อารยธรรมต่างดาวอาจตรวจจับสัญญาณโทรศัพท์มือถือของเราได้

Getty Images

หากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาวมีอยู่จริง และกำลังเสาะแสวงหาเพื่อนร่วมกาแล็กซี สัญญาณของโทรศัพท์มือถือที่รั่วไหลจากเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมนับล้านแห่งบนโลก อาจถูกตรวจจับได้โดยอารยธรรมต่างดาวที่มีความเจริญระดับสูง ซึ่งจะทำให้พวกเขารู้ว่ามีอารยธรรมของมนุษย์อยู่บนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้

ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารรายเดือนของราชสมาคมดาราศาสตร์ (MNRAS) ระบุว่า “เอเลียน” ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งอาจมีอยู่ในระบบดาวที่ใกล้ชิดกับระบบสุริยะของเรา น่าจะตรวจจับสัญญาณวิทยุที่รั่วไหลออกจากเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมบนโลกได้นานแล้ว

ยิ่งเครือข่ายโทรคมนาคมบนโลกหนาแน่นขึ้น รวมทั้งส่งสัญญาณได้แรงมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เหมือนกับจุดคบไฟให้มนุษย์ต่างดาวสังเกตเห็นเราได้เป็นวงกว้างยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันสัญญาณจากมนุษย์อาจตรวจพบได้ทั่วทั้งกาแล็กซีทางช้างเผือก

ดร. ไมค์ กาเร็ตต์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ของสหราชอาณาจักร บอกว่า “หากตรวจดูสเปกตรัมหรือความยาวคลื่นในย่านต่าง ๆ โลกของเรานั้นสว่างไสวในช่วงคลื่นวิทยุอย่างมากผิดปกติ หากแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมบนโลกยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เราจะต้องถูกตรวจพบโดยเอเลียนผู้มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน”

ทีมผู้วิจัยใช้ข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมของแหล่งข้อมูลสาธารณะ โดยนำมาสร้างแบบจำลองเพื่อทดสอบว่าคลื่นวิทยุที่รั่วไหลจากเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมบนโลกนั้น สามารถจะไปได้ไกลแค่ไหนในห้วงจักรวาล ทั้งมีความเป็นไปได้ว่าจะถูกตรวจจับได้ยากหรือง่ายเพียงใดด้วย

GETTY IMAGES

Getty Images
เสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมบนโลก

ผลการทดสอบพบว่าสัญญาณโทรคมนาคมบางอย่าง เช่นคลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสัญญาณสื่อสารผ่านดาวเทียม สามารถจะไปถึงระบบดาวที่มีดาวฤกษ์ศูนย์กลางอยู่ใกล้กับระบบสุริยะของเราได้ อย่างเช่นดาวบาร์นาร์ด (Barnard’s star) ดาวแคระแดงที่อยู่ห่างออกไป 6 ปีแสง ซึ่งมีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่คล้ายโลกเป็นบริวารโคจรวนรอบอยู่

ดร. การ์เร็ตต์ยังบอกว่า การที่เครือข่ายสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโลกหนาแน่นขึ้นและส่งสัญญาณได้แรงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ง่ายต่อการที่เอเลียนซึ่งมีเทคโนโลยีทัดเทียมกับมนุษย์หรืออยู่ในระดับต่ำกว่าเล็กน้อย สามารถตรวจจับสัญญาณดังกล่าวได้ด้วย

“แม้นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันจะตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้โลกออกจะเงียบสงัดในช่วงคลื่นวิทยุ โดยมีการส่งสัญญาณดังกล่าวออกมาน้อยลง เพราะมีการแพร่ภาพและกระจายเสียงแบบกำลังแรงผ่านสถานีโทรทัศน์และวิทยุน้อยกว่าเดิม แต่คลื่นวิทยุจากการขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีอยู่หลายพันล้านเครื่องบนโลกนั้น ไมได้ลดน้อยถอยลงตามไปด้วย” ดร. การ์เร็ตต์กล่าว

สำหรับการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตนั้น ทีมผู้วิจัยต้องการจะตรวจสอบสัญญาณวิทยุที่รั่วไหลจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่นระบบเรดาร์ของทหาร การส่งสัญญาณแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดิจิทัล รวมทั้งสัญญาณจากเครือข่ายวายฟาย (Wi-Fi)

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว