก็เป็นหนึ่งในหนังประเภทนี้

Breaking the Cycle

Breaking the Cycle
เอก-เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ (ซ้ายสุด) กำลังเก็บภาพ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล

ทุนที่สนับสนุนหนังเรื่องนี้ของ เอก และ สนุ้ก เป็นทุนสนับสนุนภาพยนตร์จากต่างประเทศทั้งหมด โดยมีขั้นตอนกระบวนการขอทุน ไม่ต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ

“เป้าหมายหาทุนเราชัดเจนมาก ว่าจะเป็นทุนต่างประเทศเท่านั้น เพราะมันไม่มีทุนในไทยที่พร้อมจะสนับสนุนสารคดีขนาดนั้น มีแหละ แต่มีน้อย จนเรารู้สึกว่าในไทยมันยาก เราเลยต้องหาทุนต่างประเทศ เหตุผลสองคือ เราอยากเป็นอิสระจากพรรคมากที่สุด เราพยายามอย่างมากด้วยที่จะทำให้เป็นแบบนั้น” สนุ้ก กล่าว

เขายังย้ำถึงความเป็นอิสระและปราศจากการแซกแทรงของพรรคในการทำหนังเรื่องนี้จากคำถามว่า “ปัจจุบันคุณธนาธรได้ดูหนังหรือยัง”

“ยังครับ ไม่ให้ดู (หัวเราะ) กระบวนการสร้างสรรค์ทั้งหมดพรรคจะไม่มีสิทธิมาตรวจสอบ ไม่มีการดู ทุกอย่างที่เราจะเล่าเราตัดสินใจได้เอง”

Breaking the Cycle

Breaking the Cycle
สนุ้ก-ธนกฤต ดวงมณีพร หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Breaking the Cycle’

ทำไมต้องพรรคอนาคตใหม่ ?

ทั้งคู่เล่าเหตุผลว่า เพราะ “พรรคอนาคตใหม่” และ “ธนาธร” เป็นตัวละครที่พวกเขารู้สึกว่าน่าสนใจ น่าตามถ่าย

เมื่อมองย้อนกลับไป ในเวลานั้น พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคเกิดใหม่มาแรงที่เฉิดฉายขึ้นมา จากพรรคอื่น ๆ แล้วลบภาพพรรคการเมืองเดิม ๆ ที่ประชาชนเคยเห็น อาทิ เช่น มี ผู้สมัคร ส.ส. ที่หลากหลาย ทั้งคนพิการ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนวัยหนุ่มสาว หรือ การพูดถึง คสช. อย่างตรงไปมาในช่วงเวลาที่ยังเป็นเรื่องอ่อนไหวทางการเมือง

เอก และ สนุ้ก ยอมรับกับบีบีซีไทยว่า ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ทางการเมืองมากนัก (ในเวลานั้น) เหตุผลการเลือกตามถ่ายพรรคอนาคตใหม่ จึงไม่ใช่บริบทเกมการเมือง แต่ใช้ “เซนส์” และความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินใจที่จะถ่ายมากกว่า

และเมื่อตัดสินใจว่าจะตามถ่ายพรรคอนาคตใหม่ กระบวนการขอเข้าไปถ่าย เพื่อติดตามพรรคจึงเกิดขึ้น ตั้งแต่ติดต่อคนในพรรค ประสานไปถึงนายธนาธร เพื่อพบเจอ และขออนุญาตติดตามถ่าย

ทั้งคู่ไม่รู้เลยว่า จะต้องตามถ่ายไปถึงเมื่อไหร่ และไม่รู้ด้วยว่าหนังจะออกมาเป็นแบบไหน แต่ธนาธรในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ตอบตกลง

การถ่ายทำ เริ่มตั้งแต่ พ.ย. 2561 จนถึงเหตุการณ์ที่พรรคถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563

Breaking the Cycle

Breaking the Cycle
เอก-เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ (ซ้าย) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (กลาง) และ สนุ้ก-ธนกฤต ดวงมณีพร (ขวา)

ในเมื่อรู้ตอนจบแล้ว หนังเรื่องนี้มีอะไรพิเศษ

เลนส์ที่มองปรากฎการณ์ ตั้งแต่ กำเนิด ถึง ยุบพรรค ในฐานะประชาชน คือ ความพิเศษที่ สนุ้ก อยากข่มเน้น ในภาพยนตร์เรื่องนี้

“มันมีหลายซีนหลายโมเม้นต์ที่ไม่ได้อยู่ในหน้าสื่อจากการตามถ่ายเขา มันมีบางโมเม้นที่คนอาจจะยังไม่เคยเห็นในสื่อ”

“นอกจากเป็นคนทำหนังแล้ว เรายังต้องสวมหมวกประชาชนไปด้วย โดยที่เราไม่สามารถเอาหมวกนี้ออกไปได้ เพราะฉะนั้น ณ ขณะที่เราไปสังเกตสิ่งที่เกิดกับพรรคอนาคตใหม่ เราเองในฐานะประชาชนมันก็รู้สึกหรือว่าเรียนรู้ไปกับเหตุการณ์นั้นไปด้วย” สนุ้ก อธิบาย พร้อมเสริมว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การทำให้คนไทย ‘ไม่ลืม'”

“การเมืองที่ผ่านมามันเป็นการเมืองที่พยายามทำให้มันหายไป และพยายามทำให้เราลืมว่ามันเคยเกิดอะไรขึ้น… ถ้าหนังเรื่องนี้จะทำอะไรกับคนดู เรารู้สึกว่ามันเป็นเครื่องบันทึก หรือเครื่องเตือนใจว่า มันเคยเกิดสิ่งนี้ขึ้นนะ แล้วก็อย่าลืมมัน”

ปรากฎการณ์ทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ในสายตาของ เอก คือการเปลี่ยนผ่านทางความคิด ที่คนรุ่นใหม่ และอนาคตที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ ควรได้ย้อนมาศึกษา

“สมมติว่าเด็กที่เกิดมาวันนี้เลย ตอนนี้ วินาทีนี้ พออีกยี่สิบปีผ่านไปเขาอยากจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในประเทศไทย หรือความขัดแย้งที่เกิดในไทยมันคืออะไร เราก็มองว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่เขาจะเปิดดู”

อีกความหวังของ เอก คืออยากให้ภาพยนตร์ ​Breaking the Cycle ยกระดับวงการภาพยนตร์ไทยให้สูงขึ้น

“เรารู้สึกว่าภาพยนตร์ (ไทย) ในตอนนี้ มันยังไม่ได้สะท้อนถึงสิ่งที่คนพบเจอมา หรือว่ามันไม่สามารถพูดไปได้ไกลเท่าที่เพดานคนดูกำลังคิดอยู่ในตอนนี้ ซึ่งมันไม่ควรเป็นอย่างนั้น”

อนาคตใหม่ เหมือนหรือต่างจาก ก้าวไกล

“เราว่าอุดมการณ์เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต่าง คือ พรรคอิงกับผู้นำองค์กรน้อยลง ซึ่งมันก็มีความพยายามสะท้อนหลักการความเป็นปัจเจกของประชาชนแต่ละกลุ่มมากขึ้น” เอก พูดถึงความรู้สึกส่วนบุคคลต่อการเปรียบเทียบพรรคในอดีต และพรรคที่เกิดขึ้นมาใหม่ ภายหลังการสั่งยุบพรรค อนค.

“ผู้เล่นเขาเยอะ มีคนนี้อยู่ตรงนั้น มีคนนั้นอยู่ตรงนี้ เราว่าตรงนี้มันเพิ่มขึ้น เหมือนกับว่าพอกลุ่มแกนนำเก่าของพรรคอนาคตใหม่หายไป มันก็จะมีคนใหม่ ๆ ผุดขึ้นมา เราว่าตรงนี้สนุกดี”

ด้าน สนุ้ก มองคล้ายกันว่า ไม่ว่าจะเป็นอนาคตใหม่ หรือก้าวไกล ก็สร้างกระแสในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่รู้สึกเอือมระอากับ “ลุง” หรือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“คนที่เกิดและเติบโตมาในช่วงเวลานี้ อย่างคนอายุ 10 กว่า ๆ เกิดมาไม่เจอใครเลยนอกจากลุงตู่ เพราะฉะนั้น เราว่าไม่แปลกที่กระแสมันจะเกิดจากพรรคนี้”

“คนรุ่นใหม่ตอนนี้สิ่งที่อยู่ในหัวเขามันก็มีแค่ลุงกับไม่ลุง”

Breaking the Cycle

Breaking the Cycle
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Breaking the Cycle’

ส่วนเรื่องของอนาคต ทั้งคู่ไม่รู้ว่าใครจะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชาชนตัดสิน

สำหรับภาพยนตร์สารคดี เรื่อง Breaking the Cycle มีแผนจะเข้าโรงในช่วงปลายปี 2566 นี้

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว