ผู้ป่วยโคมามีคลื่นสมองเหมือนคนฟื้นคืนสติก่อนเสียชีวิต

Getty Images

ผลการทดลองตรวจจับคลื่นไฟฟ้าสมอง ในกรณีของผู้ป่วยโคมาหมดสติที่กำลังใกล้จะเสียชีวิต พบว่ามีความเคลื่อนไหวทางไฟฟ้าในสมองที่บ่งชี้ถึงการตื่นขึ้นภายใน เหมือนกับคนที่ฟื้นคืนสติรู้สึกตัวอีกครั้ง ก่อนพวกเขาจะเสียชีวิตลงในอีกไม่กี่ชั่วอึดใจต่อมา

ผลการทดลองดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร PNAS โดยทีมนักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้ป่วยโคมา 2 ใน 4 ราย ที่พวกเขาติดตามตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าในสมองขณะกำลังจะเสียชีวิตในครั้งนี้ รวมทั้งผู้ป่วยโคมาบางรายจากรายงานทางการแพทย์ที่มีเข้ามาในอดีต ล้วนมีคลื่นแกมมา (gamma waves) ปรากฏขึ้น ก่อนและหลังหัวใจหยุดเต้นเพียงไม่กี่นาที

คลื่นแกมมานั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของคลื่นไฟฟ้าในสมองที่มีความถี่สูงสุด โดยจะปรากฏขึ้นขณะที่มนุษย์มีสติสัมปชัญญะหรืออยู่ในห้วงฝัน ทำให้ทีมผู้วิจัยคาดว่า ผู้ป่วยโคมาอาจกำลังเผชิญประสบการณ์เฉียดใกล้ความตายอยู่ขณะที่คลื่นสัญญาณนี้ปรากฏขึ้น เช่นอาจมองเห็นตัวเองลอยอยู่เหนือร่างไร้ชีวิต, มองเห็นแสงสว่างในอุโมงค์, หรือย้อนเห็นภาพความทรงจำที่สำคัญ

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ทีมผู้วิจัยไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า คลื่นแกมมาเป็นสัญญาณของการเผชิญภาวะใกล้ตายจริงหรือไม่ เพราะผู้ป่วยที่เข้าร่วมการทดลองทุกคนล้วนเสียชีวิตไปในที่สุด จึงไม่มีโอกาสได้กลับมาบอกเล่าประสบการณ์ ซึ่งตนเองพบเห็นมาในช่วงเวลาของความเป็นความตายดังกล่าว

คนไข้มีสายเชื่อมตรวจคลื่นสมอง

Getty Images
นักวิทยาศาสตร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวของคลื่นไฟฟ้าสมอง (ภาพจากแฟ้มภาพ ไม่ใช่ผู้ป่วยจากการทดลองในข่าว)

ดร. จิโม บอร์จิกิน ผู้นำทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมิชิแกนบอกว่า การทดลองล่าสุดของพวกเขาถือเป็นครั้งแรกที่มีการติดตามความเคลื่อนไหวในสมองของคนที่กำลังจะตาย ชนิดวินาทีต่อวินาที

Advertisment

เมื่อปี 2013 ดร. บอร์จิกินและคณะได้ตรวจสอบหนูทดลองที่ถูกการุณยฆาตด้วยวิธีทำให้หัวใจวาย และได้พบว่าหลังหัวใจหนูหยุดเต้นไป 30 วินาที สมองจะมีความเคลื่อนไหวของคลื่นแกมมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ส่วนในปี 2022 คณะแพทย์อีกกลุ่มหนึ่งรายงานว่า พวกเขาบังเอิญได้บันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองของผู้ป่วยโคมาเพศชายวัย 87 ปีเอาไว้ ขณะที่เขาเสียชีวิตลงอย่างไม่คาดฝัน ซึ่งผลปรากฏว่าพบความเคลื่อนไหวของคลื่นแกมมาเพิ่มมากขึ้น ทั้งก่อนและหลังหัวใจหยุดเต้น 30 วินาทีเช่นกัน

Advertisment

ในการทดลองครั้งล่าสุดของดร. บอร์จิกิน พวกเขาได้รับอนุญาตให้ติดตามความเคลื่อนไหวของคลื่นไฟฟ้าสมอง ในผู้ป่วยโคมา 4 ราย ที่แพทย์และญาติตัดสินใจยุติการรักษาและกำลังจะถอดอุปกรณ์ช่วยหายใจออก

ผลปรากฏว่าพบคลื่นแกมมาเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นในผู้ป่วย 2 ราย หลังหัวใจหยุดเต้นไป 30 วินาที – 2 นาที ในบริเวณที่สมองส่วนกลีบขมับบรรจบกับสมองกลีบข้างตรงหลังใบหู ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทราบกันดีว่าเกี่ยวข้องกับความฝันและประสบการณ์เหนือธรรมชาติ เช่นการเห็นวิญญาณออกจากร่าง

GETTY IMAGES

Getty Images

งานวิจัยนี้ถือเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่จะช่วยไขความกระจ่าง เกี่ยวกับกลไกที่ควบคุมกระบวนการขณะเสียชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งบ่งบอกถึงพื้นที่ของสมองและชนิดของคลื่นไฟฟ้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายอย่างเช่น ดร. แดเนียล คอนด์ซีลลา จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ซึ่งไม่ได้ร่วมอยู่ในทีมวิจัยของดร. บอร์จิกิน แสดงความเห็นในเชิงกล่าวเตือนว่า “ปรากฏการณ์ที่คลื่นแกมมาเกิดขึ้นในสมองนั้น ไม่ได้มีแค่ตอนเผชิญภาวะเฉียดใกล้ความตายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นในตอนที่คนเราเจอประสบการณ์เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต เช่นขณะประสบอุบัติเหตุ หรือในตอนที่กึ่งหลับกึ่งตื่นจนสมองผสมผสานภาวะมีสติกับความฝันเข้าด้วยกัน”

ในอนาคตทีมของดร. บอร์จิกิน ต้องการจะถอดรหัสคลื่นไฟฟ้าสมองของคนใกล้ตายที่พวกเขาค้นพบในครั้งนี้ โดยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาช่วย เนื่องจากในปัจจุบันเอไอสามารถอ่านใจมนุษย์ โดยแปลความเคลื่อนไหวทางไฟฟ้าในสมองออกมาเป็นข้อความหรือภาพของสิ่งที่คนผู้นั้นกำลังคิดหรือฝันถึงอยู่ได้อย่างแม่นยำ

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว