เลือกตั้ง 2566 : เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น ?

BBC

วันเลือกตั้งทั่วไปครั้งสำคัญของประเทศไทย จะปิดหีบเริ่มนับคะแนนตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป ในการเลือกตั้งครั้งก่อนปี 2562 มีการพูดถึง “การโกงเลือกตั้ง” อย่างแพร่หลาย บีบีซีไทยจึงขอนำบทความนี้มาให้อ่านอีกครั้งว่า เราจะจับสัญญาณที่อาจบ่งบอกว่ามีการโกงเลือกตั้งได้อย่างไรบ้าง

เอลิซาเบธ บลันท์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีและผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งหลายครั้งในทวีปแอฟริกา รวบรวม 6 สัญญาณที่อาจบ่งบอกได้ว่ามีการโกงการเลือกตั้ง

จำนวนผู้ใช้สิทธิมากเกินไป

ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกที่ดีตัวหนึ่ง เพราะในการเลือกตั้งที่โปร่งใส คุณไม่มีทางที่จะได้เห็นผู้มีสิทธิลงคะแนนมาใช้สิทธิ 98% หรือ 99%

บลันท์ ยกตัวอย่างการเลือกตั้งในประเทศกาบอง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องไปเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ได้มีการคุมเข้มขนาดนั้น แม้กระทั่งในออสเตรเลียที่ประชาชนอาจถูกปรับหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งทำได้ทั้งทางไปรษณีย์หรือผ่านเว็บไซต์ แต่ถึงอย่างนั้นจำนวนผู้มาใช้สิทธิสูงสุดก็อยู่แค่ 90-95%

An official of the Independent National Electoral Commission counts ballot boxes collected at its headquarters after the Nigerian legislative elections in the Niger Delta, 3 May 2003

Getty Images
การโกงการเลือกตั้งอาจรวมไปถึงการนำบัตรปลอมไปใส่หีบเลือกตั้ง หรือการประกาศผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

สาเหตุหลักที่จำนวนผู้ไปใช้สิทธิไม่มีทางที่จะครบ 100% ก็เพราะมีความเป็นไปได้ยากมากที่บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเป็นปัจจุบัน 100% เพราะถึงแม้ไม่มีใครเจ็บป่วยหรือต้องเดินทางในช่วงเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีคนเสียชีวิตทุกวัน และเมื่อมีการอัพเดทรายชื่อผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายใหม่ต่างก็กระตือรือร้นที่จะเพิ่มรายชื่อตัวเองเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ

ในทางตรงกันข้าม ไม่มีใครกระตือรือร้นมากพอที่จะถอดรายชื่อผู้เสียชีวิตออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และยิ่งเวลาผ่านไป จำนวนผู้ที่ไม่มีตัวตนเหล่านั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

A Nigerian woman casts her vote in a 2003 election in the Niger Delta

Getty Images
ชาวบ้านในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ของไนจีเรีย ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในปี 2546 และเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง

บลันท์เคยรายงานข่าวเลือกตั้งในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ของไนจีเรีย ซึ่งพบว่าสถานที่บางแห่งมีผู้มาใช้สิทธิกว่า 120%

“คนแถวนี้มีสุขภาพดีมาก และมีความเป็นพลเมืองสูง” เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นบอก

แต่การออกมาของผู้ใช้สิทธิเกิน 100% ในพื้นที่หนึ่งหรือหน่วยเลือกตั้งหนึ่งถือเป็นสัญญาณอันตราย และเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ


จำนวนผู้ใช้สิทธิมากในบางพื้นที่

แม้ว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิจะอยู่ในเกณฑ์ที่พอจะเป็นไปได้ แต่หากจำนวนดังกล่าวแตกต่างจากที่อื่น ๆ อย่างสุดโต่ง ก็ถือว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้เช่นกัน

จะมีเหตุผลอะไรที่ทำให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง มีจำนวนผู้ใช้สิทธิถึง 90% ในขณะที่พื้นที่อื่นมีผู้ใช้สิทธิไม่ถึง 70%

จะต้องมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะหากจำนวนผู้ใช้สิทธิที่มากนั้น อยู่ในพื้นที่ที่สนับสนุนผู้สมัครคนในคนหนึ่งหรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง


มีบัตรเสียเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้มีวิธีอื่นที่ดูโจ่งแจ้งน้อยกว่า ซึ่งฝ่ายที่โกงการเลือกตั้งสามารถทำเพื่อเพิ่มหรือลดคะแนนเสียงได้

An official raises a used ballot paper while counting votes during an election in the Democratic Republic of Congo, 29 October 2006

Getty Images
เจ้าหน้าที่อาจใช้ดุลยพินิจในการประกาศบัตรเสียโดยอ้างความผิดพลาดที่เล็กน้อยมาก

เรื่องของบัตรเสียก็ต้องจับตาเพราะโดยปกติแล้วจำนวนบัตรเสียจะไม่เกิน 5% แม้กระทั่งในประเทศที่มีจำนวนผู้อ่านออก เขียนได้ต่ำ

การที่มีบัตรเสียเป็นจำนวนมากอาจหมายความว่าเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจในการประกาศบัตรเสียโดยอ้างความผิดพลาดที่เล็กน้อยมากเพื่อที่จะลดคะแนนคู่แข่งขัน แม้ผู้ลงคะแนนมีเจตนาชัดเจนว่าจะเลือกใคร


จำนวนผู้ใช้สิทธิมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้ง

เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ก่อนที่จะเปิดหีบเลือกตั้งนั้นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง จะต้องดำเนินขั้นตอนที่ ซับซ้อนพอสมควรซึ่งเป็นกระบวนการในการพิสูจน์จำนวนบัตรเลือกตั้ง

โดยหลังเสร็จสิ้นกระบวนการนับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับในตอนเช้าแล้ว ก็ต้องนับว่ามีบัตรที่เหลือทั้งหมดกี่ใบ และมีกี่ใบที่ถูกฉีกหรือเป็นบัตรเสียและต้องนำออกจากกองของบัตรดี

ผลลัพธ์จากการคำนวณดังกล่าวจะระบุว่า มีบัตรกี่ใบที่ควรจะอยู่ในหีบ ซึ่งควรจะตรงกับตัวเลขรายชื่อของคนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

Electoral agents of the National Independent Electoral Commission (CENI) alongside ballot boxes in the Democratic Republic of Congo, 2 December, 2011

Getty Images

เมื่อเปิดหีบแล้ว ภารกิจแรกที่ต้องทำคือนับจำนวนบัตรที่อยู่ข้างใน ซึ่งจะทำก่อนการนับคะแนนเสียงของผู้สมัครแต่ละคน

ถ้ามีความแตกต่างกัน แสดงว่ามีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด และหากมีจำนวนบัตรในหีบมากกว่าที่เจ้าหน้าประจำหน่วยมอบให้กับผู้ที่ลงคะแนน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีคนบางคนได้เติมบัตรลงไปในหีบ

และนั่นเป็นเหตุผลที่ดีพอที่จะประกาศว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ และจัดการเลือกตั้งใหม่


ผลคะแนนที่ไม่ตรงกัน

โทรศัพท์มือถือช่วยทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสขึ้นอย่างมาก

กลายเป็นข้อปฏิบัติมาตรฐานไปแล้วที่จะอนุญาตให้ตัวแทนพรรคการเมือง ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง และบางครั้งแม้กระทั่งผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง มาร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนและใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพผลลัพธ์

พวกเขาจึงมีหลักฐานของผลการเลือกตั้งที่แท้จริงจากพื้นที่นั้น ๆ เผื่อว่าผลลัพธ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศต่อมาจะไม่ตรงกัน

ค่อนข้างชัดเจนว่านักการเมืองที่ขี้โกงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะรู้ว่าปัจจุบันนี้ประชาชนย่อมรู้ว่ามีการแก้ไขคะแนน

A man uses his phone to record the total votes cast in a polling station in Cotonou, Benin, 20 March 2016

Getty Images
โทรศัพท์มือถือทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสมากขึ้น

ที่โตโก ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ตัวแทนพรรคการเมืองท้องถิ่นบอกกับเอลิซาเบธ บลันท์ ว่า พวกเขาสังเกตการณ์การนับคะแนนในปี 2548 ที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งออกเดินทางไปยังเมืองหลวง โดยนำผลคะแนนที่ผ่านการรับรองแล้วติดตัวไปด้วย ทว่าผลลัพธ์ที่ถูกประกาศทางวิทยุในภายหลัง เป็นตัวเลขที่ไม่ตรงกัน

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันยังเกิดขึ้นในจังหวัดคาทังกาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเมื่อปี 2554 ที่ผลการเลือกตั้งที่ประกาศในวิทยุไม่เหมือนกับผลลัพธ์ที่ผู้สังเกตการณ์นานาชาติเห็นว่ามีการติดประกาศที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง

แต่ความโปร่งใสแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการนั้น ได้รวมเอาตัวเลขจากศูนย์นับคะแนนแต่ละแห่งเข้าไว้ด้วยหรือไม่ และนี่เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งในกาบองเมื่อปี 2559


การประกาศผลที่ล่าช้า

ในที่สุดก็มาถึงเหตุผลที่อาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นสัญญาณของการเลือกตั้งที่โกง แต่ส่วนมากแล้วจะถูกเชื่อมโยงให้เป็นแบบนั้น

คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ดูจะใช้เวลานานผิดปกติในการประกาศผลอย่างเป็นทางการ

ที่ทำให้แย่ไปกว่านั้นคือเครือข่ายผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งท้องถิ่นและพรรคการเมืองที่รวบรวมผลลัพธ์ที่ถูกส่งเข้ามาในมือถือ ทำให้พวกเขารู้ผลลัพธ์คร่าว ๆ ก่อนที่กระบวนการอย่างเป็นทางการจะเสร็จสิ้น

แต่นั่นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะในประเทศที่มีระบบการสื่อสารที่ไม่ดี และในบางประเทศอย่างมาลาวี ในการเลือกตั้งปี 2557 เจ้าหน้าที่เสียเวลาไปกับความพยายามใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ จนทำให้การประกาศผลยิ่งช้าลงไปอีก

Malawi Electoral Commission workers recount votes during the national elections, 24 May 2014

Getty Images
การเข้าถึงเทคโนโลยีและระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ได้มากเท่าที่คาดหวังไว้

ในกรณีของมาลาวีนั้น การนำส่งผลเลือกตั้งต้องใช้วิธีดั้งเดิมคือ บรรจุไว้ในซองจดหมายและขนส่งไปยังเมืองหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยคุ้มกัน แต่ถึงตอนนั้นก็เริ่มมีการกล่าวหาว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่โปร่งใสแล้ว

ความล่าช้านั้นถือว่าเป็นอันตรายอย่างแน่นอน และยังช่วยโหมกระพือข่าวลือในเรื่องการตกแต่งผลลัพธ์ก่อนที่จะมีการประกาศออกไป ทั้งยังเพิ่มความตึงเครียด แต่นี่ไม่ใช่หลักฐานของการโกงการเลือกตั้งที่โต้แย้งไม่ได้

กราฟิค

BBC

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว